วันที่ 1 ก.พ. 2568 ครบรอบ 4 ปีแล้ว กับการรัฐประหารในประเทศเพื่อนบ้านเรา อย่างเมียนมา ซึ่งนับแต่วันนั้น จนถึงวันนี้ ปัญหาไม่ใช่แค่เรื่องประชาธิปไตยที่หายไป แต่เรายังเห็นผลกระทบอื่นๆ ที่เปลี่ยนโฉมหน้าประเทศเมียนมาจนแทบไม่เห็นความสงบสุข
ไม่ว่าจะเป็นสงครามกลางเมือง ของกลุ่มชาติพันธุ์ กลุ่มกองกำลัง และรัฐบาลเผด็จการทหาร ไปถึงผู้ลี้ภัย คนพลัดถิ่น และชายแดนระหว่างไทยพม่า รวมทั้งปัญหาใหม่ ที่กลายเป็นปัญหาใหญ่อย่างเรื่องของ Scam city ดินแดนแห่งมิจฉาชีพ ที่หลอกผู้เสียหายไปมากมาย ซึ่งประเด็นเหล่านี้ ต่างก็สะท้อนว่าความวุ่นวายที่เกิดขึ้นหลังรัฐประหาร ไม่ใช่แค่เรื่องของเมียนมาอย่างเดียว แต่ประเทศไทยนั้นก็ได้รับผลกระทบไปเต็มๆ
SCAM Center ศูนย์รวมเงินสีเทา ที่มีการรัฐประหารกระตุ้น
แก๊งค์คอลเซ็นเตอร์ และการค้ามนุษย์ กลายเป็นปัญหาอาชญากรรมข้ามชาติ ที่ท้าทายไทยโดยเฉพาะในช่วงปีที่ผ่านมา โดย Scam Center เหล่านี้ กระจายไปในหลายแห่งรอบประเทศเพื่อนบ้านเรา แต่หนึ่งในนั้น คือในเมียนมา ซึ่งมีถึง Scam City เลยด้วย
หากไปดูต้นตอของเมืองเหล่านี้ อย่างเช่น ชเว ก๊กโก ดินแดนกาสิโนทุนเทาจีน จะพบว่าเป็นการลงทุนของบริษัท บริษัท Yatai International Holding Group (IHG) ซึ่งมีสำนักงานในฮ่องกง ซึ่งลงทุนเอนเตอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์ การพนัน และกาสิโน ซึ่งจริงๆ แล้วการลงทุนนี้ ถูกระงับไปในยุคของรัฐบาลออง ซาน ซูจี แต่สุดท้าย หลังการรัฐประหาร นายพลมิน อ่องลาย ได้อนุมัติโครงการนี้อีกครั้ง
ผศ. ดร.ลลิตา หาญวงษ์ อาจารย์ประจำคณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ผู้เชี่ยวชาญด้านเมียนมา ให้สัมภาษณ์กับ TNN Online ว่า Scam Center มีมาก่อนการรัฐประหาร แต่หลังรัฐประหาร เมื่อมีสงครามกลางเมือง ชนกลุ่มน้อยก็ต้องการปัจจัยนการดำรงชีพ ไปถึงการหาเงินมาสู้รบ ซื้ออุปกรณ์ต่างๆ ซึ่ง “รายได้ที่ได้เร็วที่สุด และมีประสิทธิภาพสูงสุดก็คือ การปล่อยที่ดินให้กับจีนเทามาเช่า”
“มันเป็นปัญหาที่ไม่ได้มีที่มาจากสงคราม หรือรัฐประหารโดยตรง แต่รัฐประหารคือการเพิ่มเชื้อไฟทำให้ธุรกิจเหล่านี้เติบโตได้ดียิ่งขึ้น สภาพที่มันไม่มีเสถียรภาพ หรือสภาวะสุญญากาศ สร้างเงื่อนไขที่ทำให้ธุรกิจสีเทาๆ โดยเฉพาะอาชญากรรมข้ามแดนเติบโตได้มากขึ้น เพราะว่าถ้าสมมติว่า Scam Center มาอยู่ในประเทศไทย ตำรวจไทยมีเหตุผลในการปราบปราม แต่พอมันอยู่ในฝั่งของประเทศเพื่อนบ้าน แต่ใช้ประเทศไทยเป็นช่องทางในการเข้าถึงพื้นที่ตรงนั้น มันก็เป็นความท้าทายใหม่”
ผศ. ดร.ลลิตา หาญวงษ์
โดยจากรายงานของ United States Institute of Peace เรื่องอาชญากรรมข้ามชาติในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ พบว่าในปี 2023 สแกมเมอร์ หรืออาชญากรเหล่านี้สามารถหลอกเงินจากผู้คนทั่วโลกไปได้ประมาณ 64,000 ล้านดอลลาร์ หรือ 2.24 ล้านล้านบาท แต่ในทั้งหมดนี้ มากกว่าครึ่ง มาอยู่ที่ 3 ประเทศในอาเซียน คือ กัมพูชา ลาว และเมียนมา มากถึง 1.533 ล้านล้านบาท
คาดการณ์ว่าใน 3 ประเทศนี้ เมียนมาก็เป็นประเทศที่ทำรายได้จากการแสกมไปมากที่สุด
อาจารย์ลลิตายังคงมองว่า ปัญหานี้ทวีความเข้มข้นในไม่กี่ปีที่ผ่านมา ดังนั้นหน่วยงานความมั่นคงไทยต้องจัดการกับภัยคุกคามใหม่นี้
สรุปข่าว
ผู้ลี้ภัย-ชายแดน-แรงงานเข้าเมือง
ชายแดนไทยและพม่ากลายเป็นเส้นทางให้คนเข้ามาประเทศอย่างผิดกฎหมาย แคมป์ผู้ลี้ภัยก็ต้องรองรับผู้อพยพที่เข้ามา ตัวเลขชาวเมียนมาในไทย อาจมีมากกว่าที่มีการบันทึกหลายเท่า นี่ต่างเป็นปัญหาที่กระทบไทยมากขึ้นเรื่อยๆ และที่ผ่านมารัฐไทยเองก็ยังไม่มีมาตรการจัดการกับผู้ลี้ภัยที่ชัดเจนด้วย
รายงานของเครือข่ายปฏิรูปการโยกย้ายถิ่นฐานแห่งประเทศไทยพบว่า หลังการรัฐประหาร และความรุนแรงในเมียนมา มีผู้พลัดถิ่นภายในประเทศ (Internal Displaced People: IDPs) มากกว่า 2.5 ล้านคน โดยจำนวน 5 แสนคนอาศัยอยู่ใกล้พื้นที่ชายแดนไทยและทำให้มีผู้อพยพหนีภัยความไม่สงบจากเมียนเข้ามาในประเทศไทยเป็นจำนวนมาก
ขณะที่ตั้งแต่กลางทศวรรษ 1980 ไทยได้ให้ผู้พักพิงกับผู้พลัดถิ่นในค่ายผู้ลี้ภัย 9 แห่งที่บริเวณชายแดน โดยจากข้อมูลของ UNHCR (พฤศจิกายน 2024) พบว่าปัจจุบันมีผู้ลี้ภัยในค่ายเหล่านี้ 86,539 คน
ถึงอย่างนั้น อ.ลลิตาได้บอกว่า “ตามกฎหมายไม่อนุญาติให้มีมีประชากรในค่ายผู้ลี้ภัยเพิ่มขึ้น แต่ด้วยการไหลเข้ามา จากการหนีสงคราม มาพึ่งพาญาติ หรือเพื่อน ทำให้ปริมาณของประชากรภายในพื้นที่พักพิงชั่วคราวมันมีปริมาณมากขึ้น”
โดยประเด็นนี้อาจารย์มองว่า “การบริหารจัดการ ไทยต้องคิดถึงเศรษฐกิจของตัวเองก่อนแน่นอน คนไทยจะต้องมาก่อน แต่ในด้านเศรษฐกิจ ในเมื่อพื้นที่การเกษตรรอบๆ แคมป์ เรามีพื้นที่ปลูกพืชต่างๆ แต่แรงงานไม่อนุญาตให้ทำงานนอกพื้นที่พักพิง เราจะเปลี่ยนคนที่เป็น passive refugee คือคนไม่ได้ทำงาน แต่แข็งแรง และอยู่ในวัยทำงาน ให้มึมูลค่าเศรษฐกิจ อย่างไร เป็นโจทย์ที่จังหวัดชายแดน รวมถึงรัฐบาลต้องคิดอย่างจริงจัง”
ขณะที่ปัจจุบัน ข้อมูลชี้ว่า มีชาวเมียนมากว่า 2.3 ล้านคน ที่เป็นแรงงานที่จดทะเบียนมนไทยแล้ว ซึ่งถือเป็นจำนวนสูงสุดในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา และคิดเป็นร้อยละ 70 ของแรงงานข้ามชาติที่จดทะเบียนทั้งหมดในประเทศไทย แต่ถึงอย่างนั้น ดนย์ ทาเจริญศักดิ์ เจ้าหน้าที่รณรงค์สิทธิมนุษยชน ผู้ทำงานประเด็นผู้ลี้ภัยเมียนมา ก็บอกกับเราว่า ตัวเลขชาวเมียนมาในไทย หากรวมคนที่เข้ามาผิดกฎหมายแล้ว มีจำนวนมากกว่านั้นมากหลายเท่า
ดนย์เล่าว่า จากสายสัมพันธ์ และการทำงานของเขา เขาพบว่ามีชาวเมียนมา ข้ามมาอยู่ในไทยมากขึ้นเกือบทุกวัน กระจายตัวในหลายบริเวณของกรุงเทพฯ โดยชาวเมียนมาเข้ามาไทยมากขึ้น ผ่านทางช่องทางธรรมชาติ โดยเฉพาะหลังการประกาศกฎหมายเกณฑ์ทหารในเมียนมา
เขามองว่า ภาครัฐไทยเข้าใจผิดเรื่องแนวทางการรับผู้อพยพ โดยฝั่งไทยนั้น มองว่าหากยอมรับผู้ลี้ภัย แปลว่ามีเรื่องของสิทธิที่ตามมา ทำให้คนจะทะลักเขามามากขึ้น แต่ความจริงแล้วจากการพูดคุย ดนย์พบว่า ผู้ลี้ภัยหลายคน ต้องการจะเดินทางไปประเทศอื่น และมีศักยภาพที่จะไปได้ แต่เมื่อเข้าเมืองมาอย่างผิดกฎหมาย ทำให้ไม่สามารถออกนอกประเทศ แล้วสุดท้ายหลายๆ คนที่ควรจะได้รับการศึกษาที่ดี หรืองานที่ดี ก็ไม่สามารถออกไปได้ ต้องติดอยู่ในไทยอย่างผิดกฎหมาย
“รัฐไทยควรมองเรื่องการรับผู้อพยพแบบ Transitional country คือให้เขาเข้ามา เพื่อเตรียมพร้อมจะไปประเทศอื่นๆ ต่อ แต่เมื่อรัฐไทยไม่เปลี่ยนความคิด แต่วิธีการของคนที่ต้องเอาตัวรอดมันเปลี่ยนไป มันกลายเป็นการเอื้อให้กับการคอร์รัปชั่นมากขึ้น”
เขาชี้ว่า การเข้ามาเหล่านี้ เป็นการเปิดช่องให้เจ้าหน้าที่รัฐไทยทุจริต รับเงินจากชาวเมียนมาที่เข้ามาอย่างผิดกฎหมายด้วย และสำหรับปัญหาผู้ลี้ภัย หรือคนอพยพเข้าเมืองอย่างผิดกฎหมาย รัฐไทยยังไม่พยายามจัดการกับเรื่องนี้อย่างจริงจัง แม้ว่าที่ผ่านมา NGOs หลายแห่งจะเสนอแนวทาง และการจัดการ แต่รัฐไทยไม่เคยตอบรับ
ดนย์ ทาเจริญศักดิ์
ซึ่งอาจารย์ลลิตาเองก็มองถึงในกรณีนี้เช่นกันว่า ที่ไม่มีการนับตัวเลขอย่างจริงจังจากภาครัฐ เพราะการนับ เป็นเหมือนการยอมรับว่าปัญหานี้ใหญ่มาก แต่เมื่อเราไม่มีบันทึก หรือจัดการกับการเข้ามาอย่างผิดกฎหมาย หากคนกลุ่มนี้เกิดก่ออาชญากรรม หรือเหตุอะไร “เราจะไม่มี Identity หรือการยืนยันตัวตนของคนเหล่านี้ได้เลย ดังนั้นการทำให้ Identity ขึ้นมาอยู่ในระบบ จึงควรเป็นหนึ่งในเรื่องที่ต้องจัดการอันดับแรกๆ ของไทย”
สงครามกลางเมือง
ปัจจุบัน สงครามกลางเมืองในเมียนมายังคงดำเนินต่อเนื่องอยู่ โดยหลังรัฐประหาร สถานการณ์ได้ทวีความรุนแรงมากขึ้น หลังกลุ่มต่อต้านรัฐบาลทหาร และกลุ่มชาติพันธุ์ ได้โจมตีต่อต้านรัฐบาล ทำให้ในหลายพื้นที่ยังมีการต่อสู้ที่เข้มข้นอยู่
โดยเชื่อว่า ตอนนี้รัฐบาล และกองทัพ ควบคุมมุมได้ลดลงเหลือระหว่าง 72–220 เมืองจากทั้งหมด 330 เมือง แต่ก็ยังคงยึดเมืองหลัก ๆ อย่างกรุงเนปิดอว์ไว้ได้อยู่
ดนย์เล่าว่า จากการลงพื้นที่ และพูดคุยกับคนในเมียนมา เขาพบว่าในหลายรัฐ การหลบระเบิด หรือการคำนวณระยะเวลาเครื่องบินถล่ม กลายเป็นเหมือนวิถีชีวิตของพวกเขา บางแห่งเด็กๆ เองก็ต้องเรียนหนังสือท่ามกลางสภาวะแบบนี้ รวมไปถึงอาชีพของประชาชน ที่เหลือไม่กี่อาชีพที่จะพอทำได้
หลังการรัฐประหาร นายพล มิน อ่อง ลาย ได้ให้สัญญาว่าจัดการเลือกตั้งข้ึน แต่ถึงอย่างนั้นก็ผ่านมา 4 ปีแล้ว โดยผู้เชี่ยวชาญทั้งสองเห็นตรงกันว่า การเลือกตั้งไม่น่าจะเกิดขึ้นได้เร็วๆ นี้ และหากเกิดขึ้นจริง ก็จะไม่ใช่การเลือกตั้งที่ชอบธรรม และไม่มีทางที่กลุ่มชาติพันธุ์ทั้งหมดจะให้การยอมรับด้วย
ต้องมองปัญหาเป็นองค์รวม และไทยเลี่ยงไม่ได้ที่จะรับผลกระทบ
ถึงแม้เราจะเห็นปัญหาหลายเรื่อง แต่อ.ลลิตาก็ลงความเห็นว่า รัฐบาลไทยกลับไม่ได้มองว่าเป็นปัญหา “ปัญหาต่างๆ อยู่ใต้พรมมานานแล้ว แต่ว่ารัฐไทย ยังไม่ได้มองว่า เป็นเรื่องเร่งด่วนที่จะต้องแก้ไข และไม่ได้มองวิธีการแก้ไขปัญหาด้านความมั่นคงที่สืบเนื่องมาจากความไม่สงบในเมียนมาอย่างเป็นระบบมากพอ การแก้ไขปัญหายังไม่ใช่เชิงบูรณาการเพียงพอ
ดนย์เองก็มองว่า จริงๆ แล้วปัญหาแต่ละอย่างต่างเชื่อมโยงกัน และไทยเลี่ยงไม่ได้เลย เขายกตัวอย่างว่า “หากไทยไม่จัดการกับปัญหาสาธารณสุขในแคมป์ผู้ลี้ภัย เด็กในนั้นไม่ได้วัคซีน เราประเมินไม่ได้เลยว่า จะเกิดโรคระบาดอะไรใหม่ขึ้น และผลมันจะกระทบไทยแค่ไหน หรือถ้าเด็กตรงนั้นไม่ได้รับการศึกษา เราบอกไม่ได้เลยว่า มันจะส่งผลอะไร จะกระตุ้นให้ Scam Center ให้มากขึ้นหรือเปล่า เราประเมินไม่ได้เลย แต่ไม่ว่ายังไงไทยเลี่ยงผลกระทบอะไรไม่ได้เลย”
เช่นเดียวกับความเห็นของอ.ลลิตา ที่มองว่าปัญหาทั้งหมดเหล่านี้ ไทยจะเป็นหนึ่งประเทศที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดในบรรดาเพื่อนบ้านด้วย
“การมองปัญหาพม่าต้องมองเป็นภาพใหญ่ ไม่ใช่ว่ามอง Scam Center เป็นเรื่องหนึ่ง มองเรื่องแรงงานเป็นเรื่องหนึ่ง มองเรื่องความมั่นคงอื่นๆ เป็นเรื่องหนึ่ง มันต้องมองเป็นองค์รวม เพราะว่าชายแดนเราติดกับเขายาว
แล้วสถานการณ์ภายในเมียนมามันไม่มีทางที่จะจบลงภายใน 1-2 ปี แต่อาจจะอยู่กับเราเป็นอีกเป็น 10-20 ปี แล้วไทยคือหนึ่งในประเทศที่ได้รับผลกระทบที่มาจากความรุนแรงที่เกิดขึ้นในเมียนมามากที่สุด เท่าที่ประเทศเพื่อนบ้านทั้งหมดของเมียนมาจะรับ” อาจารย์ทิ้งท้าย