จับตาเศรษฐกิจไทยครึ่งปีหลังยังเสี่ยง มีโอกาสโตต่ำกว่าที่สภาพัฒน์คาดการณ์ไว้ที่ 0.7-1.2 %
สำนักวิจัยเศรษฐกิจ จับตาเศรษฐกิจไทยครึ่งปีหลัง ยังมีโอกาสสูงที่จะถูกปรับลดประมาณการลง หลังสภาพัฒน์ฯประกาศปรับประมาณการเศรษฐกิจไทยของปีนี้ลดลงเหลือร้อยละ 0.7-1.2
วันนี้( 18 ส.ค.64) จากกรณีที่ สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือ สภาพัฒน์ฯ ได้ประกาศปรับประมาณการเศรษฐกิจไทยของปีนี้ลดลงเหลือร้อยละ 0.7 - ร้อยละ1.2 ทำให้หลายสำนักวิจัยเศรษฐกิจ มองว่าตัวเลขที่ออกมานั้น เป็นไปตามคาด แต่ให้จับตาต่อในครึ่งปีหลัง เพราะเศรษฐกิจไทยยังมีโอกาสสูงที่จะถูกปรับลดประมาณการลง
โดยศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ หรือEIC เปิดเผยว่า ตัวเลขจีดีพีล่าสุด ยังสอดคล้องกับการประมาณการของ EIC ที่มองว่าเศรษฐกิจไทยปี 2021 จะขยายตัวในกรณีฐานที่ร้อยละ 0.9 ซึ่งเป็นการขยายตัวที่พึ่งพาการส่งออกและมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ แต่อย่างไรก็ตาม ไทยพาณิชย์มองว่าเศรษฐกิจไตรมาส 3 จะยังทรุดตัวต่อเนื่องจากการระบาดที่ยืดเยื้อ รวมถึงผลของมาตรการจำกัดพื้นที่เริ่มตั้งแต่วันที่ 20 ก.ค. 2021 ที่ผ่านมา ทำให้คาดว่าเศรษฐกิจไทยมีโอกาสสูงที่จะถูกปรับลดลงเพิ่มเติมในช่วงไตรมาส 3 แต่หากสามารถควบคุมการระบาดได้ดีขึ้นในช่วงไตรมาส 4 ตามความคืบหน้าในการฉีดวัคซีน ก็จะช่วยให้เศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัว ซึ่งนอกจากจัเป็นปัจจัยบวกต่อการลดจำนวนผู้ติดเชื้อรายวันและทำให้มาตรการผ่อนคลายลงแล้ว จะสนับสนุนกิจกรรมทางเศรษฐกิจ ให้สามารถกลับมาดำเนินการได้มากขึ้น
ส่วนสำนักวิจัย "Krungthai COMPASS" ของธนาครกรุงไทย ประเมินว่า เศรษฐกิจไทยในปีนี้ จะขยายตัวได้ร้อยละ 0.5 แต่ยังมีความเสี่ยงด้านต่ำค่อนข้างมาก จากมาตรการควบคุมโรคแบบกึ่งล็อกดาวน์ที่อาจลากยาวออกไป ส่งผลให้แนวโน้มเศรษฐกิจไทยในช่วงครึ่งปีหลังมีแนวโน้มหดตัว ส่วนในปีหน้า คาดว่าเศรษฐกิจจะขยายตัวได้ร้อยละ 3.9 ตามสถานการณ์การแพร่ระบาดที่มีแนวโน้มคลี่คลายได้ตามลำดับ ทำให้อุปสงค์ในประเทศจะทยอยฟื้นตัวได้อย่างช้าๆ เช่นเดียวกับแนวทางการเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติที่จะเริ่มเห็นความชัดเจนในช่วงครึ่งปีหลัง
ขณะที่วิจัยกรุงศรีฯ ระบุว่า แม้เศรษฐกิจในไตรมาส 2 จะเติบโตเกินคาด แต่การระบาดของโควิด-19 ในประเทศที่ยังมีจำนวนผู้ติดเชื้อใหม่รายวันอยู่ในระดับสูงและมากกว่าที่เคยคาดการณ์ไว้ในกรณีฐาน ซึ่งล่าสุด วิจัยกรุงศรีคาดว่าจำนวนผู้ติดเชื้อใหม่รายวันอาจแตะระดับ 26,000 รายในช่วงต้นเดือนกันยายน และจำนวนผู้เสียชีวิตอาจสูงสุดในช่วงสัปดาห์ที่สองของเดือนกันยายน ดังนั้น จึงคาดว่ากว่าที่ทางการจะผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์ได้ น่าจะเป็นช่วงปลายเดือนกันยายน ซึ่งเป็นผลให้อุปสงค์ในประเทศและหลายกิจกรรมทางเศรษฐกิจในไตรมาส 3 มีแนวโน้มซบเซา บวกกับภาคการผลิตและภาคส่งออก อาจได้รับความเสี่ยงจากการระบาดที่แพร่ไปสู่ภาคอุตสาหกรรมเป็นวงกว้างขึ้น รวมถึงอุปสงค์ของประเทศคู่ค้าที่อาจชะลอลง หลังจากหลายประเทศประสบกับการกลับมาระบาดระลอกใหม่ของโควิด-19 จึงมองว่าเศรษฐกิจไทยในช่วงครึ่งปีหลัง มีแนวโน้มอ่อนแอลงจากครึ่งปีแรกอย่างชัดเจน ขณะที่ประมาณการจีดีพีปีนี้ที่วิจัยกรุงศรีคาดไว้ว่าจะเติบโตที่ 1.2% ก็เผชิญความเสี่ยงขาลงมากขึ้น