งบประมาณ และการใช้เงินของบอร์ดประกันสังคม
เป็นที่ถกเถียงอีกครั้ง หลัง ส.ส.พรรคประชาชนออกมาเปิดเผยการใช้งบย้อนหลัง
จนทำเอาผู้ประกันตนที่จ่ายเงินประจำ โอดครวญว่าอยากเลิกจ่ายเงิน
เมื่อสวัสดิการที่ได้รับ สวนทางกับเงินที่จ่ายไป
ประกันสังคมก้าวหน้า ที่เปิดเผยงบกองทุนประกันสังคมอย่างละเอียด ย้อนหลังถึงปี 2563
พบว่าในปี 2567 สำนักงานประกันสังคม ได้รับงบจัดสรร 5,303 ล้านบาท
โดยมีงบเบิกจ่าย-ผูกพัน 4,180 ล้านบาท ทำให้คงเหลือ 1,122 ล้านบาท
และหากย้อนไปดูปี 2563 จะพบว่า งบประมาณของสำนักงานประกันสังคมเพิ่มขึ้นเกือบทุกปี จาก 4,420 ล้านบาทในปี 2563 เป็น 5,798 ล้านบาทในปี 2564 ก่อนลดลงเล็กน้อยในปี 2565 แล้วก็พุ่งขึ้นมาเป็น 6,938 ล้านบาทในปี 2566 ซึ่งในปีนั้น มีงบเบิกจ่าย-ผูกพัน 6,613 ล้านบาท ทำให้คงเหลือ 325 ล้านบาท
สรุปข่าว
สำหรับตัวอย่างการใช้งบประมาณของสำนักงานประกันสังคม ที่ สส.พรรคประชาชน เปิดเผย อาทิ
- 2.2 ล้านบาท เพื่อดูงานต่างประเทศ โดยมีการเบิกค่าบัตร First Class 2 คน และภายหลังมีการเปิดเผยตารางการดูงาน ว่ามีการดูงานจริงแค่ 2 วัน ส่วนอีก 3 วันเป็นวันว่าง
- 276 ล้านบาท สำหรับโครงการพัฒนาแอปพลิเคชัน SSO+
- 100 ล้านบาทต่อปี เป็นงบประมาณสายด่วน 1506 โดยคิดเป็นค่าเช่าสถานที่ 50 ล้านบาท
- 336 ล้านบาท โดยมีบวกลบต่อปี เป็นงบประชาสัมพันธ์
- 450 ล้านบาท งบจัดทำปฏิทินประกันสังคม 8 ปี ซึ่งล่าสุด สำนักข่าวอิศราได้ทำการตรวจสอบเพิ่มว่า 10 ปีที่ผ่านมา มีการใช้งบส่วนนี้ไป 579.59 ล้านบาท
ซึ่งเมื่องบถูกเปิดออกมาแบบนี้ ผู้ประกันตนหลายคนต่างก็มองว่าที่จ่ายเงินไป ไม่คุ้มกับสิทธิการรักษาที่ได้รับมา
TNN Online ได้คุยกับ รศ.ดร.ษัษฐรัมย์ ธรรมบุษดี บอร์ดประกันสังคม ฝ่ายผู้ประกันตน ซึ่งเขามองว่า ปัญหานั้นเกิดจากการไม่เปิดเผยข้อมูล และงบประมาณทั้งหมดให้ตรวจสอบได้ “เราขอให้มีการเปิดข้อทูลที่เปิดได้อย่างเป็นระบบ เป็น open data เลย ซึ่งตอนนี้ก็มี กทม.ที่ทำได้แล้ว ถ้าเรื่องไหนทำช้า ก็เปิดย้อนหลัง เพราะเงินตรงนี้ เป็นเงินที่ผู้ประกันตนจ่าย เป็นเงินที่สำคัญ และกระทบกับประชาชนหลายคนที่หาเช้ากินค่ำ และถ้าเขาไม่รู้สึกคุ้มค่า ก็จะเป็นการตั้งคำถามได้“
โดยที่ผ่านมา การเปิดเผยงบประมาณนั้น เป็นการเปิดแบบย้อนหลังของแต่ละปี ซึ่งษัษฐรัมย์มองว่า “ตอนนี้มีการเปิดแล้วก็จริง แต่เป็นการเปิดที่ ไม่มีรายละเอียด ไม่มีข้อมูลแน่ชัดว่าเป็นงาน หรือโครงการอะไร และที่สำคัญไม่มีกรรมาธิการในการตรวจสอบ” ซึ่งทำให้ไม่มีการทราบว่า เงินที่ใ้ช้ไปคุ้มค่ากับการจ่ายเหล่านั้นหรือไม่ ซึ่งเขาก็มองว่า ถ้าหากมีการประมูล หรือมีข้อมูลเกี่ยวกับตัวเลขของโครงการ ที่เปิดไม่ได้ ก็สามารถเปิดเฉพาะโครงการที่แล้วเสร็จ หรือส่งมอบไปแล้วก็ได้
หลังมีการเปิดเผยงบประมาณ มารศรี ใจรังษี เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม (สปส.) ก็ได้แถลงคำชี้แจง ซึ่งระบุว่า วงเงินงบประมาณค่าใช้จ่ายในการบริหารงานที่ สปส. ได้รับการจัดสรรในแต่ละปี เป็นไปตาม พ.ร.บ. ประกันสังคม พ.ศ. 2533 คือ ไม่เกิน 10% ของเงินสมทบประจำปี ซึ่งที่ผ่านมา สปส. ได้รับการจัดสรรค่าใช้จ่ายในการบริหารงานปีละไม่เกิน 3%
ซึ่งประเด็นนี้ อาจารย์ษัษฐรัมย์ก็บอกกับเราว่า “ไม่ได้มีปัญหากับการใช้งบประมาณประชาสังคมที่เยอะ หรือน้อย แต่มีปัญหากับการใช้งบที่ไม่มีประสิทธิภาพ ถ้ามีการเปิดข้อมูล เปิดงบประมาณ จะมีประชาชนมาช่วยตรวจสอบ จะมาช่วยดูได้ ว่างบประมาณตรงนี้ ได้ถูกใช้ไปอย่างมีประสิทธิภาพหรือไม่ นี่คือประเด็นสำคัญที่เราต้องการสื่อสาร”