ข้าวไทยเสี่ยงหายไป เมื่อ “โลกเดือด” ไม่หยุด เกษตรกรรับผลกระทบหนักสุด

“ข้าว” ถือได้ว่า เป็นอาหารมื้อหลักที่บ้านคนไทยทุกคนต้องมี หรือ รับประทานกัน และยังเป็นสินค้าส่งออกอันดับต้น ๆ ของโลก หล่อเลี้ยงคนทั้งประเทศ และทั่วโลกให้พ้นจากความอดอยาก 


แต่ภาวะโลกรวน กำลังทำให้ “ข้าว” พันธุ์ไทยได้รับผลกระทบ เช่น รสชาติไม่เหมือนเดิม หรือ ข้าวไม่ออกรวง ส่งผลกระทบอย่างหนักต่อเกษตรกรไทย ผลิตข้าวได้น้อยลงกว่าเดิม หรือ ผลิตผลต้องเผชิญกับน้ำท่วม อันเป็นผลมาจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ หากไม่เร่งแก้ไข ไม่แน่ว่า ข้าวไทยบางส่วนอาจจะหายไปได้ในอนาคต


โลกร้อนกระทบเกษตรไทยหนัก

  

“ถ้าถามว่ามันมีผลกระทบตั้งแต่เมื่อไหร่ผลกระทบที่เห็นชัดเจน น่าจะเกิดขึ้นเมื่อประมาณ 7-8 ปีที่ก่อน” กนกพร ดิษฐกระจันทร์ ประธานกลุ่มวิสาหกิจชุมชน กลุ่มส่งเสริมเกษตรอินทรีย์ อ.อู่ทอง จ.สุพรรณบุรี กล่าวถึงผลกระทบจากโลกร้อนที่เธอได้รับ


กนกพร กล่าวว่า ฝนมาไม่ตรงตามฤดูกาล โดยตอนนี้ ฝนเริ่มมาเดือนสิงหาคม ซึ่งปกติจะต้องมาปลายเดือนกันยายน หรือต้นเดือนตุลาคม แต่เมื่อฤดูกาลมันเปลี่ยนไป เลยทำให้ระบบของของพืชปรับตัวไม่ได้ 

“นอกจากนี้ ความร้อนที่มากขึ้น ทำให้ผลผลิตน้อยลง สิ่งนี้คือผลกระทบที่เห็นได้แบบชัดเจนมาตลอด 6-7 ปี” เธอ กล่าว

 

รายงานแห่งชาติฉบับที่ 4 หรือ NC4 เผยว่า เกษตรกรไทยกว่า 12 ล้านคน หรือเกือบ 1 ใน 6 ได้รับผลกระทบจากโลกรวนมากที่สุด โดยคาดการณ์ว่า ปี 2554-2588 ภาคเกษตรกรรมจะเสียหายจากอากาศแปรปรวนได้มากถึง 17,912-83,826 ล้านบาทต่อปี 


โลกร้อนทำผลผลิตเกษตรลดฮวบ-เปลี่ยนวิถีชีวิตทำนา


รายงาน NC4 ยังได้อ้างอิงถึงข้อมูลปี 2563 ระบุว่า พื้นที่ของประเทศไทยเกือบครึ่งใช้ทำเกษตรกรรม คิดเป็น 46.54% และพื้นที่ทำเกษตรกรรมประมาณ 46.04% เป็นพื้นที่ทำนา


เมื่อสภาพอากาศแปรปรวน เช่น อุณหภูมิสูงขึ้น และปริมาณน้ำฝนผันผวน ชีวิตของเกษตรกรจึงเผชิญความยากลำบากมากขึ้นจากความเสี่ยงหลากหลายรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็น ข้าวนาปีเผชิญน้ำท่วมจากฝนตกนอกฤดูฝน ในขณะที่ข้าวนาปรังเผชิญความร้อนจากอุณหภูมิเมื่อถึงช่วงเก็บเกี่ยวผลผลิต


“ผลผลิตลดลง แล้วด้วยสภาพอากาศที่ร้อน ทำให้การทำนาเปลี่ยนไป เช่นหลัง 10:00 น. เราต้องเริ่มเข้าไปในบ้าน เพื่อพักร่ม เพราะว่าถ้าอยู่ต่อ อาจเสี่ยงเกิดเกิดฮีทสโตรกได้” ทยิดา จันทร์นุ่ม กรรมการนาเเปลงใหญ่เกษตรสมัยใหม่เดิมบาง กล่าว

 

“อากาศร้อนที่ร้อนขึ้น จากเดิมเคยได้ 80 ถังต่อไร่ พอเจอปัญหาภาวะโลกร้อน เลยได้แค่ 60 ถังต่อไร่ ปริมาณลดลงเยอะมาก” เธอ กล่าว

  

ขณะที่ สวณีย์ โพธิ์รัง ผู้จัดการนาเเปลงใหญ่เกษตรสมัยใหม่เดิมบาง กล่าวถึงผลกระทบจากโลกร้อนว่า ช่วงที่เธอต้องเจอภัยแล้ง ผลผลิตข้าวลดลงอย่างเห็นได้ชัด และยังเกิดการขาดแคลนน้ำ ไม่มีน้ำปลูกข้าว


“เรื่องของโรคและแมลงก็เยอะขึ้น แมลงต่างถิ่นอพยพมาอาศัยอยู่ในนาข้าวมากขึ้น ทำลายต้นข้าวเกษตรกร สร้างความเสียหายเป็นจำนวนมาก” เธอ กล่าว

  

สวณีย์ กล่าวด้วยว่า เมื่อก่อนหลังเธอเกี่ยวข้าวเสร็จแล้ว ต้องมีการเผาฟาง บวกกับต้องใช้สารเคมีเยอะ และปล่อยให้น้ำขังในนาข้าว เพราะคิดว่า ข้าวเป็นพืชที่ต้องมีน้ำตลอดเวลา เลยไม่รู้ว่า สิ่งนี้คือสาเหตุที่ทำให้เกิดสภาวะโลกร้อน


“เห็นได้ชัดเจนว่าพอโลกร้อนทุกอย่างก็จะรวนไปหมด เสี่ยงทำให้เราขาดทุน หรือ มีต้นทุนสูงขึ้น แต่ผลผลิตกลับตกต่ำลง” สวณีย์ กล่าว


สถานการณ์น่าเป็นห่วง


รศ.วิษณุ อรรถวานิช คณะเศรษฐศาสตร์ ม.เกษตรศาสตร์ กล่าวว่า สถานการณ์ของโลกร้อนตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันเป็นสิ่งที่น่ากังวลอย่างยิ่ง ทั้งในแง่ผลผลิตข้าวของประเทศ และการส่งออก


“ผลผลิตข้าวของประเทศไทยต่ำที่สุดในอาเซียน เราเป็นรองเมียนมา, กัมพูชา หลายประเทศที่เมื่อก่อนตามเรานะ ตอนนี้เราเป็นรองเวียดนาม ซึ่งตอนนี้ เขาแซงหน้าเราไปแล้ว” รศ.วิษณุ กล่าว

 

“คำถามว่า เกิดอะไรขึ้นตรงส่วนนี้ ทำไมเรายังไม่ไปไหนเกษตรกรไทยที่ปลูกข้าวก็ยังจนกันต่อ แล้วนโยบายหรือแผนที่ผ่านมาจากอดีตของปัจจุบัน มันดีจริงหรือเปล่า ถ้าดีจริง ผลผลิตต่อไร่ก็คงต้องเพิ่มหรือไม่ หรือเกษตรกรสถานะทางเศรษฐกิจต้องดีขึ้นหรือเปล่า”

 

“แต่สิ่งที่ผมเห็นตอนนี้คือ ปัจจุบันเรายังไม่ได้เห็นการปฏิรูปเรื่องนี้” เขา กล่าว

สรุปข่าว

ข้าวไทยเสี่ยงสูญหาย หาก “โลกเดือด” ไม่หยุด ?


เมื่อถามว่า ถ้าโลกยังร้อนไม่หยุด กังวลว่า ข้าวไทยบางพันธุ์จะสูญหายไปหรือไม่

 

“ไม่ต้องวันหนึ่ง เดี๋ยวนี้ก็มีข้าวไทยบางสายพันธุ์หายไปแล้ว เป็นข้าวดี ๆ ซึ่งเราหามาปลูก อย่างเช่น ปิ่นแก้ว เป็นข้าวสมัยก่อน มันเป็นข้าวลอย กินอร่อย แต่ว่ามันหายไปแล้วพักนึง” กนกพร กล่าว 


กนกพร เผยด้วยว่า พันธุ์ข้าวสมัยก่อน ทนโรค ทนร้อน และทนน้ำได้ดีกว่าข้าวที่เกิดการพัฒนาพันธุ์ในสมัยนี้ เพราะฉะนั้น พันธุ์ข้าวพันธุ์ผัก ณ ตอนนี้หายไปเยอะ ยกตัวอย่างเช่น ถั่วแปบสมัยก่อน เดี๋ยวนี้หายไปหมดแล้ว


ขณะที่ สวณีย์ กล่าวว่า ข้าวบางพันธุ์ที่เจอสภาวะภัยแล้งหรือว่าโลกร้อน ทำให้ผลผลิตอาจจะลดลงไปเลยถึง 30-50% เลย ได้ในข้าวบางพันธุ์


“แล้วข้าวบางพันธุ์ก็ไม่สามารถทนต่อเรื่องของสภาวะโลกร้อน หรือว่าโรคแมลงค่ะ เช่น พันธุ์ขาวตาแห้งขาวตาเจ๊ก ที่เป็นข้าวพันธุ์พื้นเมืองก็จะหายไปเลย”

 

“นอกจากนี้ ยังมีพันธุ์ชัยนาท 1 ก็ไม่สามารถปลูกได้ เพราะว่าเมื่อเจอกับปัญหาโลกร้อน จะได้ผลผลิตน้อย เกษตรกรเลยไม่นิยมปลูก เลยทำให้ข้าวพันธุ์ต่าง ๆ หายไปด้วย” สวณีย์ กล่าว 


ด้าน รศ.วิษณุ ได้แสดงความเห็นต่อเรื่องนี้ว่า ข้าวไทยจะหายไปหรือไม่ ขึ้นอยู่ว่า ปลูกไปแล้ว สามารถให้ผลผลิตที่ดีและคุ้มค่ากับการลงทุนหรือเปล่า


“ถ้าเกิดปลูกไปแล้วเกษตรกรขาดทุน สายพันธุ์นั้นก็ต้องตกไปอยู่แล้ว โดยธรรมชาติก็จะมีสายพันธุ์ใหม่ปลูกขึ้นมาแข่งขัน” รศ.วิษณุ กล่าว

 

“แต่ถ้ามองกันยาว ๆ ปลูกไปแล้ว ไม่มีการพัฒนาต่อจากสายพันธุ์เดิมที่ทำอยู่ ทำแล้วไม่ได้อะไร สุดท้าย สายพันธุ์ประเทศไทย ข้าวไทย ก็อาจจะไม่สามารถแข่งขันได้ในตลาดโลก เพราะฉะนั้น ถึงเวลานั้นข้าวไทยก็อาจจะหายไปในตลาดโลก หรือ อาจจะมีการปลูกแค่เฉพาะขายในประเทศไทยเท่านั้นก็เป็นไปได้เช่นกัน” เขา กล่าว

 

งบวิจัยข้าวน้อย ทำให้พัฒนาช้า


รศ.วิษณุ ได้กล่าวถึงประเด็นงบวิจัยและพัฒนาสายพันธุ์ข้าวว่า ไทยมีงบประมาณวิจัยน้อยมาก เข้าขั้นวิกฤต โดยมีงบประมาณต่อปีในการพัฒนาเรื่องของสายพันธุ์ข้าวอยู่ที่ประมาณ 100-300 ล้านบาท ขณะที่ ไทยส่งออกข้าว คิดเป็นมูลค่าประมาณ 100,000-200,000 ล้านบาท

 

“ประเด็นนี้ชี้ให้เห็นถึงความแตกต่างว่า งบประมาณวิจัยที่เรามีอยู่ในสายพันธุ์แทบจะน้อยนิดมาก เมื่อเทียบกับมูลค่าการส่งออกข้าว” เขา กล่าว 


รศ.วิษณุ เผยให้เห็นนโยบายด้านการเกษตรของไทย ส่วนใหญ่มักทุ่มไปกับการเยียวยาให้เปล่าแบบไม่มีเงื่อนไข เช่น ผ่านโครงการช่วยเหลือค่าเก็บเกี่ยวต่าง ๆ ซึ่งก่อให้เกิดผลกระทบเพียงระยะสั้นเท่านั้น

“แต่เงินลงทุนส่วนการพัฒนาวิจัยเรื่องของสายพันธุ์ข้าว เรื่องเทคโนโลยี เครื่องจักรกลการเกษตร ระบบต่าง ๆ ค่อนข้างน้อยมาก” รศ.วิษณุ กล่าว

 

รศ.วิษณุ เผยด้วยว่า นักปรับปรุงพันธุ์ข้าวของไทยขาดแคลนเข้าขั้นวิกฤต เพราะว่า งบประมาณวิจัยน้อย, โครงสร้างพื้นฐานระบบต่าง ๆ ที่เอื้อให้เกิดการวิจัยก็มีน้อย และสายงานไม่มีความก้าวหน้า ทำให้สุดท้ายแล้ว คนที่เป็นนักปรับปรุงพันธ์จะออกหมด ไม่มีใครอยู่ในระบบต่อ


“พูดง่าย ๆ เราเน้นแจกเงินเยียวยาให้เปล่า แต่เราไม่ได้เน้นลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน เมื่อเรามีบุคลากรที่น้อย โดยเฉพาะบุคลากรที่สำคัญในการพัฒนา ตรงนี้มันเลยทำให้พันธุ์ข้าว เราไม่ไปถึงไหนนั่นเอง” เขา กล่าว 

พัฒนาข้าวสู้โลกร้อน


แม้ว่าโลกจะร้อนขึ้นเรื่อย ๆ และดูท่าทีเหมือนจะหาทางหยุดยั้งได้ยาก เกษตรกรผู้ได้รับผลกระทบมากที่สุด จึงจำเป็นต้องปรับตัวเพื่อความอยู่รอดของพวกเขาเอง


“เราต้องมีการบริหารจัดการน้ำ แล้วใช้เทคโนโลยีเปียกสลับแห้งแกล้งข้าว หรือ ท่อแกล้งข้าวมาช่วย” สวณีย์ กล่าวถึงวิธีการรับมือโลกร้อน 


“หลังจากนั้น เราก็ได้เห็นแล้วว่า การใช้เทคโนโลยีมาช่วย ทำให้เกษตรกรผ่านพ้นวิกฤตไปได้ แล้วก็ลดการใช้น้ำ แบ่งการจัดสรรน้ำ ทำใหเเมื่อเราเริ่มที่จะเจอภัยแล้ง ก็ต้องปรับตัว” เธอ กล่าว 


สวณีย์ กล่าวว่า เมื่อปี 2560 กลุ่มเกษตรกรได้รับองค์ความรู้จากทางองค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศไทย-เยอรมัน หรือ GIZ 


“หลังจากนั้น ทำให้ได้ตระหนักว่า เราสามารถใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วยในเรื่องของการทำนา แบบลดโลกร้อนเรา ทำให้สามารถเตรียมตัรับมือก่อนได้ บวกกัใช้องค์ความรู้ 4 ป +  1 IPM มาจัดการแปลงนาอย่างเป็นระบบมากยิ่งขึ้นค่ะ” 


ด้านทยิดา กล่าวว่า พอเธอเข้ามาปรับตัวในกลุ่มนาแปลงใหญ่ ทำให้เธอได้ผลผลิตเพิ่มขึ้น ต้นทุนลดน้อยลง ผลผลิตเพิ่มขึ้นเป็น 9,800 กิโลกรัม บนพื้นที่ 10ไร่ เท่ากับได้เพิ่มอีกเกือบ 3 ตัน


“เราเจอภาวะโลกร้อนที่ส่งผลกระทบต่อเราโดยตรง มันเหมือนจุดเปลี่ยนที่เข้ามาทำให้เรารู้สึกว่า เราต้องปรับตัว ณ ปัจจุบัน เราต้องปรับตัวรับกับสภาพอากาศที่ร้อน” เธอ กล่าว 


โลกเดือด ไม่ได้กระทบแค่เกษตรกร


“ผมว่า กระทบกับทุกคน แต่ถ้าเริ่มจากจุดแรกเลย ก็คือเกษตรกรแน่นอน เพราะพวกเขาคือผู้ได้รับผลกระทบโดยตรง ปลูกข้าวแล้ว ข้าวไม่โตข้าว เสียหายจากโลกรวน โลกเดือด” รศ.วิษณุ กล่าว

  

รศ.วิษณุ กล่าวต่อไปว่า พอเกษตรเดือดร้อน คนที่ได้รับผลกระทบถัดมาก็จะเป็นผู้รับซื้อ โรงสี และผู้ส่งออกข้าว เพราะไม่มีข้าวให้ขาย ไม่มีข้าวให้ทำธุรกิจ ต่อจากนั้นก็จะกระทบต่อราคาข้าว ซึ่งอาจจะแพงขึ้น ท้ายสุดผลกระทบจะมาตกอยู่ที่ผู้บริโภค ที่ต้องทานข้าวแพงขึ้น เป็นต้น

 

“นอกจากนี้ ถ้าเรามองในมิติของความมั่นคงทางอาหาร เราไม่สามารถปลูกข้าวได้ เราต้องนำเข้าข้าวจากต่างประเทศ ถ้าเวลาเกิดสงคราม เกิดความไม่สงบขึ้น เราเองก็ขาดความมั่นคงทางอาหาร” เขา กล่าว 


นอกจากนี้ รายรับจากการส่งออกประเทศ ซึ่งเป็นสิ่งที่ช่วยเพิ่ม GDP ประเทศ ผ่านการส่งออกข้าว ถ้าวันหนึ่งไทยส่งออกข้าวไม่ได้ รายได้ตรงส่วนนี้ ก็จะหายไป


“พูดง่าย ๆ มันจะกระทบกับระบบอาหารทั้งหมด รวมถึงผู้ประกอบการต่าง ๆ ที่อยู่ในระบบอาหาร ไล่ตั้งแต่การผลิตต้นทางของเกษตรกร ไปจนถึงผู้บริโภคเลยครับ” รศ.วิษณุ กล่าว


ขณะที่ สวณีย์ กล่าวว่า เรื่องโลกร้อน เป็นเรื่องของทุกคนและทุกภาคส่วน ไม่ว่าจะเป็นหน่วยงานภาครัฐหรือเอกชนต่าง ๆ แล้วการทำนาช่วยลดโลกร้อน ก็ต้องเริ่มต้นที่ตัวเอง 


“กลุ่มนาแปลงใหญ่ ก็จะเป็นกระบอกเสียงส่วนหนึ่งชักชวนให้ชาวนามาทำนาแบบลดโลกร้อน แล้วก็คนที่จะช่วยเรื่องของลดโลกร้อนได้ คือผู้บริโภค สามารถอุดหนุนสินค้าคาร์บอนต่ำจากเกษตรกรที่ใส่ใจวิธีมีการทำน้ำแบบรักโลก”


“อยากจะฝากถึงทุกคนว่า ถ้าเราไม่มีการปรับตัว โลกร้อนมากขึ้น ทุกคนก็จะได้รับผลกระทบเหมือนกันหมด” 


บทความชิ้นนี้ผลิตโดยนักข่าวที่เข้าร่วมโครงการ UNDP Media Fellowship on Sustainable Development


เรื่อง: พรวษา ภักตร์ดวงจันทร์

แหล่งข้อมูลอ้างอิง: 


https://www.undp.org/stories/climate-impact-thailand-th

ที่มาข้อมูล : UNDP

ที่มารูปภาพ : Canva

avatar

พรวษาภักตร์ดวงจันทร์
()