2568 คือก้าวสำคัญของไทยสู่สินทรัพย์ดิจิทัล
พลันหลังข่าวการกล่าวของ คุณพิชัย ชุณหวชิร รองนายกฯ และ รมว.คลัง ว่าคลังกำลังศึกษาความเป็นไปได้ที่จะใช้ Tokenization ทำ Stablecoin โดยมีพันธบัตรรัฐบาล เป็นสินทรัพย์ค้ำประกัน 1 หมื่นล้านบาทภายในปีนี้
โดยเฟสแรกล็อตทดลองเป็น โทเคนเพื่อการลงทุนกำหนดมูลค่า เช่น 1 Token = 1 บาท และเฟสต่อไปจะพัฒนาเป็น Stablecoin ที่สามารถใช้ซื้อสินค้าและบริการได้จริง หวังเพิ่มสภาพคล่องในการซื้อขาย ให้ประชาชนรายย่อยเข้าถึงได้มากขึ้น
รวมถึง Phuket sandbox ที่รัฐกำลังหารือกับ แบงก์ชาติเรื่องข้อกฏหมาย เพื่อเปิดให้สามารถใช้ เงินดิจิทัล เช่น Bitcoin ซื้อขายสินค้าและบริการได้ที่ภูเก็ต หวังดึงดูดนักลงทุนและนักท่องเที่ยวต่างชาติ
ทั้งหมดนี้คือความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีทางการเงินและการลงทุนของประเทศไทย ที่จะสร้างความได้เปรียบในการแข่งขันระดับโลก แต่คำถามสำคัญคือ จะเสร็จเมื่อไหร่? เกิดได้จริงไหม และคนไทยพร้อมแค่ไหนกับ Digital Asset และ ได้ประโยชน์อย่างไรจากเรื่องนี้บ้าง ? มาทำความเข้าใจพื้นฐานเรื่องนี้ง่ายๆไปพร้อมๆกัน ซึ่งต้องเริ่มจาก ความหมายของศัพท์ในวงการ สินทรัพย์ดิจิทัล กันก่อน
สรุปข่าว
Tokenization / Stable coin / cryptocurrency คืออะไร - แตกต่างกันยังไง ?
3 สิ่งนี้เป็น Digital Asset หรือ สินทรัพย์ดิจิทัลเหมือนกัน แต่แตกต่างกัน ดังนี้
1. Tokenization คืออะไร? การแปลงสินทรัพย์ หรือ ข้อมูลจริงๆ ให้เป็นโทเคนดิจิทัลสามารถใช้แทนสินทรัพย์จริงได้
การแปลงเงินเป็นโทเคน : Stablecoin เช่น Thai Baht Stablecoin โอน จ่าย หรือเก็บเงินในรูปแบบดิจิทัลได้สะดวกขึ้น
การแปลงอสังหาริมทรัพย์เป็นโทเคน : ตึกหนึ่ง มูลค่า 100 ล้านบาท ถ้ากำหนดให้เป็นโทเคนละ 100 บาท ตึกนี้จะแปลงมูลค่า เป็น 1 ล้านโทเคน = 100 ล้านบาท นักลงทุนสามารถซื้อขายโทเคนและลงทุนเป็นเจ้าของร่วมได้ เพิ่มโอกาสให้นักลงทุนรายย่อย เข้าถึงการลงทุนได้
----------------------------------
2.Cryptocurrency คืออะไร? คือ สกุลเงินดิจิทัลที่ไม่มีสินทรัพย์อ้างอิง มีความผันผวนสูง ทำงานบนเทคโนโลยีบล็อกเชน ไม่มีการผูกมูลค่ากับสินทรัพย์จริง ราคาจึงขึ้นอยู่กับตลาดล้วนๆ ไม่ผ่านตัวกลางในการแลกเปลี่ยน เช่น Bitcoin, Ethereum
----------------------------------
3.Stablecoin คืออะไร? กึ่งกลางระหว่าง Tokenization และ Cryptocurrency คือ รูปแบบหนึ่งของ Tokenization คือการแปลง เงิน ให้อยู่ในรูปแบบ Token Digital ทำงานบนเทคโนโลยีบล็อคเชน เหมือน คริปโตเคอเรนซี่ แต่ราคาจะคงที่ผันผวนน้อยเพราะเป็น Tokenization มักผูกกับสินทรัพย์ที่มีมูลค่าคงที่ เพื่อรักษาเสถียรภาพของมูลค่า เช่น เงินสกุลต่างๆ ดอลลาร์สหรัฐ ทองคำ เงินบาทไทย (ที่กำลังถูกพูดถึงอยู่ขณะนี้)
คนไทยได้ประโยชน์อะไรจากสินทรัพย์ดิจิทัล ที่รัฐบาลกำลังขับเคลื่อน ?
1. ประชาชนรายย่อยเข้าถึงการลงทุนได้ง่ายขึ้น เช่น อสังหาริมทรัพย์ พันธบัตรรัฐบาล หุ้น
- มีทางเลือกในการออมและการลงทุนที่หลากหลาย
- ลดความเหลื่อมล้ำทางการเงินและสร้างโอกาสสำหรับผู้ที่ไม่มีบัญชีธนาคาร
.
2. ธุรกรรมทางการเงินที่สะดวกและประหยัดขึ้น
.
3. การพัฒนาธุรกิจและผู้ประกอบการบนเทคโนโลยีบล็อกเชน
.
4. ความโปร่งใสและความปลอดภัย เพราะตรวจสอบการทำธุรกรรมได้
.
5. เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศดึงดูดการลงทุนจากต่างชาติ เกิดการสร้างอุตสาหกรรมใหม่
.
6.รองรับการเปลี่ยนแปลงของนวัตกรรมแห่งอนาคตเชื่อมโยงกับเศรษฐกิจดิจิทัลของโลกและสร้างความได้เปรียบในการแข่งขันระดับภูมิภาค
.
แม้ว่าเราเห็นถึงประโยชน์และข้อดีมากมาย แต่ก็ยังมีคำถามสำคัญที่ต้องทิ้งท้าย ?
1. กระบวนการนี้จะสำเร็จเมื่อไหร่? ได้จริงไหมและจะทันภายใต้รัฐบาลชุดปัจจุบันหรือไม่? ไม่เช่นนั้นจะเป็นการทำแล้วขาดตอน เพราะความไม่แน่นอนทางการเมือง ละลายงบประมาณ
2. คนไทยพร้อมแล้วหรือยัง ที่จะเปิดรับความรู้ให้สามารถใช้งาน Digital Asset
3. รัฐมีโจทย์ที่ต้องใช้งบประมาณที่ด่วนกว่า การมาพัฒนาแพลตฟอร์มดิจิทัลเอง ที่ต้องใช้งบมหาศาลทั้งประสบการณ์และความสามรถ อาจยังไม่ทันเท่ากับเอกชน ที่มีความสามารถและความพร้อมในการทำแพลตฟอร์มสินทรัพย์ดิจิทัลมากกว่า ควรขอเป็นความร่วมมือเพื่อใช้หรือพัฒนาทรัพยากรร่วมกัน อาจเป็นสิ่งที่ทำให้นโยบายนี้เกิดได้เร็วขึ้น กว่ารัฐสร้างเอง (ของเดิมคล้ายๆกัน สมัยรัฐบาลชุดก่อนก็ยังมีที่ใช้ได้และค้างต่อ)
4. จะเกิดแรงต้านหรือไม่หากสุดท้ายมีฝ่ายเสียผลประโยชน์เพราะถูก Disrupt ? เหล่านี้ยังเป็นสิ่งที่คลุมเครือ ที่ต้องรอความชัดเจนจากรัฐบาลต่อไปภายใน 2 ปีข้างหน้า หากไม่เกิดการสะดุดล้มทางการเมืองเสียก่อน
อย่างไรก็ตาม ผู้เขียนก็ยังสนับสนุน หากรัฐบาลต้องการสร้างสาธารณูปโภคทางด้านสินทรัพย์ดิจิทัลให้คนไทยทั้งเรื่อง Stablecoin อิงพันธบัตร หรือการทำให้สามารถนำมาใช้จ่ายในชีวิตได้ด้วยคริปโตเคอเรนซี่ แต่เรื่องนี้จะเกิดผลดีต่อคนไทย ต้องอาศัยการพัฒนาระบบนิเวศที่เหมาะสม ปลอดภัย การให้ความรู้แก่ประชาชนที่เพียงพอ และการกำกับดูแลที่มีประสิทธิภาพ เพื่อสร้างความเชื่อมั่นและการยอมรับในวงกว้าง
ที่มาข้อมูล : กระทรวงการคลัง
ที่มารูปภาพ : Canva