
นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ ที่ระดับ 33.82 บาทต่อดอลลาร์ “แข็งค่าขึ้น เล็กน้อย” จากระดับปิดวันที่ผ่านมา ณ ระดับ 33.91 บาทต่อดอลลาร์ มองกรอบเงินบาทในช่วง 24 ชั่วโมง คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 33.75-34.00 บาท/ดอลลาร์
เงินบาทพลิกกลับมาทยอยแข็งค่าขึ้น
นับตั้งแต่ช่วงคืนวันที่ผ่านมา เงินบาท (USDTHB) พลิกกลับมาทยอยแข็งค่าขึ้นในลักษณะ Sideways Down (แกว่งตัวในกรอบ 33.77-33.95 บาทต่อดอลลาร์) ตามการทยอยอ่อนค่าลงของเงินดอลลาร์ หลังบรรดาสกุลเงินหลักต่างทยอยแข็งค่าขึ้น อาทิ เงินยูโร (EUR) จากรายงานดัชนีความเชื่อมั่นภาคธุรกิจของเยอรมนี (IFO Business Climate) เดือนมีนาคมที่ปรับตัวขึ้นสู่ระดับ 86.7 จุด นอกจากนี้ เงินดอลลาร์ยังเผชิญแรงกดดันเพิ่มเติมจากรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่ออกมาผสมผสาน โดยเฉพาะดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคโดย Conference Board เดือนมีนาคม ที่ยังคงปรับตัวลดลงต่อเนื่องสู่ระดับ 92.9 จุด แย่กว่าคาด ท่ามกลางความกังวลผลกระทบต่อเศรษฐกิจสหรัฐฯ จากนโยบายกีดกันทางการค้าของรัฐบาล Trump 2.0 ซึ่งภาพดังกล่าวได้กดดันให้บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ปรับตัวลดลง หนุนให้เงินเยนญี่ปุ่น (JPY) รีบาวด์แข็งค่าขึ้น
ทั้งนี้ การอ่อนค่าของเงินดอลลาร์ก็ถูกชะลอลงบ้าง หลังผู้เล่นในตลาดต่างยังคงกังวลแนวโน้มการดำเนินนโยบายกีดกันทางการค้าของสหรัฐฯ กดดันให้ตลาดหุ้นยุโรปย่อตัวลงบ้าง สอดคล้องกับการอ่อนค่าลงของเงินยูโร ขณะเดียวกัน เงินบาทก็เผชิญแรงกดดันฝั่งอ่อนค่าบ้าง จากการปรับตัวลงของราคาทองคำ (XAUUSD) และแรงซื้อเงินดอลลาร์ของผู้เล่นในตลาดแถวโซนแนวรับ 33.80 บาทต่อดอลลาร์

สรุปข่าว
แนวโน้มของค่าเงินบาท
สำหรับ แนวโน้มของค่าเงินบาท แม้ว่า เงินบาท (USDTHB) จะมีจังหวะแข็งค่าขึ้นบ้างในช่วงคืนที่ผ่านมา แต่เราคงมุมมองเดิมว่า เงินบาทยังเสี่ยงทยอยอ่อนค่าลงแบบค่อยเป็นค่อยไป หรืออาจกล่าวได้ว่า เงินบาทอาจแกว่งตัวในลักษณะ Sideways Up หลังเงินดอลลาร์ยังพอได้แรงหนุนอยู่บ้าง ท่ามกลางความไม่แน่นอนของการดำเนินนโยบายกีดกันทางการค้าของสหรัฐฯ ขณะเดียวกันผู้เล่นในตลาดก็รอทยอยขายทำกำไรสถานะ Long EUR (มองเงินยูโรแข็งค่าขึ้น) หลังตลาดได้ทยอยรับรู้ปัจจัยสนับสนุนการแข็งค่าขึ้นของเงินยูโรไปพอสมควรแล้ว
ที่สำคัญ เรายังคงกังวลว่า ราคาทองคำยังเสี่ยงอยู่ในช่วงการพักฐาน เนื่องจากขาดปัจจัยสนับสนุนใหม่ๆ เพิ่มเติม โดยในส่วนของความเสี่ยงภูมิรัฐศาสตร์ อย่าง สงครามรัสเซีย-ยูเครน นั้น ก็ดูจะลดความร้อนแรงลงไปได้บ้าง หลังรัฐบาลสหรัฐฯ ระบุว่า ได้บรรลุข้อตกลงหยุดยิงในพื้นที่ทะเลดำ และข้อตกลงห้ามโจมตีโครงสร้างพื้นฐานพลังงานกับทั้งฝั่งรัสเซียและยูเครน
การแข็งค่าขึ้นอาจเป็นไปอย่างจำกัดและอาจชะลอลง
หากเงินบาทสามารถแข็งค่าขึ้นบ้าง การแข็งค่าขึ้นก็อาจเป็นไปอย่างจำกัดและอาจชะลอลงแถวโซนแนวรับ 33.70-33.80 บาทต่อดอลลาร์ ท่ามกลางแรงซื้อเงินดอลลาร์จากผู้เล่นในตลาด โดยเฉพาะฝั่งผู้นำเข้า เนื่องจากเป็นช่วงปลายเดือน ขณะเดียวกัน การอ่อนค่าของเงินบาทก็อาจค่อยเป็นค่อยไป โดยยังมีโซนแนวต้านแถว 34.00 บาทต่อดอลลาร์ แต่หากเงินบาทอ่อนค่าทะลุโซนดังกล่าวได้ชัดเจน จะสะท้อนว่า เงินบาทได้กลับเข้าสู่แนวโน้มอ่อนค่าลงอีกครั้ง หากประเมินด้วยกลยุทธ์ Trend-Following
ท่ามกลางความผันผวนในตลาดการเงินที่ยังอยู่ในระดับสูง โดยเฉพาะในช่วงปีหน้าที่จะเผชิญกับ Trump’s Uncertainty ทำให้เรายังคงแนะนำว่า ผู้เล่นในตลาดควรใช้กลยุทธ์ในการปิดความเสี่ยงที่หลากหลายมากขึ้น ทั้งการใช้เครื่องมือเช่น Options หรือ สกุลเงินท้องถิ่น ซึ่งจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการปิดความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนได้
ที่มาข้อมูล : IQ
ที่มารูปภาพ : Getty Images

ศิริพร บุญเถื่อน