จะจบ ป.ตรี ต้องได้ IELTS 5.5? ทำไมเงื่อนไขสอบวัดระดับภาษา อาจผลักภาระให้ผู้เรียน
ปัจจุบัน ภาษาอังกฤษถือได้ว่า เป็นหนึ่งในทักษะสำคัญสำหรับตลาดแรงงาน แล้วเมื่อโลกเปิดกว้างมากขึ้น การพบเจอผู้คนหน้าใหม่จากประเทศอื่น ๆ ทำให้เข้าถึงโอกาสง่ายขึ้นเช่นกัน โดยมีตัวกลางในการสื่อสาร คือ ภาษาอังกฤษ ที่อาจทำให้เราได้เปรียบเหนือกว่าคนอื่น
แม้ว่าเราจะตระหนักถึงความสำคัญเรื่องของภาษา และมองว่า การพูดภาษาอังกฤษได้ ไม่ใช่ความสามารถพิเศษอีกต่อไป แต่ใช่ว่า คนไทยทุกคนจะสามารถสื่อสารภาษาอังกฤษได้ดี โดยเฉพาะกลุ่มเปราะบาง ที่อาจเข้าไม่ถึงการศึกษาที่มีคุณภาพได้
---ภาษาอังกฤษคนไทยรั้งท้ายในอาเซียน---
ปัญหาภาษาอังกฤษของคนไทย ถูกพูดถึงมายาวนาน หน่วยงานรัฐเองก็เร่งแก้ไขปัญหานี้ในระบบการศึกษา แต่แม้จะถูกหยิบยกเป็นประเด็นมาตลอด แต่ก็ยังไม่สามารถจัดการปัญหา หรือ ยกระดับทักษะภาษาของคนไทยได้อย่างครอบคลุม
Education First หรือ EF บริษัทด้านการศึกษาภาษา การศึกษาต่อต่างประเทศ การแลกเปลี่ยนวัฒนธรรม และโปรแกรมการศึกษาทั่วโลก จัดทำรายงาน “ดัชนีความสามารถทางภาษาอังกฤษ” หรือ “EF English Proficiency Index” ทุกปี พบว่า ทักษะภาษาอังกฤษของไทยในปี 2023 อยู่อันดับที่ 101 จากทั้งหมด 113 ประเทศ ด้วยคะแนน 416 คะแนน ซึ่งจัดว่าอยู่ในระดับทักษะต่ำมาก รั้งท้ายกลุ่มประเทศอาเซียนที่ถูกสำรวจ ยกเว้น ลาวและบรูไนที่ทาง EF ไม่ได้เก็บข้อมูล
เมื่อเจาะไปดูคะแนนรายจังหวัดที่มีระดับทักษะภาษาอังกฤษสูงสุด คือ เชียงใหม่ คะแนนอยู่ที่ 464 คะแนน รองลงมาเป็นกรุงเทพฯ มีคะแนนอยู่ที่ 457 คะแนน โดยช่วงอายุที่มีคะแนนภาษาดีสุด คือ กลุ่มอายุ 26-30 ปี
หากนำตัวเลขของปีนี้ ไปเทียบกับผลสำรวจปีที่แล้ว จะพบว่า ทักษะภาษาอังกฤษคนไทยมีพัฒนาการที่ถดถอยลง โดยเมื่อปี 2022 ไทยจัดอยู่ในอันดับที่ 97 มีคะแนนอยู่ที่ 423 คะแนน
ผลคะแนนทักษะภาษาอังกฤษของไทยที่ออกมานั้น สวนทางกับชั่วโมงเรียนในระบบการศึกษาของไทยอย่างมาก เพราะคนไทยส่วนใหญ่เริ่มเรียนภาษาอังกฤษตั้งแต่ระดับชั้นอนุบาล หากนักเรียนไทย 1 คน เริ่มเรียนภาษาอังกฤษตั้งแต่อนุบาล ไปจนถึงระดับมัธยมปลาย เท่ากับว่า นักเรียนคนดังกล่าว เรียนรู้ภาษาอังกฤษมายาวนานถึง 15 ปี
ถึงจะเรียนภาษาอังกฤษมานานแค่ไหน แต่ทำไมคนไทยยังมีระดับทักษะภาษาต่ำอยู่ เรื่องนี้เป็นเพราะระบบการศึกษาขั้นพื้นฐานบ้านเรา โดยเฉพาะวิชาภาษาอังกฤษ ยังเน้นสอนให้เด็กท่องจำ เพื่อนำไปสอบมากกว่านำไปใช้ในชีวิตประจำวัน หรือไม่?
---หน่วยงานรัฐเร่งแก้ปัญหา แต่อาจเพิ่มภาระค่าใช้จ่ายให้ผู้เรียน---
หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง มองเห็นถึงปัญหาดังกล่าว พยายามหาทางออกเพื่อแก้ไขปัญหาเรื่องนี้ และทางกระทรวงศึกษาธิการ ก็ร่วมมือกับกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ออกนโยบาย เพื่อยกระดับการใช้ภาษาอังกฤษของคนไทย ตั้งแต่การยกระดับเรื่องหลักสูตร ไปจนถึงจัดสภาพแวดล้อมให้สอดคล้องกับการใช้ภาษาอังกฤษ
หนึ่งในนโยบายที่ถูกพูดถึงมากสุด คือ การให้สถาบันอุดมศึกษา “พิจารณา” จัดให้นิสิตนักศึกษาทุกคน สอบวัดความรู้และทักษะ ภาษาอังกฤษก่อนสําเร็จการศึกษา โดยเมื่อไปดูระดับทักษะภาษาที่ถูกกำหนดไว้ในแต่วุฒิการศึกษา จะพบว่า คะแนนค่อนข้างสูง ซึ่งผู้สอบต้องมีระดับตั้งแต่ Intermediate หรือระดับกลางขึ้นไป ถึงจะสามารถสำเร็จการศึกษาในขั้นอนุปริญญาได้ แม้จะไม่ได้ระบุแน่ชัดว่า หากสอบไม่ผ่านตามเกณฑ์ที่กำหนด จะไม่สามารถสำเร็จการศึกษาได้
มาตรการดังกล่าว กำหนดเป้าหมายผลสัมฤทธิ์ด้านทักษะภาษาอังกฤษให้กับนิสิต นักศึกษา ดังนี้
ระดับอนุปริญญา ควรกําหนดเป้าหมายผลสัมฤทธิ์ด้านทักษะภาษาอังกฤษ ก่อนสําเร็จการศึกษา เทียบเคียงผลกับ CEFR ในระดับเกณฑ์ตั้งแต่ B1 ขึ้นไป
ระดับปริญญาตรี ควรกําหนดเป้าหมายผลสัมฤทธิ์ด้านทักษะภาษาอังกฤษ ก่อนสําเร็จการศึกษา เทียบเคียงผลกับ CEFR ในระดับเกณฑ์ตั้งแต่ B2 ขึ้นไป
ระดับบัณฑิตศึกษา ควรกําหนดเป้าหมายผลสัมฤทธิ์ด้านทักษะภาษาอังกฤษ ก่อนสําเร็จการศึกษา เทียบเคียงผลกับ CEFR ในระดับเกณฑ์ตั้งแต่ C1 ขึ้นไป
เมื่อกฎเกณฑ์ดังกล่าวออกมา หลายฝ่ายมองว่า เป็นนโยบายที่ดีจะช่วยกระตุ้นให้คนไทย เอาจริงเอาจังเรื่องภาษามากขึ้น และทำให้ประเทศมีแรงงานที่มีทักษะด้านภาษามากขึ้น ขณะเดียวกัน มาตรการนี้ ก็ถูกตั้งคำถามด้วยเช่นกันว่า สิ่งนี้เป็นตัวช่วยพัฒนา หรือ ผลักภาระความรับผิดชอบให้กับผู้เรียนในเรื่องของค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น
---จะพูดอังกฤษได้ ต้องมีค่าใช้จ่ายเพิ่ม---
คนในสังคมส่วนใหญ่รู้ว่า หากอยากจะสื่อสารภาษาอังกฤษให้ได้ดี ต้องเรียนรู้ และนำไปใช้งานอย่างต่อเนื่อง บางครอบครัวที่มีทุนทรัพย์มากกว่าคนทั่วไป อาจปูพื้นฐานให้ลูกหลานของตนตั้งแต่เล็ก ๆ สามารถส่งพวกเขาเข้าเรียนในโรงเรียนที่มีห้องเรียนพิเศษ English Programme ได้ หรือส่งเรียนในโรงเรียนนานาชาติ
แต่สำหรับบางคนที่ไม่มีทุนทรัพย์มากเท่ากลุ่มคนที่สามารถส่งลูกหลานเรียนโรงเรียนนานาชาติได้ และมองว่า การเรียนแค่ในห้องเรียนของพวกเขาอาจไม่เพียงพอ จึงทำให้หลายคนมองหา โรงเรียนกวดวิชา หรือ ติวเตอร์ด้านภาษาเก่ง ๆ มาช่วยพัฒนาให้ภาษาอังกฤษของตนเองแข็งแรงขึ้น และแน่นอนว่า สิ่งต่าง ๆ เหล่านี้ ย่อมมาพร้อมกับค่าใช้จ่ายที่ค่อนข้างสูง
ราคาคอร์สเรียนภาษาอังกฤษ มีหลากหลายราคาตั้งแต่หลักพัน ไปถึงหลักหมื่น แต่การเรียนภาษาให้ได้ผลอย่างต่อเนื่อง ส่วนใหญ่ไม่จบเพียงแค่คอร์สเดียว โดยเฉพาะหากต้องการเรียน เพื่อให้ได้ผลการวัดระดับภาษาที่ตนเองตั้งเป้าหมายไว้
นอกจากนี้ หากจำเป็นต้องใช้ผลวัดระดับภาษา เพื่อยื่นทำเรื่องจบ ก็จะมีค่าลงทะเบียนสอบแยกอีกต่างหาก ซึ่งปัจจุบัน แบบทดสอบวัดระดับภาษามากมายที่ทั่วโลกรับรอง และมีค่าใช้จ่ายแตกต่างกันไป ดังนี้
CEFR ค่าสอบขึ้นอยู่แต่ละสถาบัน โดยมีราคาเริ่มต้นตั้งแต่ 400-2,500 บาท
IELTS ค่าสอบอยู่ที่ราว 7,650-8,300 บาท ขึ้นอยู่กับลักษณะของแบบทดสอบ มีทั้ง Regular และ UKVI
TOEFL ราคาค่าสมัครอยู่ที่ราว 6,000 บาท
TOEIC ราคาค่าสมัครอยู่ที่ราว 1,200-1,800 บาท
---การศึกษาที่กระจุกอยู่แต่ตัวเมือง อาจทำให้เด็กบางส่วนเข้าไม่ถึงการศึกษาที่มีคุณภาพ---
ทุกคนต่างเห็นความสำคัญกับการพัฒนาทักษะด้านภาษา บางคนถึงขั้นลงเรียนภาษาที่ 3-4 เพื่อเป็นการเปิดโอกาสให้กับตัวเองมากขึ้น
แต่สำหรับเด็กนักเรียนที่มาจากครอบครัวที่มีฐานะยากจน หรือจัดอยู่ในกลุ่มเปราะบาง การลงเรียนพิเศษเพิ่มเติม เหมือนเป็นสิ่งที่ไกลเกินเอื้อม เพราะแค่ส่งให้ตนเองเรียนจบตามระบบการศึกษาขั้นพื้นฐานก็เป็นสิ่งที่ยากพอสำหรับพวกเขาแล้ว บางคนต้องทำงานไปด้วย เรียนไปด้วย เพื่อเลี้ยงชีพตนเองและครอบครัว จนบางครั้ง ต้องไปเบียดเบียนกับเวลาอ่านหนังสือ เพื่อเตรียมสอบ
ข้อมูลล่าสุดจาก ศูนย์ช่วยเหลือเด็กและเยาวชนในภาวะวิกฤตการศึกษา (กสศ.) พบว่า มีเด็กไทยกว่า 1.02 ล้านคน ต้องออกจากระบบการศึกษา ตัวเลขที่สูงมหาศาลนี้สะท้อนให้เห็นถึงปัญหาเชิงโครงสร้างที่ฝังรากลึกในสังคมไทย ซึ่งยิ่งทวีความรุนแรงมากขึ้นในรอบ 10 ปี โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ส่งผลกระทบอย่างหนักต่อเด็กและครอบครัวที่มีความเปราะบาง
สาเหตุหลักของปัญหานี้ส่วนหนึ่ง มาจากความยากจนและสถานะทางเศรษฐกิจของครอบครัว ทำให้หลายครอบครัวไม่มีรายได้เพียงพอที่จะรับภาระค่าใช้จ่ายด้านการศึกษา จึงต้องให้บุตรหลานออกจากโรงเรียนไปช่วยทำงานหารายได้เสริม ส่งผลให้โอกาสทางการศึกษาและการพัฒนาศักยภาพของเด็กเหล่านี้ถูกตัดขาด
เมื่อมีปัญหาด้านการเงิน ย่อมส่งผลต่อการเข้าถึงคุณภาพการศึกษา เพราะการพัฒนาการศึกษาให้มีคุณภาพและครอบคลุมทั่วประเทศ ยังคงเป็นเรื่องท้าทายสำหรับรัฐบาล เราจึงเห็นว่า เด็กที่อาศัยอยู่ในกรุงเทพฯ หรือ เมืองที่มีความเจริญแล้วมาก ๆ มีโอกาสได้รับคุณภาพการศึกษามากกว่าเด็กโรงเรียนอื่นในต่างจังหวัด
สิ่งนี้ สะท้อนให้เห็นถึงความเหลื่อมล้ำทางสังคม ที่มาในรูปแบบของการศึกษา ยิ่งคุณมีเงินมาก คุณก็จะสามารถเลือกเข้าศึกษาในโรงเรียนดี ๆ หรือลงเรียนกวดวิชา เพื่อเตรียมตัวเข้าสอบมหาวิทยาลัยอันดับต้น ๆ ของประเทศได้
---ทำอย่างไรให้คนไทยเก่งอังกฤษ---
จากบทความ “ปี 66 ไทยรั้งโหล่อาเซียน ‘ทักษะภาษาอังกฤษ’” เผยแพร่บนเว็บไซต์ The Active ของ ThaiPBS ระบุว่า Education First ได้ให้ข้อแนะนำเชิงนโยบายแก่ทางภาครัฐและหน่วยงานด้านการศึกษาที่เกี่ยวข้องไว้ ดังนี้
อ่านบทความฉบับเต็มได้ที่นี่: https://theactive.net/news/learning-education-20231128/
สร้างระบบการประเมินทักษะทางภาษาที่ครอบคลุมทั้งครูและนักเรียน เพื่อกำหนดมาตรฐานและติดตามความคืบหน้าของการเรียนรู้ได้อย่างต่อเนื่อง
ปรับระดับการสอบเข้าและสอบไล่ให้มีความเหมาะสมต่อระดับการสื่อสารที่จำเป็นในแต่ละช่วงวัยเรียนรู้
เพิ่มทักษะภาษาอังกฤษในการฝึกอบรมครูใหม่ และมีการหมั่นอบรมเพิ่มพูนทักษะการสื่อสารของครูอยู่ตลอด
ตรวจสอบมาตรฐานการสอนภาษาอังกฤษ ว่าถูกสอนด้วยคนที่สามารถสื่อสารภาษาอังกฤษได้ดี
สร้างทางเลือกให้คนวัยทำงานสามารถเข้าถึงการฝึกอบรมภาษาได้ ผ่านการให้ทุนที่เพียงพอ และสร้างหลักสูตรการเรียนรู้ตลอดชีวิต
แนวทางบางส่วน สอดคล้องกับสิ่งที่ทางกระทรวงศึกษาธิการ และ อว. ได้วางนโยบายไว้ด้วยเช่นกัน แต่ขณะเดียวกัน ก็ต้องติดตามผลกันต่อไปว่า การเดินหน้าเพื่อยกระดับภาษาอังกฤษให้กับคนในประเทศ ทางรัฐบาลจะช่วยโอบอุ้มผู้ที่ด้อยโอกาสได้ทั่วถึงแค่ไหน หรือสุดท้ายแล้ว จะเป็นการโยนภาระให้กับผู้เรียนที่ต้องดิ้นรนหาทางออกเอง เพื่อคว้าใบปริญญามา สร้างโอกาส ยกระดับชีวิตตนเองให้ดีขึ้นกว่าเดิม
แปล-เรียบเรียง: พรวษา ภักตร์ดวงจันทร์
ข้อมูลอ้างอิง:
ข่าวแนะนำ