
นายยรรยง ไทยเจริญ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร สายงานวิจัยเศรษฐกิจและความยั่งยืน ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB EIC) กล่าวถึงแนวทางที่ได้มีการเสนอให้ตั้งหน่วยงานเฉพาะเพื่อรับซื้อหนี้เสียจากสถาบันการเงินว่า ขณะนี้อาจจะยังไม่สามารถให้ความเห็นได้ เนื่องจากยังไม่รู้แนวทางและหลักการของมาตรการดังกล่าว
แต่อย่างไรก็ดี การที่จะแก้หนี้ได้ยั่งยืนจะต้องเพิ่มรายได้ของประชาชนด้วย และภาคธนาคารพยายามประคับประคองลูกหนี้ผ่านโครงการ “คุณสู้ เราช่วย” โดยปรับโครงสร้างหนี้ให้เหมาะสมกับความสามารถของลูกค้า
และกรอบสำคัญของแนวทางการรับซื้อหนี้นั้นจะต้องมองใน 2 ประเด็นสำคัญ คือ 1.ที่มาของแหล่งเงินทุน เพราะจะเป็นภาระทางการคลัง และ 2.เรื่อง Moral Hazard หรือวินัยทางการเงิน โดยจะต้องชั่งน้ำหนักระหว่างประเด็นดังกล่าวอย่างเหมาะสม

สรุปข่าว
สำหรับแนวโน้มเศรษฐกิจในปี 2568 คาดการณ์อัตราการเติบโตของจีดีพีที่คาดการณ์ในระดับร้อยละ 2.4 นับเป็นอัตราที่ชะลอลงจากระดับร้อยละ 2.5 ในปีก่อน จาก 2 ปัจจัยหลักๆ ได้แก่ นโยบายของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ และประเด็นแผลเป็นทางเศรษฐกิจที่ส่งผลต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยนับจากโควิด-19 เป็นต้นมา
ส่วนปัจจัยบวกของเศรษฐกิจไทยยังคงเป็นภาคการท่องเที่ยวที่ขยายตัวได้อยู่ แต่ต้องติดตามในเรื่องของเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว โดย EIC ปรับลดประมาณการนักท่องเที่ยวเข้าไทยลดลงมาที่ 38.2 ล้านคน จากเดิมที่ 38.8 ล้านคน และอีกปัจจัยคือ การใช้จ่ายภาครัฐที่ยังเป็นบวกแต่จะกระทบต่อหนี้สาธารณะซึ่งจะทำให้เกิดข้อจำกัดในการใช้จ่ายของภาครัฐในระยะต่อไป
ดังนั้น ในระยะต่อไปการใช้จ่ายภาครัฐนอกจากจะเน้นที่การกระตุ้นเศรษฐกิจแล้วยังต้องให้ความสำคัญกับการเพิ่มศักยภาพการหารายได้ของประชาการควบคู่ไปด้วย
นอกจากนี้ EIC คาดการณ์ว่า คณะกรรมการนโยบายการเงินหรือ กนง.จะมีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายอีก 2 ครั้งในปีนี้ เหลือร้อยละ 1.5 จากปัจจุบันที่ร้อยละ 2.25 โดยคาดการณ์ลด 1 ครั้งในเดือนมิถุนายน และครึ่งปีหลังอีก 1 ครั้ง