ต้องเข้าใจก่อนถูก "ดิสรัปชัน" จุฬาฯเดินหน้าให้นิสิตใช้ AI ยกระดับงานวิจัย

ต้องเข้าใจก่อนถูก "ดิสรัปชัน" จุฬาฯเดินหน้าให้นิสิตใช้ AI ยกระดับงานวิจัย

สรุปข่าว

โลกกำลังอยู่ในยุคที่ปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI เข้ามามีบทบาทมากขึ้น โดยพบว่ามีภาคธุรกิจบางประเภทได้ใช้ AI หุ่นยนต์เข้ามาทดแทนแรงงาน หรือ บางองค์กรที่เริ่มมีการให้บุคลากรฝึกทักษะด้าน AI มากขึ้น ขณะที่ผู้เชี่ยวชาญคาดการณ์ว่า AI อาจจะเข้ามาทดแทนมนุษย์ และ ส่งผลต่อ 73 ล้านอาชีพในปัจจุบันที่อาจหายไปภายในปี ค.ศ. 2030 ซึ่งนั่นหมายถึงอีกเพียงแค่ 6 ปีข้างหน้าเท่านั้น 


แม้ว่าจะมีความกังวลในการถูกดิสรัปชันจนทำให้มนุษย์ตกงาน หรือ แม้แต่บางสาขาอาชีพ เช่น อาชีพด้านศิลปะ จะมีการต่อต้านผลงานจาก AI  แต่ก็ต้องยอมรับว่าในยุคนี้ไม่อาจต้านทานกระแสของ AI โดยเฉพาะ Generative AI ที่เข้ามามีบทบาทสำคัญกับภาคธุรกิจหรือระดับองค์กรในวงกว้างมากขึ้น จนทำให้เกิดการพัฒนาการใช้งานที่ครอบคลุมทุกด้าน แม้กระทั่งในชีวิตประจำวัน ที่พบเห็นการใช้งานมากขขึ้นทั้งในด้านการสร้างภาพ เสียง วิดีโอ และข้อความที่มีคุณภาพสูง


การศึกษาในระดับมหาวิทยาลัย เป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมที่กำลังถูกท้าทายจากเทคโนโลยี  AI ซึ่งปัจจุบันถูกใช้เป็นเครื่องมือในการเรียนรู้ทดแทนการเข้าไปนั่งในห้องเรียน นั่นเป็นเหตุผลที่ทำให้สถาบันการศึกษาจำนวนมากต้องเร่งปรับตัว 

จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นหนึ่งในสถาบันระดับอุดมศึกษาที่เร่งปรับตัว และ ไม่ยอมให้เป็นหนึ่งในสถาบันการศึกษาที่ถูก "ดิสรัปชัน" โดยใช้หลักการว่า " AI ไม่ได้มีศักยภาพเหนือกว่ามนุษย์ แต่เป็นเพียงเครื่องมือช่วยยกระดับการศึกษา " พร้อมประกาศเดินหน้าสู่การเป็นมหาวิทยาลัย AI โดยเปิดให้นิสิต อาจารย์ และ บุคลากร เข้าถึง แอปพลิเคชัน AI ที่พัฒนาร่วมกับเอกชน เพื่อนำไปใช้ต่อยอดการเรียนรู้ รวมถึงเป็นผู้ช่วยในกระบวนการงานวิจัย


 ศ.ดร.วิเลิศ ภูริวัชร อธิการบดีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยคนใหม่ประกาศจะผลักดันให้จุฬาฯเป็นมหาวิทยาลัยชั้นนำด้าน AI ของประเทศไทย (AI University) ได้มีการพัฒนา แอปพลิเคชันที่ชื่อว่า ‘ChulaGENIE’ เพื่อนำมาปรับใช้ในการเรียน – การสอนสำหรับนิสิต บุคลากร รวมกว่า 50,000 คน พร้อมช่วยพัฒนากระบวนการวิจัยของคณาจารย์และนิสิตในทุกระดับ ซึ่งแอปพลิเคชัน ‘ChulaGENIE’ เป็นความร่วมมือระหว่างจุฬาฯ กับ Google Cloud

 

โดย “ChulaGENIE” เป็นแอปพลิเคชัน Generative AI ที่มีความสามารถหลายภาษารองรับข้อมูลหลายประเภท บนแพลตฟอร์ม Vertex AI ของ Google Cloud ได้รับการพัฒนามาโดยเฉพาะเพื่อรองรับการวิจัยและการเรียนรู้ ของประชาคมที่มีความหลากหลายของจุฬาฯ


ศาสตราจารย์ ดร.วิเลิศ ภูริวัชร อธิการบดีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย   เปิดเผยว่าจุฬาฯ สามารถพัฒนา ChulaGENIE ได้ภายในเวลาไม่ถึงสามเดือน ทำให้จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเป็นมหาวิทยาลัยแห่งแรกในประเทศไทยที่มีแอปพลิเคชัน Generative AI สำหรับการใช้งานเพื่อการศึกษาและวิจัยในระดับอุดมศึกษา โดยยึดหลัก AI ที่มีความรับผิดชอบ และตอบสนองความต้องการของประชาคมในวงกว้าง โดยจุฬาฯ มีแผนที่จะร่วมมือกับ Google Cloud เพื่อพัฒนา ChulaGENIE ให้ดียิ่งขึ้น และส่งเสริมการสร้างนวัตกรรม AI ด้านการศึกษาที่พัฒนาขึ้นเองในประเทศให้ใช้งานได้จริงเพื่อสนับสนุนการศึกษาทุกระดับ

 

ดร.วิเลิศ กล่าวว่าChulaGENIE’ เป็นแอปพลิเคชัน Generative AI ที่มีความสามารถหลายภาษา และรองรับข้อมูลหลายประเภทผู้ใช้ ChulaGENIE สามารถใช้ความสามารถในการรองรับหลายภาษาของโมเดล Gemini เพื่ออธิบายหัวข้อที่ซับซ้อนให้เข้าใจได้ง่าย รวมถึงสร้างเนื้อหาในภาษาไทย ภาษาอังกฤษ และภาษาอื่น ๆ ด้วยความรวดเร็วและความแม่นยำ และด้วยความสามารถในการรองรับข้อมูลหลายประเภทและขอบเขตการประมวลผลช่วงบริบทที่ยาว (long context window) ของโมเดล Gemini ทำให้ผู้ใช้สามารถอัปโหลดเอกสารที่มีความยาวและซับซ้อน (เช่น เอกสารที่มีความยาว 1.4 ล้านคำ พร้อมตาราง แผนภูมิ และภาพประกอบ) รวมถึงไฟล์ PDF โดยโมเดล Gemini สามารถประมวลผลเนื้อหาและองค์ประกอบภาพในเอกสารเหล่านี้เพื่อช่วยให้ผู้ใช้ดึงข้อมูลหรือวิเคราะห์ข้อมูลเชิงลึกได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งมีประโยชน์อย่างยิ่งสำหรับนักวิจัยที่ต้องการสรุปวรรณกรรมทางวิชาการหรือวิเคราะห์ชุดข้อมูลขนาดใหญ่ ขณะเดียวกันระบบดังกล่าวยังช่วยป้องกันไม่ให้ ChulaGENIE เผยแพร่ข้อมูลงานวิจัยที่เป็นความลับหรือทรัพย์สินทางปัญญาที่มีความอ่อนไหวโดยไม่ได้ตั้งใจอีกด้วย


โดยในอนาคต จุฬาฯ มีแผนที่จะขยายความร่วมมือกับ Google Cloud เพื่อพัฒนาโมเดลภาษาไทยขนาดใหญ่แบบโอเพ่นซอร์สที่เน้นเฉพาะด้านสำหรับการศึกษาในระดับอุดมศึกษา โมเดลนี้สามารถนำไปใช้ในการพัฒนาแอปพลิเคชันที่ปรับให้เหมาะกับความเร็วและรูปแบบการเรียนรู้ของนิสิตแต่ละคน โดยให้แบบฝึกหัด คำอธิบาย และข้อเสนอแนะที่ปรับแต่งได้ตามความต้องการ นอกจากนี้ โมเดลดังกล่าวยังสามารถสนับสนุนแอปพลิเคชันที่วิเคราะห์หลักสูตรที่มีอยู่ เพื่อค้นหาช่องว่างหรือจุดที่ควรปรับปรุง พร้อมเสนอแนวทางแก้ไขโดยอ้างอิงจากงานวิจัยล่าสุดและแนวโน้มด้านการศึกษาในปัจจุบัน  ซึ่ง  ‘ChulaGENIE’ จะเปิดให้คณาจารย์และบุคลากรใช้งานได้ในเดือนมกราคม 2568 และจะเปิดให้บริการแก่นิสิตทุกคนได้ภายในเดือนมีนาคม 2568 


โดยการเปิดตัว “ChulaGENIE” ของจุฬาฯ ถือเป็นการใช้ แอปพลิเคชัน AI เพื่อการศึกษา แห่งแรกของมหาวิทยาลัยไทย เกิดขึ้นท่ามกลางการปรับตัวอย่างรุนแรงของอุตสาหกรรมการศึกษา ซึ่งยังพบนักวิชาการบางส่วนพยายามตั้งคำถามถึงการนำ AI มาใช้ในการวิจัย รวมถึงปัญหาด้านลิขสิทธิ์ทางเนื้อหา ซึ่งจะเห็นว่าการนำ แอปพลิเคชัน AI มาใช้ในครั้งนี้ค่อนข้างให้ความสำคัญกับความแม่นยำ และ การนำมาใช้อย่างมีความรับผิดชอบและปลอดภัย ซึ่งการนำ AI มาใช้ในระบบการเรียน-การสอนครั้งนี้ต้องดูต่อไปว่าเทคโนโลยีจะมาช่วยยกระดับการศึกษาไทยได้มากน้อยแค่ไหน 


เรียบเรียงโดย วุฒิพันธุ์ เปรมาสวัสดิ์ รองบรรณาธิการ TNNOnline 

ที่มาข้อมูล : -

ที่มารูปภาพ :