TNN จีน-สหรัฐฯ ลืมความบาดหมางชั่วคราว จับมือลดโลกร้อน

TNN

World

จีน-สหรัฐฯ ลืมความบาดหมางชั่วคราว จับมือลดโลกร้อน

จีน-สหรัฐฯ ลืมความบาดหมางชั่วคราว จับมือลดโลกร้อน

จีนและสหรัฐฯ ลืมความบาดหมางชั่วคราว หันมาจับมือบรรลุข้อตกลงใหม่ในการแก้ไขปัญหาโลกร้อนร่วมกัน เป็นข้อตกลงที่สร้างความประหลาดใจอย่างมาก ท่ามกลางความตึงเครียดเรื่องเกาะไต้หวัน

ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ผู้นำจีน เตือนว่า อย่านำภูมิเอเชีย-แปซิฟิกหวนคืนสู่ความตึงเครียดในยุคสงครามเย็น พร้อมเรียกร้องให้ร่วมมือกันมากขึ้นในการแก้ปัญหาการระบาดของไวรัสโควิด-19 และการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ


ท่ามกลางความตึงเครียดกับสหรัฐฯ กรณีเกาะไต้หวัน แต่ยังมีสิ่งดี ๆ เกิดขึ้นอยู่บ้างระหว่าง 2 มหาอำนาจโลก หลังจากเกิดข้อตกลงระหว่างจีนและสหรัฐฯ เกี่ยวกับสภาพภูมิอากาศ เมื่อพวกเขาให้คำมั่นว่าจะร่วมมือกันเร่งมาตรการแก้ปัญหาโลกร้อนใน 10 ปีนี้ ซึ่งเป็นข้อตกลงใหม่ที่สร้างความประหลาดในการเผชิญกับปัญหาโลกร้อน ที่กำลังก่อให้เกิดภัยพิบัติรุนแรงทั่วโลกอยู่ในขณะนี้


การประกาศความร่วมมือครั้งนี้ มีขึ้น ขณะที่การประชุมสุดยอดด้านสภาพภูมิอากาศของสหประชาชาติครั้งที่ 26 หรือ COP26 ในเมืองกลาสโกว์ สกอตแลนด์ เข้าสู่วาระสุดท้ายของการพิจารณาที่ถือว่ามีความสำคัญอย่างมาก โดยคณะผู้แทนเจรจาต้องขบคิดหาวิธีการต่าง ๆ เพื่อควบคุมอุณหภูมิของโลกไม่ให้เกิดระดับ 1.5-2 องศาเซลเซียส จากระดับช่วงก่อนยุคอุตสาหกรรม


◾◾◾

🔴 จีนบรรลุความเข้าใจกับสหรัฐฯ เรื่องโลกร้อน


ประธานาธิบดีสี กล่าวว่า ทุกประเทศในภูมิภาคต้องทำงานร่วมกันเพื่อแก้ปัญหาความท้าทายต่าง ๆ เหล่านี้ โดยเขากล่าวในการประชุมธุรกิจเสมือนจริงนอกรอบการประชุมสุดยอดความร่วมมือทางเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก หรือเอเปค ว่า ความพยายามที่จะวาดเส้นทางอุดมการณ์ หรือสร้างวงกลมเล็ก ๆ ด้วยเหตุผลทางภูมิศาสตร์-การเมือง จะต้องไม่เกิดขึ้น ภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกไม่สามารถและไม่ควรหวนกลับไปสู่การเผชิญหน้า และความแตกแยกเหมือนที่เกิดขึ้นในยุคสงครามเย็น


จีนแถลงว่า ได้บรรลุความเข้าใจกับสหรัฐฯ ในที่ประชุมสุดยอด COP26 ในเมืองกลาสโกว์ เกี่ยวกับการแก้ปัญหาโลกร้อน ซึ่งเป็นประเด็นสำคัญที่รัฐบาลของประธานาธิบดีโจ ไบเดน มองเห็นศักยภาพในการร่วมมือกัน


แต่ประธานาธิบดีสี ไม่ได้กล่าวถึงข้อตกลงกับสหรัฐฯ โดยตรง กล่าวแต่เพียงว่า ทุกฝ่ายสามารถเริ่มดำเนินการบนเส้นทางของการพัฒนาที่ยั่งยืนที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและมีคาร์บอนต่ำ หากร่วมมือกัน เราสามารถพัฒนาสีเขียวได้ในอนาคต


ผู้นำจีน กล่าวด้วยว่า จีนจะยึดมั่นพันธสัญญาในการส่งเสริมความร่วมมือที่ได้ประโยชน์ร่วมกัน และสนับสนุนการพัฒนาเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก


เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ประธานาธิบดีไบเดน วิพากษ์วิจารณ์การตัดสินใจของประธานาธิบดีสี ที่ไม่ได้เข้าร่วมประชุมสุดยอด COP26 ในเมืองกลาสโกว์ว่า จีนเดินหนีปัญหา ซึ่งจีนก็ออกมาตอบโต้ทันควัน


แต่ความสัมพันธ์ระหว่าง 2 ประเทศ ดูเหมือนจะดีขึ้นก่อนการเจรจาทวิภาคีที่รอคอยมานานระหว่างผู้นำ 2 ประเทศในสัปดาห์หน้า ที่จะเป็นรูปแบบการประชุมผ่านวิดีโอคอลล์ แต่ยังไม่มีการระบุวันและเวลาที่แน่ชัด


◾◾◾

🔴 ยินดีที่สหรัฐฯ-จีน ร่วมมือกู้โลก


ด้านกลุ่มนักเคลื่อนไหวและนักการเมืองทั่วโลก ต่างออกมาแสดงความยินดีกับการร่วมมือของ 2 ชาติยักษ์ใหญ่คู่อริของโลก และนับเป็นชาติที่ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สูงที่สุดในโลก


นักวิทยาศาสตร์ระบุว่า การจำกัดการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิโลกไม่ให้เกิน 1.5 องศาเซลเซียสจากยุคก่อนอุตสาหกรรม จะช่วยให้ชาวโลกหลีกเลี่ยงจากผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมที่รุนแรงได้


แต่ก็ยังจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องจับตาอย่างใกล้ชิด ว่าทั้ง 2 ประเทศจะดำเนินการลดการปล่อยก๊าซพิษในช่วง 9 ปีข้างหน้าอย่างไร


ด้านองค์กรกรีนพีซสากล ได้กล่าวแสดงความยินดีกับแถลงการณ์ของ 2 ชาติ แต่ก็เตือนทั้ง 2 ประเทศว่า จะต้องแสดงความมุ่งมั่นอย่างแท้จริงในการไปให้ถึงเป้าหมายดังกล่าว


ทั้งนี้ 5 ชาติที่ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์มากที่สุดในโลก ประกอบด้วย (เมกะตัน/ปี - ข้อมูลปี 2019)


จีน 11,535 เมกะตัน/ปี

สหรัฐฯ 5,107 เมกะตัน/ปี

อียู 3,304 เมกะตัน/ปี

อินเดีย 2,597 เมกะตัน/ปี

รัสเซีย 1,792 เมกะตัน/ปี


ก่อนหน้านี้ ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ของจีน เคยประกาศเมื่อเดือนกันยายนว่า จีนจะเป็นกลางทางคาร์บอน (carbon neutrality) ภายในปี 2060 โดยคาดว่าจะปล่อยก๊าซสูงสุดในปี 2030 ส่วนสหรัฐฯ ตั้งเป้าว่าจะปล่อยก๊าซเป็นศูนย์ (net zero) ในปี 2050


◾◾◾

🔴 อุณหภูมิโลกน่าจะสูงเกิน 1.5 องศาฯ ในปี 2030


กลุ่มนักวิเคราะห์อิสระที่ชื่อไคลเมต แอ็กชั่น แทร็กเกอร์ (Climate Action Tracker) หรือ CAT เปิดเผยว่า คำสัญญาของประเทศต่าง ๆ ที่เข้าร่วมการประชุม COP26 ที่เมืองกลาสโกว์ สกอตแลนด์ ว่าจะทำการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลงภายในปี ค.ศ. 2030 นั้น ไม่ได้จะส่งผลดีต่อความพยายามแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศอย่างทันท่วงที เพราะอุณหภูมิโลกมีแนวโน้มที่จะพุ่งขึ้นสูงกว่าระดับที่องค์การสหประชาชาติ ตั้งเป้าในปี 2100 แล้ว


กลุ่ม CAT ระบุว่า แม้ผู้นำทั่วโลกจะให้คำมั่นในการลดการปล่อยก๊าซภายในปี 2030 การประเมินล่าสุดชี้ว่า ปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่ปล่อยออกมาจากทั่วโลกในปีดังกล่าว น่าจะสูงขึ้นกว่าเป้าหมายเพื่อควบคุมการปรับขึ้นของอุณหภูมิโลกไม่ให้เกิน 1.5 องศาเซลเซียส ด้วยเหตุนี้ CAT จึงเรียกร้องให้รัฐบาลทั่วโลกพิจารณาปรับเปลี่ยนเป้าหมายการปล่อยก๊าซของตนโดยด่วน


ทางกลุ่มยังเปิดเผยผลการวิเคราะห์ ในกรณีที่บางประเทศสามารถบรรลุเป้าหมายการดำเนินการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (net zero) ได้ภายในหรือหลังปี 2050 การปรับขึ้นของอุณหภูมิโลกในศตวรรษนี้ก็จะอยู่ที่ราว 1.8 องศาเซลเซียส สูงกว่า 1.5 องศาเซลเซียสอยู่ดี


และเพื่อให้ทั่วโลกสามารถบรรลุเป้าการควบคุมการปรับขึ้นของอุณหภูมิโลกไม่ให้เกิน 1.5 องศาเซลเซียส นักวิทยาศาสตร์ของ CAT กล่าวว่า การปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั่วโลกต้องลดลง 45% จากระดับที่บันทึกไว้เมื่อปี 2010 ภายในปี 2030 และประสบความสำเร็จกับเป้าหมายดำเนินการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ ภายในปี ค.ศ. 2050 ด้วย


การคาดการณ์ดังกล่าว มีขึ้นขณะที่สำนักงานอุตุนิยมวิทยาของสหราชอาณาจักร เตือนว่า ประชาชนหนึ่งพันล้านคนอาจได้รับผลกระทบจากความร้อนและความชื้นรุนแรง หากอุณหภูมิเฉลี่ยของโลก เพิ่มสูงขึ้นเหนือระดับก่อนยุคอุตสาหกรรม 2 องศาเซลเซียส

—————

แปล-เรียบเรียง: ภัทร จินตนะกุล

ภาพ: Nicholas Kamm, Ludovic MARIN / AFP

ข่าวแนะนำ