กรุงไทยฯ คาดการณ์ตลาดบรรจุภัณฑ์กระดาษไทยปี 68-69 โตต่อเนื่อง การค้า บริโภคในประเทศฟื้นตัว

ศูนย์วิจัย Krungthai COMPASS จัดทำรายงานบทวิเคราะห์ภาพรวมอุตสาหกรรมบรรจุภัณฑ์กระดาษไทยในปี 2568-69 โดยคาดว่ามูลค่าตลาดคาดว่าจะขยายตัวที่ 3.9% YoY และ 4.7 % YoY ตามลำดับ โดยได้รับแรงหนุนจากการเติบโตของความต้องการบรรจุภัณฑ์กระดาษที่ถูกใช้ในอุตสาหกรรมอาหาร และเครื่องดื่มที่เพิ่มขึ้นตามการฟื้นตัวของภาคการค้า และการบริโภคภายในประเทศ รวมถึงการเติบโตของตลาด E Commerce สอดรับกับพฤติกรรมการสั่งซื้อสินค้า และอาหารทางออนไลน์ของผู้บริโภคชาวไทยที่ได้รับความนิยมมากขึ้น นอกจากนี้ การเติบโตของภาคการส่งออกของไทย จะมีส่วนช่วยกระตุ้นความต้องการใช้บรรจุภัณฑ์กระดาษเพื่อการบรรจุและขนส่งสินค้าเพื่อการส่งออก อาทิ กล่องพัสดุ กล่องลูกฟูก

กรุงไทยฯ คาดการณ์ตลาดบรรจุภัณฑ์กระดาษไทยปี 68-69 โตต่อเนื่อง การค้า บริโภคในประเทศฟื้นตัว

สรุปข่าว

กรุงไทยฯ คาดการณ์ตลาดบรรจุภัณฑ์กระดาษไทยปี 68-69 โตต่อเนื่อง ตามการฟื้นตัวของภาคการค้า และการบริโภคภายในประเทศ รวมถึงการเติบโตของตลาด E Commerce แต่มาร์จิ้นถูกกดดันจากต้นทุนการผลิต ESG ที่มีความเข้มข้นขึ้น อาจเป็นได้ทั้งโอกาส และความท้าทาย

ในขณะที่มูลค่าส่งออกบรรจุภัณฑ์กระดาษ คาดว่าจะขยายตัวที่ 2.2% YoY และ 1.2% YoY ตามลำดับ โดยได้รับอานิสงส์จากการส่งออกไปยังประเทศคู่ค้าหลักที่ปรับตัวดีขึ้น โดยเฉพาะการส่งออกไปยังภูมิภาคอาเซียนที่มีสัดส่วนตลาดกว่า 65% ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ และการบริโภคของประเทศคู่ค้าที่ปรับตัวดีขึ้น รวมถึงการเติบโตของตลาด E Commerce จะเป็นแรงขับเคลื่อนสาคัญที่ช่วยสนับสนุนความต้องการซื้อ และนำเข้าบรรจุภัณฑ์กระดาษที่เกี่ยวข้องกับการอุปโภคบริโภค และการขนส่งสินค้าปรับตัวสูงขึ้น อาทิ กล่องกระดาษใส่อาหาร กล่องกระดาษเพื่อการขายปลีกและขนส่ง สอดคล้องกับความต้องการใช้บรรจุภัณฑ์ในตลาดโลก

โดยที่ต้นทุนส่วนใหญ่ของธุรกิจผลิตบรรจุภัณฑ์กระดาษราว 70% ของต้นทุนทั้งหมด เป็นต้นทุนวัตถุดิบ ได้แก่ กระดาษชนิดต่าง ๆ อาทิ กระดาษแข็ง กระดาษคราฟท์ อีก 4% เป็นต้นทุนค่าแรงงาน และส่วนที่เหลือ 26% เป็นค่าใช้จ่ายอื่นๆ อาทิ ค่าพลังงาน ค่าบำรุงรักษาเครื่องจักร

ในระยะข้างหน้า อัตราการทำกำไรของธุรกิจมีแนวโน้มถูกกดดันจากต้นทุนการผลิต อาทิ ราคากระดาษคราฟท์ในตลาดโลกคาดว่าจะทยอยปรับตัวเพิ่มขึ้นจาก 6,090 หยวนต่อตันในเดือน ม.ค.2568 ไปแตะที่ 6,388 หยวนต่อตัน ในอีก 12 เดือนข้างหน้า รวมถึงต้นทุนค่าไฟฟ้า และค่าน้ำมันเชื้อเพลิง ที่ยังสูงกว่าช่วงก่อนโควิด (ปี 2562) จะเป็นปัจจัยกดดันต่อความสามารถในการทำกำไรของผู้ประกอบการ

นอกจากนี้ ผู้ประกอบการของไทยอาจต้องเผชิญกับความเสี่ยงด้านการแข่งขันที่เข้มข้นขึ้นจากบรรจุภัณฑ์กระดาษของจีนที่เข้ามาตีทั้งตลาดในประเทศ และตลาดส่งออกเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง และยังต้องติดตามผลกระทบจากมาตรการกีดกันทางการค้าของสหรัฐฯ ในยุคทรัมป์ 2.0 หากจีนต้องเผชิญภาษีนาเข้าจากสหรัฐฯ ในอัตราสูง อาจผลักดันให้ผู้ผลิตบรรจุภัณฑ์กระดาษในจีนหันไปหาตลาดส่งออกอื่นทดแทน โดยเฉพาะในภูมิภาคอาเซียน รวมถึงไทยมากขึ้น ซึ่งนับเป็นปัจจัยที่กดดันความสามารถในการแข่งขันของผู้ประกอบการไทย สะท้อนจากมูลค่านาเข้าบรรจุภัณฑ์กระดาษของไทยจากจีนเติบโตเฉลี่ยปีละ 20.8% CAGR (ปี 2562-2567) ซึ่งสูงกว่ามูลค่านาเข้าบรรจุภัณฑ์กระดาษของไทยที่นาเข้าจากทั่วโลกที่เติบโตเฉลี่ยปีละ 15.2% ในช่วงเวลาเดียวกัน

เมื่อพิจารณาศักยภาพในการแข่งขัน พบว่า ไทยมีความเสียเปรียบโดยเปรียบเทียบในการส่งออกบรรจุภัณฑ์กระดาษในตลาดโลก สะท้อนจากค่า RCA เฉลี่ยของไทยในช่วงปี 2562-2566 ที่มีค่าเพียง 0.73 และมีส่วนแบ่งตลาดทรงตัวอยู่ที่ราว 0.9% ในช่วงปี 2558-2566 โดยไทยส่งออกบรรจุภัณฑ์กระดาษเป็นอันดับที่ 19 ของโลก ในขณะที่ประเทศเพื่อนบ้านอย่างเวียดนาม รวมถึงผู้ผลิตบรรจุภัณฑ์กระดาษรายใหญ่อย่างจีน มีส่วนแบ่งในตลาดโลกเพิ่มขึ้น และมีอัตราการเติบโตเฉลี่ยของมูลค่าส่งออกบรรจุภัณฑ์กระดาษในช่วงปี 2562-2566 ที่ 8.8% CAGR และ 6.30% CAGR ตามลำดับ ซึ่งสูงกว่าอัตราการเติบโตเฉลี่ยรวมทั้งโลกที่มีค่าอยู่ที่ 5.11% CAGR ขณะที่ไทยมีอัตราการเติบโตเฉลี่ยเพียงปีละ 3.5% CAGR ยังต่ากว่าอัตราการเติบโตเฉลี่ยในภาพรวม

อุตสาหกรรมบรรจุภัณฑ์กระดาษ เป็นอีกหนึ่งอุตสาหกรรมที่ก่อให้เกิดภาวะโลกร้อน ตั้งแต่กระบวนการผลิตซึ่งต้องใช้ต้นไม้มากถึง 17 ตัน และปล่อยคลอรีนจากกระบวนการฟอกกระดาษกว่า 7 กิโลกรัม เพื่อผลิตกระดาษ 1 ตัน ตลอดจนการกำจัดทิ้งหลังจากไม่ใช้งานแล้ว ทั้งนี้ ข้อมูลจาก Statista และ Environment Canada ระบุว่า ปัจจุบันทั่วโลกมีการผลิตบรรจุภัณฑ์กระดาษกว่า 258 ล้านเมตริกตันต่อปี และมีเพียง 25% เท่านั้นที่ถูกนาไปรีไซเคิล ส่วนที่เหลืออีกกว่า 193 ล้านเมตริกตันต้องถูกฝังกลบหรือเผาทำลาย

ในระยะข้างหน้า ผู้ประกอบการในธุรกิจบรรจุภัณฑ์กระดาษอาจต้องเผชิญความท้าทายสำคัญจากมาตรการด้านสิ่งแวดล้อมที่มีความเข้มงวดมากขึ้นในหลายภูมิภาค อาทิ มาตรการ EUDR ข้อบังคับ PPWR ของสหภาพยุโรป ในขณะเดียวกันจากกระแสรักษ์โลกที่ทั่วโลกต่างให้ความสำคัญ ส่งผลให้หลายอุตสาหกรรมมีแนวโน้มเปลี่ยนไปใช้บรรจุภัณฑ์กระดาษทดแทนบรรจุภัณฑ์พลาสติกมากขึ้น ดังนั้น ผู้ประกอบการฯ ควรพิจารณานาแนวคิดด้าน ESG มาผนวกรวมกับกลยุทธ์ในการดำเนินธุรกิจ

เพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้สอดคล้องกับนโยบายการค้าในตลาดโลก และช่วยลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมในระยะยาว อาทิ บรรจุภัณฑ์กระดาษเพื่อความยั่งยืน (Sustainable Paper Packaging) ซึ่งผลิตจากกระดาษที่ได้จากการรีไซเคิล การใช้ซ้ำ และลดการใช้ทรัพยากรใหม่ (3R) ทั้งนี้ ข้อมูลของ Climate Care Platform ชี้ว่า การรีไซเคิลกระดาษ 1 ตัน จะช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกถึง 4.3 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า

จากกระแสรักษ์โลกที่ทุกภาคส่วนต่างให้ความสำคัญ ทั้งในมุมของผู้บริโภครายย่อย และภาคธุรกิจ ทำให้มีการเลือกใช้ผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น ส่งผลให้บรรจุภัณฑ์ยั่งยืน (Sustainable Packaging) ภายใต้แนวคิด 3R ได้แก่ Reduce Reuseและ Recycle ได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ทั้งนี้ คาดว่ามูลค่าตลาด Sustainable Paper Packaging ของกลุ่มประเทศ APAC จะสามารถขึ้นไปแตะที่ระดับ 44,200 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ได้ในปี 2572 คิดเป็นอัตราเติบโตเฉลี่ยปีละ 8.0% CAGR ปี 2567-2572

ที่มาข้อมูล : ศูนย์วิจัย Krungthai COMPASS

ที่มารูปภาพ : TNN

avatar

มงคล เกษตรเวทิน