TNN Cybersecurity ความเสี่ยงที่สร้างโอกาสลงทุน

TNN

TNN Exclusive

Cybersecurity ความเสี่ยงที่สร้างโอกาสลงทุน

Cybersecurity ความเสี่ยงที่สร้างโอกาสลงทุน

โลกกำลังก้าวสู่ยุคดิจิทัลอย่างเต็มตัว ระบบความปลอดภัยทางโลกไซเบอร์เป็นสิ่งจำเป็นอย่างมาก หลังจากที่หลายบริษัทโดนโจมตีจากไวรัสเรียกค่าไถ่จึงเป็นที่มาของเมกะเทรนด์ Cybersecurity จะเติบโตก้าวกระโดดมากแค่ไหน โดยตราวุทธิ์ เหลืองสมบูรณ์ CEO Jitta Wealth


เมื่อพูดถึง Cybersecurity (ไซเบอร์ซีเคียวริตี) คุณอาจจะยังเห็นภาพไม่ชัดเจนนัก หลายๆ คนคิดว่าเป็นเรื่องไกลตัว แต่รู้หรือไม่ว่า เทคโนโลยีนี้อยู่ใกล้คุณมากกว่าที่คิด แม้กระทั่งแพลตฟอร์มที่คุณใช้งานอยู่ทุกๆ วัน ซอฟต์แวร์ต่างๆ ที่คุณใช้งานอยู่ในองค์กร มีการติดตั้งระบบไซเบอร์ซีเคียวริตีไว้แล้ว


การก่ออาชญากรรมทางไซเบอร์ (Cybercriminal) ทุกวันนี้เพิ่มขึ้นอย่างมาก และมีรูปแบบการโจมตีที่หลากหลาย เช่น การจ้างแฮกเกอร์เพื่อเจาะข้อมูลสำคัญ การปรับเปลี่ยนข้อมูลในระบบ การเจาะระบบบัญชีโซเชียลมีเดีย และการสร้างไวรัสเพื่อเรียกค่าตอบแทน อย่างการฝังแรนซอมแวร์ในเครือข่ายองค์กร เพื่อขัดขวางขั้นตอนการทำงาน


บริษัทเทคโนโลยีทั่วโลกพยายามคิดค้นวิธีการป้องกันการโจมตีทางไซเบอร์ ด้วยระบบต่างๆ และนั่นทำให้เกิดการพัฒนาเทคโนโลยีไซเบอร์ซีเคียวริตีขึ้น เพื่อช่วยลดความเสี่ยงจากการโจมตีทางไซเบอร์ ทั้งสำหรับองค์กรและบุคคลทั่วไป 


การโจมตีทางไซเบอร์ในองค์กรจะส่งผลให้ได้รับความเสียหายอย่างรุนแรง ผู้ที่ตกเป็นเป้าหมายของอาชญากรรมทางไซเบอร์จะทำให้มีความเสี่ยงหลายๆ ด้าน เช่น การเงิน ข้อมูลที่ละเอียดอ่อน ต้นทุนเพื่อกู้คืนข้อมูล และชื่อเสียงด้านความปลอดภัย


รายงานของ Accenture บริษัทที่ปรึกษาด้านเทคโนโลยีและธุรกิจ ระบุว่า 4,744 บริษัทใน 18 ประเทศ ถูกโจมตีทางไซเบอร์เพิ่มขึ้นเฉลี่ยจาก 206 ครั้งในปี 2563 เป็น 270 ครั้งในปี 2564 หรือถูกโจมตีมากขึ้น +31% โดยช่องโหว่ที่ใหญ่ที่สุดคือ การเข้าถึงข้อมูลจากแอปพลิเคชัน ข้อมูลผู้ใช้งาน และอุปกรณ์ IT บนเครือข่ายปิดของบริษัทโดยไม่ได้รับอนุญาต


นี่เป็นข้อบ่งชี้ว่า การโจมตีทางไซเบอร์เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง สร้างความเสียหายให้แก่บริษัทและองค์กรทั่วโลกจำนวนมาก จากสถิติพบว่า บริษัทต่างๆ สูญเสียเงินประมาณ 8,500 ดอลลาร์สหรัฐต่อชั่วโมง เพราะโดนโจมตีจากไวรัสเรียกค่าไถ่ 


ดังนั้นอุตสาหกรรมไซเบอร์ซีเคียวริตีเติบโตตามปริมาณข้อมูลบนโลกดิจิทัล ยิ่งข้อมูลที่อยู่บนโลกดิจิทัลเพิ่มขึ้นมากขึ้นตลอด เทคโนโลยีไซเบอร์ซีเคียวริตียิ่งจำเป็นต้องพัฒนาเทคโนโลยีให้แข็งแกร่ง เท่าทันกลโกง และไร้ช่องโหว่มากที่สุด 


จากงานวิจัยของ Domo ผู้ให้บริการระบบคลาวด์และดาต้า อนาไลติกส์ พบว่า โลกสร้างข้อมูลดิจิทัลใหม่เทียบเท่ากับความจุ 25 ควินทะไบต์ (25,000 ล้านกิกะไบต์) ต่อวันในปี 2563 ดังนั้นเทคโนโลยีไซเบอร์ซีเคียวริตี จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งยวด 


มูลค่าตลาดไซเบอร์ซีเคียวริตี ทั้งฮาร์ดแวร์ ซอฟต์แวร์ และการให้บริการ IT อยู่ที่ 133,100 ล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2564 คาดการณ์ว่า จะเติบโตเป็น 211,700 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ในปี 2569 คิดเป็นอัตราการเติบโตเฉลี่ย +9.7% ต่อปีในช่วง 5 ปีข้างหน้า


ด้วยอัตราการเติบโตที่รวดเร็วทำให้ ‘หุ้น Cybersecurity’ ได้รับความสนใจจากนักลงทุนทั่วโลก เหมือนเป็นแขนงย่อยๆ ของเทคโนโลยีใหม่ๆ เป็นเมกะเทรนด์ที่น่าสนใจ และมีโอกาสเติบโต


ทางเลือกการลงทุนที่กระจายความเสี่ยงใน ‘หุ้น Cybersecurity’ อย่าง First Trust Nasdaq Cybersecurity ETF ที่เราจะพาคุณไปเจาะลึกว่า Thematuc ETF กองนี้ว่ามีความน่าสนใจอย่างไร และลงทุนในบริษัทด้านไซเบอร์ซีเคียวริตีอะไรบ้าง


 หุ้น Cybersecurity’ ต้องลงทุนใน CIBR


CIBR เป็น Passive ETF ที่ลงทุนให้ผลตอบแทนไปตามดัชนีอ้างอิง Nasdaq CTA Cybersecurity Index รวบรวมบริษัทวิจัย พัฒนา ให้บริการ และบริหารจัดการระบบไซเบอร์ซีเคียวริตีมากกว่า 40 บริษัท บริษัทต่างๆ จะมีบทบาทในอุตสาหกรรมซเบอร์ซีเคียวริตี โดยสามารถแยกรูปแบบธุรกิจออกมาได้ 5 แบบ ประกอบไปด้วย

1.    ซอฟต์แวร์ (Software) 

2.    บริการ IT (IT Services)

3.    อุปกรณ์สื่อสาร (Communications Equipment)

4.    บริการมืออาชีพ (Professional Services)

5.    ยุทโธปกรณ์การรบ (Aerospace & Defense)


‘หุ้น Cybersecurity’ คือเมกะเทรนด์และโอกาสเติบโต เมื่อผู้ใช้งานทั่วโลกเลือกจะเก็บข้อมูลไว้บนโลกดิจิทัล เรียกดูข้อมูลจากระบบคลาวด์ และทุกองค์กรจำเป็นต้องมีระบบไซเบอร์ซีเคียวริตีไว้ป้องกันการโจรกรรมต่างๆ เปรียบเหมือนติดตั้งกล้องวงจรปิดและสัญญาณกันขโมยให้ระบบดิจิทัลนั่นเอง


CIBR เป็นทางเลือกลงทุนที่น่าสนใจ ซึ่งเป็น Thematic ETF ที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรม ไซเบอร์ซีเคียวริตีที่มูลค่า AUM (Assets Under Management) ใหญ่ที่สุด โดยมีรายละเอียดต่างๆ ที่คุณควรรู้ ดังนี้


    มูลค่า AUM ประมาณ 6,028 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ณ 24 มีนาคม 2565

    ค่า Expense Ratio ที่ 0.60%

    ETF จัดตั้งเมื่อ 7 กรกฎาคม 2558


นอกจากนี้ CIBR ยังมีเกณฑ์การคัดเลือก ‘หุ้น Cybersecurity’ ไว้ใน ETF โดยมีเกณฑ์ดังนี้

    มาร์เก็ตแคปไม่ต่ำกว่า 250 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

    ปริมาณการซื้อขายเฉลี่ยต่อวัน อย่างน้อย 1 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ใน 3 เดือน

    สัดส่วนผู้ถือหุ้นรายย่อย (Free Float) อย่างน้อย 20% ขึ้นไป


อย่างไรก็ตาม ธุรกิจที่มีสัดส่วนการลงทุนใน CIBR มากที่สุด คือ ธุรกิจซอฟต์แวร์ (Software) ที่มีสัดส่วนการลงทุนสูงถึง 60% ทำให้ 5 ‘หุ้น Cybersecurity’ ที่ CIBR ลงทุนสูงสุดเป็นบริษัทที่เกี่ยวข้องกับซอฟต์แวร์ทั้งหมด


Cybersecurity ความเสี่ยงที่สร้างโอกาสลงทุน

CrowdStrike Holdings  บริษัทผู้นำด้าน Endpoint Security Protection (การรักษาความปลอดภัยปลายทาง) ผู้สร้างระบบ AI ป้องกันภัยคุกคามและการโจมตีในโลกไซเบอร์ให้อุปกรณ์ปลายทาง เช่น คอมพิวเตอร์ เซิร์ฟเวอร์ และสมาร์ตโฟน 


โดย CrowdStrike ได้นำเอาจุดเด่นของเทคโนโลยีคลาวด์และ AI มาผสมเข้าด้วยกัน เกิดเป็นระบบ Cloud-delivered Endpoint Security Protection ซึ่งรองรับการใช้งานในองค์กรได้ทุกประเภท  CrowdStrike เป็นบริษัทให้บริการไซเบอร์ซีเคียวริตีที่ได้รับความไว้วางใจจากองค์กรทั่วโลก มาร์เก็ตแคปประมาณ 50,600 ล้านดอลลาร์สหรัฐ 


Palo Alto Networks  บริษัทผู้นำด้านไซเบอร์ซีเคียวริตี โดยมีลูกค้ามากกว่า 10,000 องค์กรทั่วโลก ให้บริการ Security Operating Platform และได้พัฒนาระบบต่างๆ ประกอบไปด้วย ระบบความปลอดภัย (Security) ระบบอัตโนมัติ (Automation) และระบบวิเคราะห์ข้อมูล (Analytics) เพื่อการป้องกันแบบครบวงจรรวมไปถึงทุกอุปกรณ์ที่เก็บข้อมูล Palo Alto Networks มีธุรกิจในหลายๆ ประเทศทั่วโลก ได้รับความไว้วางใจจากองค์กรขนาดใหญ่ มาร์เก็ตแคปประมาณ 59,500 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

 Cloudflare  เครือข่ายระดับโลกที่ออกแบบมาเพื่อให้ทุกสิ่งที่คุณเชื่อมต่อกับอินเทอร์เน็ตมีความปลอดภัย เป็นส่วนตัว รวดเร็วและเชื่อถือได้ Cloudflare ได้สร้างระบบรักษาความปลอดภัยในทุกองค์ประกอบของเครือข่าย ซึ่งตามสถิติจาก Cloudflare รายงานว่า มีภัยคุกคามมากกว่า 70,000 ล้านเคสต่อวัน ซึ่ง Cloudflare มั่นใจว่า ช่วยปกป้องได้อย่างสมบูรณ์

Cloudflare ให้บริการเครือข่ายที่ครอบคลุมองค์กรทั่วโลก และปรับเครือข่ายให้ใช้งานง่ายและพัฒนาระบบอย่างต่อเนื่อง มาร์เก็ตแคปประมาณ 38,100 ล้านดอลลาร์สหรัฐ 


Cisco Systemsบริษัทเทคโนโลยีสัญชาติอเมริกัน ผู้พัฒนา ผลิต และจำหน่ายฮาร์ดแวร์ ซอฟต์แวร์ อุปกรณ์โทรคมนาคม และให้บริการและเทคโนโลยีชั้นสูงอื่นๆ Cisco Systems เชี่ยวชาญในตลาดเทคโนโลยีหลายๆ แขนงย่อย เช่น Internet of Things (IoT) และ Cybersecurity นอกจากนี้ยังเป็นบริษัทเทคโนโลยีสารสนเทศรายใหญ่ที่สุดในโลก


Cisco Systems ได้เข้าซื้อและลงทุนกิจการที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีสารสนเทศมากมาย เช่น Sourcefire หรือ VeloCloud เพื่อพัฒนาเทคโนโลยีต่างๆ ให้ทันสมัยและมีความปลอดภัยอยู่เสมอ มาร์เก็ตแคปประมาณ 226,300 ล้านดอลลาร์สหรัฐ


Zscaler  บริษัทคลาวด์ Security-as-a-Service (SaaS) ที่ให้บริการไซเบอร์ซีเคียวริตีแก่ผู้ใช้งาน ระบบจะช่วยรักษาและป้องกันข้อมูล โดยการกรอง URL และ DNS นอกจากนี้ระบบของ Zscaler ประกอบไปด้วยไฟร์วอลล์ ระบบการควบคุมแอปพลิเคชันบนคลาวด์ และโปรแกรมป้องกันไวรัส ซึ่งภัยคุกคามใดๆ ที่ตรวจพบโดยผู้ใช้ใดๆ ก็ตามจะถูกบล็อกโดยอัตโนมัติสำหรับลูกค้าทั้งหมด


Zscaler มีผู้ใช้บริการมากกว่า 5,600 องค์กรและมีอัตราการเติบโตของผู้ใช้งานสูงถึง +25% ต่อปีจากรายงานของ Forbes Global 2000 มีมาร์เก็ตแคปประมาณ 32,900 ล้านดอลลาร์สหรัฐ


นี่คือ 5 ‘หุ้น Cybersecurity’ ที่เราผ่าไส้ใน CIBR มาให้คุณทำความรู้จัก โดยมีสัดส่วนการลงทุนรวมกันเกือบ 30% ของมูลค่า AUM 


ทั้งนี้แม้ว่าผลประกอบการของบางบริษัทขาดทุนสุทธิ ซึ่งเกิดขึ้นได้ในบริษัทที่พัฒนาเทคโนโลยีใหม่ๆ เนื่องจากธุรกิจไซเบอร์ซีเคียวริตียังอยู่ขั้นเริ่มต้น และอาศัยการพัฒนาให้เท่าทันภัยในโลกไซเบอร์ จำเป็นต้องลงทุนสูงในการสร้างระบบและโครงสร้างพื้นฐาน เพื่อให้มีความเสถียรภาพและปลอดภัยอยู่เสมอ


อย่างไรก็ตาม กำไรขั้นต้นของทั้ง 5 บริษัทมีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง บางบริษัทมีการเติบโตสูงตัวเลข 2 หลัก แสดงให้เห็นถึงความแข็งแกร่งของธุรกิจ เพียงแต่เมื่อมีบันทึกค่าใช้จ่ายในการขายและบริหาร ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่าย และรายได้จากการดำเนินงาน อาจจะมีผลทำให้แต่ละบริษัทแสดงผลขาดทุนสุทธิออกมา  


เมื่อข้อมูลของผู้ใช้งานเทคโนโลยีทั่วโลก ไหลเวียนมหาศาล ระบบไซเบอร์ซีเคียวริตีที่มีความปลอดภัยและแข็งแกร่งมีความจำเป็นมาก เมื่อถึงจุดที่ทั้งโลกหันมาใช้ระบบคลาวด์เต็มรูปแบบ และเก็บข้อมูลทุกอย่างไว้บนโลกดิจิทัล จะผลักดันให้บริษัทที่ทำธุรกิจด้านไซเบอร์ซีเครียวริตีเติบโตได้อีกไกลและยาวนาน ทั้งหมดนี้คือเหตุผลที่ทำให้ไซเบอร์ซีเคียวริตีกลายเป็นเมกะเทรนด์ของโลก


ที่มา  บลจ.จิตตะเวลธ์

ภาพประกอบ  บลจ.จิตตะเวลธ์ 

ข่าวแนะนำ