
มูลค่าการส่งออกสินค้าไทยเดือน ก.พ. 2568 เร่งตัวสูงถึง 14% เทียบช่วงเดียวกันปีก่อน (YOY) อยู่ที่ 26,707.1 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ต่อเนื่องจาก 13.6% ในเดือนก่อนนั้น
ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ SCB EIC มองว่า การส่งออกทองคำและประเด็นพิเศษทองคำ ยังคงเป็นปัจจัยหนุนการส่งออกที่สำคัญในเดือน ก.พ. 2568 โดยการส่งออกสินค้ากลุ่มโลหะมีค่าและของที่หุ้มด้วยโลหะมีค่าอื่น ๆ ขยายตัวมากถึง 4,160% ต่อเนื่องจาก 3,418% ซึ่ง SCB EIC ประเมินว่า เกือบทั้งหมดเป็นการส่งออกทองคำในรูปของทองคำผสมแพลทินัมในสัดส่วนน้อยไปยังตลาดอินเดียเพื่อประโยชน์ทางภาษีของผู้นำเข้าอินเดีย ซึ่งเริ่มเกิดขึ้นในเดือน พ.ย. และชัดเจนขึ้นในเดือน ธ.ค. ปี 2567 ที่ขยายตัวมากถึง 524,302%
ทั้งนี้ กลุ่มโลหะมีค่าและของที่หุ้มด้วยโลหะมีค่าอื่น ๆ เป็นรายการที่อยู่ในหมวดของอัญมณี จึงเป็นปัจจัยหลักทำให้การส่งออกอัญมณีเดือนก.พ. เพิ่มขึ้น 5.1% สูงที่สุดเมื่อเทียบการส่งออกสินค้าหมวดอื่นๆ
นอกจากนี้ การส่งออกทองคำยังไม่ขึ้นรูปยังขยายตัวสูงมากถึง 26.1% ต่อเนื่องจาก 148.9% ในเดือนก่อน โดยเฉพาะตลาดสวิตเซอร์แลนด์ (339.5%) ตลาดสิงคโปร์ (277.1%)

สรุปข่าว
SCB EIC ประเมินว่า มูลค่าการส่งออกเดือน มี.ค. จะยังขยายตัวได้ดี จากอานิสงส์วัฏจักรสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ขาขึ้น การส่งออกทองคำ รวมถึงทองคำในรูปแบบโลหะอื่นไปยังอินเดีย และปัจจัยฐานต่ำเดือน มี.ค. 2567 หดตัวสูง -10.5% จะสนับสนุนการส่งออกในเดือน มี.ค. ปีนี้ได้
อย่างไรก็ตาม ทิศทางการส่งออกไทยมีแนวโน้มชะลอลงมากในไตรมาส 2 และจะหดตัวในช่วงครึ่งปีหลัง ผลจากการใช้นโยบายกีดกันการค้า ส่งผลให้ SCB EIC ประเมินมูลค่าส่งออกไทยปี 2568 อยู่ที่ 1.6% ต่ำลงจากเดิม 2% และต่ำกว่าเป้าหมายของกระทรวงพาณิชย์และรัฐบาลที่ราว 3-3.5%
ด้านศูนย์วิจัยเศรษฐกิจ Krungrthai COMPASS เห็นตรงกันว่าแม้การส่งออกเดือน ก.พ. ขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 8 ส่วนหนึ่งยังคงเป็นผลจากปัจจัยชั่วคราว เพื่อเลี่ยงผลกระทบจากการปรับขึ้นภาษีของสหรัฐฯ การส่งออกของไทยขยายตัวส่วนหนึ่งจากแรงหนุนของการส่งออกสินค้ากลุ่มอิเล็กทรอนิกส์ที่เติบโต และปัจจัยชั่วคราวตามการเร่งซื้อจากต่างประเทศ ดังนั้น การส่งออกที่เร่งตัวขณะนี้อาจเป็นปัจจัยชั่วคราว แต่ในระยะข้างหน้ามีความเสี่ยงที่จะแผ่วลง
ขณะที่ ศูนย์วิจัยกสิกรไทยยังคงประมาณการภาพรวมส่งออกไทยในปี 2568 ขยายตัว 2.5% ชะลอลงจากปีก่อนหน้า โดยคาดว่าการส่งออกไทยในช่วงไตรมาสแรก ของปี 2568 จะขยายตัวได้เกิน 10% จากการเร่งนำเข้าสินค้าของตลาดต่างๆ ก่อนสหรัฐฯ จะประกาศภาษีศุลกากรแบบตอบโต้ (reciprocal tariff) ในวันที่ 2 เม.ย. นี้ ซึ่งไทยมีโอกาสที่จะถูกปรับขึ้นภาษีในครั้งนี้ค่อนข้างสูง
อย่างไรก็ดี การส่งออกไทยในระยะข้างหน้า โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงครึ่งปีหลังมีแนวโน้มชะลอลงอย่างมีนัยสำคัญจากผลกระทบของสงครามการค้าที่รุนแรงขึ้น

ชาคร หนูคงใหม่