เงินบาทเช้านี้เปิดตลาด “อ่อนค่าลงเล็กน้อย” ที่ระดับ 34.01 บาท/ดอลลาร์

นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ ที่ระดับ  34.01 บาทต่อดอลลาร์ “อ่อนค่าลง เล็กน้อย” จากระดับปิดวันที่ผ่านมา ณ ระดับ  33.95 บาทต่อดอลลาร์ มองกรอบเงินบาทในช่วง 24 ชั่วโมง คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 33.90-34.10 บาท/ดอลลาร์

โดยนับตั้งแต่ช่วงคืนวันที่ผ่านมา เงินบาท (USDTHB) ทยอยอ่อนค่าลงบ้าง ในลักษณะ Sideways Up (แกว่งตัวในกรอบ 33.93-34.03 บาทต่อดอลลาร์) กดดันโดยการทยอยแข็งค่าขึ้นของเงินดอลลาร์ ท่ามกลางความกังวลแนวโน้มการดำเนินนโยบายกีดกันทางการค้าของสหรัฐฯ หลังมีรายงานข่าวว่าประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์เตรียมจะประกาศขึ้นภาษีนำเข้ารถยนต์ 25% ในวันที่ 2 เมษายน นี้ 

นอกจากนี้ เงินดอลลาร์ยังพอได้แรงหนุนจากรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ส่วนใหญ่ที่ออกมาดีกว่าคาด อาทิ ยอดคำสั่งซื้อสินค้าคงทน (Durable Goods Orders) เดือนกุมภาพันธ์ ที่ขยายตัว +0.9% จากเดือนก่อนหน้า สวนทางกับคาดการณ์ของตลาดที่ประเมินว่าจะ หดตัวกว่า -1.1% ทั้งนี้ การอ่อนค่าของเงินบาทก็ถูกชะลอแถวโซนแนวต้าน 34.00 บาทต่อดอลลาร์ ท่ามกลางแรงขายเงินดอลลาร์จากผู้เล่นในตลาด อีกทั้งราคาทองคำ (XAUUSD) ก็สามารถทยอยรีบาวด์สูงขึ้นได้บ้าง จากความต้องการถือทองคำ หลังตลาดการเงินเผชิญความไม่แน่นอนของการดำเนินนโยบายกีดกันทางการค้า

เงินบาทเช้านี้เปิดตลาด “อ่อนค่าลงเล็กน้อย” ที่ระดับ 34.01 บาท/ดอลลาร์

สรุปข่าว

เงินบาทเช้านี้เปิดตลาด “อ่อนค่าลงเล็กน้อย” ที่ระดับ 34.01 บาท/ดอลลาร์ มองกรอบเงินบาทในช่วง 24 ชั่วโมง คาดอยู่ที่ระดับ 33.90-34.10 บาท/ดอลลาร์

สำหรับ แนวโน้มของค่าเงินบาท เราคงมุมมองเดิมว่า เงินบาทยังเสี่ยงทยอยอ่อนค่าลงแบบค่อยเป็นค่อยไป หรืออาจกล่าวได้ว่า เงินบาทอาจแกว่งตัวในลักษณะ Sideways Up โดยล่าสุด เงินดอลลาร์ได้ทยอยแข็งค่าขึ้น จากทั้งรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่ออกมาดีกว่าคาดเป็นส่วนใหญ่ และความกังวลแนวโน้มการดำเนินนโยบายกีดกันทางการค้าของสหรัฐฯ ซึ่งหากประเมินด้วยปัจจัยเชิงเทคนิคัลและกลยุทธ์ Trend-Following การแข็งค่าขึ้นของเงินดอลลาร์ที่ส่งผลให้ ดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY) ปรับตัวขึ้นทะลุโซน 104.4-104.5 จุด อย่างชัดเจน ได้สะท้อนว่า ดัชนี DXY อาจกลับเข้าสู่แนวโน้มขาขึ้นอีกครั้ง หรือ เงินดอลลาร์มีโอกาสทยอยแข็งค่าขึ้นต่อได้  

อย่างไรก็ดี แม้ว่า เงินบาทจะเผชิญแรงกดดันจากการแข็งค่าขึ้นของเงินดอลลาร์ ทว่า ปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อเงินบาท อย่าง ราคาทองคำ ก็อาจพอช่วยชะลอการอ่อนค่าของเงินบาทได้ หากราคาทองคำสามารถทยอยปรับตัวขึ้น ซึ่งเรามองว่า ความไม่แน่นอนของการดำเนินนโยบายการค้าของสหรัฐฯ อาจช่วยหนุนความต้องการถือทองคำในระยะสั้นได้ แต่ต้องติดตามประเด็นความเสี่ยงภูมิรัฐศาสตร์ (Geopolitical Risk) ทั้งสงครามรัสเซีย-ยูเครน และความขัดแย้งในตะวันออกกลาง อย่างใกล้ชิด เพราะว่า ความเสี่ยงภูมิรัฐศาสตร์ลดลง ก็อาจกดดันราคาทองคำได้พอสมควร โดยเฉพาะในจังหวะที่เงินดอลลาร์และบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ มีโอกาสปรับตัวสูงขึ้น 

และนอกเหนือจากปัจจัยข้างต้น เรามองว่า ในช่วงที่บรรยากาศในตลาดปิดรับความเสี่ยง เงินบาทก็อาจเผชิญแรงกดดันฝั่งอ่อนค่าเพิ่มเติม จากแรงขายสินทรัพย์ไทยของบรรดานักลงทุนต่างชาติได้ ทว่า ในระยะหลัง นักวิเคราะห์ต่างชาติเริ่มปรับมุมมองต่อหุ้นไทยดีขึ้นมาก เช่น ปรับมุมมองเป็น “Overweight” ทำให้เราคาดว่า แรงขายหุ้นไทยอาจไม่ได้สูงมากนัก เหมือนช่วงก่อนหน้า และนักลงทุนต่างชาติ อาจใช้จังหวะการปรับตัวลดลงของตลาดหุ้นไทยในการทยอยเข้าซื้อ หรือ Buy on Dip ได้ 

อนึ่ง เราขอเน้นย้ำว่า หากเงินบาทอ่อนค่าทะลุโซนแนวต้าน 34.00 บาทต่อดอลลาร์ ได้ชัดเจน จะสะท้อนว่า เงินบาทได้กลับเข้าสู่แนวโน้มอ่อนค่าลงอีกครั้ง หากประเมินด้วยกลยุทธ์ Trend-Following 

ท่ามกลางความผันผวนในตลาดการเงินที่ยังอยู่ในระดับสูง โดยเฉพาะในช่วงปีหน้าที่จะเผชิญกับ Trump’s Uncertainty ทำให้เรายังคงแนะนำว่า ผู้เล่นในตลาดควรใช้กลยุทธ์ในการปิดความเสี่ยงที่หลากหลายมากขึ้น ทั้งการใช้เครื่องมือเช่น Options หรือ สกุลเงินท้องถิ่น ซึ่งจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการปิดความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนได้

ที่มาข้อมูล : IQ

ที่มารูปภาพ : Getty Images

avatar

ศิริพร บุญเถื่อน