นับตั้งแต่ “โดนัลด์ ทรัมป์” ก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งประธานาธิบดี ก็ส่งแรงกระเพื่อมทั่วโลกตั้งแต่วันแรก หลายประเทศเฝ้าจับตามองการเคลื่อนไหวทุกก้าวย่างของผู้นำสหรัฐฯ คนใหม่ โดยเฉพาะประเด็นความขัดแย้งรัสเซีย-ยูเครนที่กำลังก้าวเข้าสู่ปีที่ 4 เร็ว ๆ นี้
สหรัฐฯ ถือได้ว่า เป็นหนึ่งในพันธมิตรที่แข็งแกร่งกับยูเครนในการต่อต้านกองกำลังรัสเซีย แต่การมาของทรัมป์ อาจกำลังทำให้สถานการณ์ยูเครนเปลี่ยนไป เมื่อทรัมป์ยื่นข้อเสนอต้องการมีส่วนร่วมในการถือครองแร่ธาตุสำคัญที่มีอยู่ในยูเครนประมาณ 50% เพื่อแลกกับความช่วยเหลือทางทหาร แต่โวโลดิมีร์ เซเลนสกี ประธานาธิบดียูเครนได้ปฏิเสนอข้อเสนอนี้ของสหรัฐฯ
ทำไม “ทรัมป์” ถึงต้องการถือครองสิทธิ์แร่หายากกับยูเครน หรือว่านี่จะเป็นสัญญาณที่บ่งบอกว่า ต่อจากนี้สหรัฐฯ จะไม่ช่วยเหลือยูเครนแบบไม่ได้อะไรกลับคืนมาอีกต่อไป และแร่หายากเหล่านี้มีความสำคัญอย่างไรต่อทั้งสหรัฐฯ และยูเครน
“แร่ธาตุสำคัญ” ยูเครนคืออะไร ?
“แร่ธาตุสำคัญ” หรือ “Critical Minerals” เป็นแร่ธาตุที่มีความสำคัญต่อการผลิตชิ้นส่วนเทคโนโลยีขึ้นสูง ตั้งแต่เครื่องใช้ไฟฟ้า ไปจนถึง AI ตลอดจนเทคโนโลยีทางทหาร อย่าง อาวุธ เป็นต้น
เนื่องจากโลกต้องการเลิกใช้พลังงานฟอสซิล เพื่อรับมือกับการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ ความต้องการแร่ธาตุจึงเพิ่มมากขึ้นเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะกับแร่ธาตุสำคัญ อย่าง โคบอลต์, ทองแดง, ลิเธียม และนิกเกิล ซึ่งแร่ธาตุเหล่านี้ ล้วนมีบทบาทสำคัญต่อการเปลี่ยนผ่านไปสู่พลังงานสีเขียว
การเติบโตของเทคโนโลยีและเศษฐกิจที่พุ่งสูงขึ้น แร่ธาตุสำคัญจึงกลายเป็นสิ่งของล้ำค่า และหลายประเทศต่างก็แข่งขัน เพื่อช่วงชิงการถือครอง
องค์การพลังงานระหว่างประเทศ หรือ IEA ประเมินว่า ปี 2022 แร่ธาตุเหล่านี้ มีมูลค่าสูงถึง 3.2 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้น 2 เท่า เมื่อเทียบกับมูลค่าเมื่อ 5 ปีก่อน และถ้าหากหลายประเทศเดินหน้ามุ่งสู่พลังงานสะอาดอย่างเต็มกำลัง ความต้องการแร่ธาตุสำคัญจะเพิ่มขึ้นอีก 20 ภายในปี 2030 และกลายเป็น 3 เท่าในปี 2040
สรุปข่าว
ยูเครนมีแร่ธาตุสำคัญอะไรบ้าง ?
ฮันนา ลิเวนต์เซวา ประธานสมาคมนักธรณีวิทยาของยูเครน เผยเมื่อปี 2022 ว่า ยูเครนมีแหล่งแร่ธาตุ คิดเป็น 5% จากทั้งหมดทั่วโลก แม้ว่าจะเป็นประเทศเล็ก ๆ แต่ก็เป็นดินแดนที่อุดมไปด้วยหินและแร่ธาตุจำนวนมาก โดยยูเครนมีแร่ธาตุสำคัญมากถึง 22 ชนิด จากทั้งหมด 34 ชนิดที่เคยมีการระบุชื่อไว้ คิดเป็น 5% ของแร่ธาตุที่มีทั่วโลก
ก่อนที่รัสเซียตัดสินใจใช้ปฏิบัติการทางทหาร ยูเครนถือได้ว่าเป็นผู้จัดหาแร่ไทเทเนียมรายใหญ่ของโลก คิดเป็น 7% ของผลผลิตทั่วโลกในปี 2019 และเคยกล่าวอ้างว่า มีแร่ลิเธิยมสำรองมากถึง 5 แสนตัน รวมถึงมีจำนวนแร่กราไฟต์คิดเป็น 1 ใน 5 ของโลก ซึ่งเป็นแร่ธาตุสำคัญที่ใช้ในโรงไฟฟ้านิวเคลียร์
อย่างไรก็ตาม นับตั้งแต่รัสเซียเปิดใช้ปฏิบัติการทางทหารกับยูเครน ผู้เชี่ยวชาญก็ประเมินว่า แหล่งแร่ธาตุราว 40% ของยูเครน อยู่ภายใต้การควบคุมของรัสเซีย
ทำไม “ทรัมป์” ต้องการแร่จากยูเครน ?
การที่ทรัมป์ต้องการแร่จากยูเครนส่วนหนึ่ง อาจเป็นเพราะต้องการแข่งขันกับจีน เนื่องจากตอนนี้ จีนควบคุมกระบวนการแปรรูปแร่ธาตุเหล่านี้มากที่สุดของโลก ได้แก่ นิกเกิล 35%, ลิเธียมและโคบอลต์ 50-70% และแร่หายากอีกเกือบ 90% และในปี 2024 จีนยังมีปริมาณสำรองของแร่ธาตุหายากเกือบครึ่งหนึ่งของโลก จึงทำให้จีนกลายเป็นผู้เล่นเบอร์ต้น ๆ ของอุตสาหกรรมนี้
แร่ธาตุเหล่านี้ ยังเป็นหัวใจสำคัญของอุตสาหกรรมหลายประเภทที่จะขับเคลื่อนเศรษฐกิจโลกในอนาคต แน่นอนว่า สิ่งนี้ จึงทำให้มันเป็นสิ่งที่มีมูลค่ามหาศาล
และการที่ทรัมป์ประกาศสงครามกับจีน ด้วยการขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าจากประเทศจีน สิ่งนี้จึงทำให้เป็นเรื่องยากที่สหรัฐฯ ต้องการเข้าถึงแร่ธาตุเหล่านี้จากจีน หากสหรัฐฯ ไม่จัดหาแหล่งแร่ธาตุของตัวเอง ก็จะทำให้จีน หรือ ประเทศอื่นได้เป็นผู้นำเศรษฐกิจโลกแทน
ศึกช่วงชิงบัลลังก์ผู้นำแร่
ท่ามกลางการแข่งขันเศรษฐกิจที่เดือดระอุ โดยเฉพาะสหรัฐฯ กับจีน ต่างก็หมายมั่นปั้นมือต้องการก้าวขึ้นมาเป็นเบอร์ 1 ด้านเศรษฐกิจโลก ฉะนั้น การช่วงชิงเข้าสู่พื้นที่สำคัญและเป็นจุดยุทธศาสตร์ทางเศรษฐกิจได้ก่อน ย่อมทำให้ประเทศนั้นมักได้เปรียบ หรือ มีข้อต่อรองได้เสมอ
แร่ธาตุเหล่านี้ ถือได้ว่า เป็นชิ้นส่วนสำคัญอย่างมากต่อเศรษฐกิจในอนาคต ที่จะทำให้ประเทศมหาอำนาจอย่างสหรัฐฯ และจีนแข่งขันที่จะถือครองสิ่งนี้ ดินแดนของยูเครนที่เต็มไปด้วยแร่ธาตุอันมีมูลค่ามากมายมหาศาล จึงกลายเป็นพื้นที่สำคัญของโลกที่ต้องการต่อสู้เพื่อช่วงชิงทรัพยากรนี้
แปล-เรียบเรียง: พรวษา ภักตร์ดวงจันทร์
แหล่งข้อมูลอ้างอิง:
ที่มาข้อมูล : The Guardian, NBC News
ที่มารูปภาพ : Reuters, Freepik