TNN เช็กลิสต์ 7 ข้อมูล ยื่นภาษี ออนไลน์ ฉบับแม่ค้า-พ่อค้าออนไลน์ต้องรู้!!

TNN

TNN Exclusive

เช็กลิสต์ 7 ข้อมูล ยื่นภาษี ออนไลน์ ฉบับแม่ค้า-พ่อค้าออนไลน์ต้องรู้!!

เช็กลิสต์ 7 ข้อมูล ยื่นภาษี ออนไลน์ ฉบับแม่ค้า-พ่อค้าออนไลน์ต้องรู้!!

เปิดข้อมูลยื่นภาษีจากการขายของออนไลน์ ที่พ่อค้า-แม่ค้าออนไลน์ต้องรู้ก่อนยื่นภาษี พร้อมวิธีคำนวณภาษีแบบบุคคลธรรมดา และ ภาษีเงินได้นิติบุคคลเบื้องต้น เพื่อประเมินค่าใช้จ่ายก่อนเสียภาษีประจำปี

ต้อมยอมรับว่าด้วยสถานการณ์ดควิด-19 ที่ต่อเนื่องยาวนานมากว่า 2 ปี นี้ ทำให้หลายคนผันตัวมาเป็นพ่อค้า แม่ค้าออนไลน์กันมากขึ้น ประกอบกับพฤติกรรมของผู้บริโภค รวมถึงเทคโนโลยี ระบบธุรกรรมออนไลน์ที่สะดวก และปลอดภัยมากยิ่งขึ้น ทำให้ผู้บริโภคเองก็มั่นใจที่จะใช้จ่ายและซื้อสินค้าผ่านออนไลน์กันมากขึ้นกว่าแต่ก่อน   

แน่นอนว่าสิ่งที่บรรดาผู้ประกอบการ พ่อค้า แม่ค้าออนไลน์ จะลืมไม่ได้เลยคือการ ยื่นภาษี เพราะหากมีรายได้ถึงเกณฑ์ที่กำหนด ก็จะต้องยื่นแบบฯ ภาษี และเสียภาษีให้ถูกต้องตามกฎหมาย  เพื่อช่วยเตรียมความพร้อม และวางแผนการเสียภาษีจากการขายสินค้าออนไลน์  TNN Online จึงได้นำข้อมูลพื้นฐานเกี่ยวกับภาษีออนไลน์  ที่พ่อค้า แม่ค้าออนไลน์ จำเป็นต้องรู้มาฝากกัน 

1.รายได้จากขายของออนไลน์ ยื่นแบบฯภาษี ได้ 2 ประเภท 

โดยการยื่นภาษีของพ่อค้า แม่ค้าออนไลน์จะแบ่งตามรูปแบบธุรกิจ แล้วแต่ว่าจดทะเบียนในรูปแบบไหน รายได้หรือขนาดธุรกิจที่ทำ ได้แก่ 

  •  ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา กรณีเป็นพ่อค้าแม่ค้าที่ไม่ได้จดทะเบียนเป็นนิติบุคคล ซึ่งมีวิธีการคำนวณ 2 แบบ 

ตัวอย่างวิธีการคำนวณภาษี   
 (รายได้ – ค่าใช้จ่าย – ค่าลดหย่อน) x อัตราภาษี = ภาษีที่ต้องจ่าย วิธีนี้สำหรับรายได้ที่ไม่ถึง 1 ล้านบาทต่อปี

  รายได้ x 0.5% วิธีนี้จะใช้สำหรับรายได้ที่เกิน 1 ล้านบาทต่อปี

  แล้วนำทั้ง 2 แบบมาเปรียบเทียบ แบบไหนได้ตัวเลขมากกว่าให้ใช้แบบนั้นยื่นภาษี

  • ภาษีเงินได้นิติบุคคล กรณีที่ร้านค้าออนไลน์ ที่มีการจดทะเบียนเป็นบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล 
    ตัวอย่างวิธีการคำนวณภาษี
     (รายได้ – ค่าใช้จ่าย) = กำไรสุทธิ แล้วนำกำไรสุทธิที่ได้มาคิดภาษีตามอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคล

เช็กลิสต์ 7 ข้อมูล ยื่นภาษี ออนไลน์ ฉบับแม่ค้า-พ่อค้าออนไลน์ต้องรู้!! ภาพประกอบ : AFP 

2. ภาษีมูลค่าเพิ่ม ผู้มีรายได้ ไม่ว่าจะในรูปแบบร้านค้า หรือบริษัทห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล ต้องจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มเมื่อมีรายได้เกิน 1.8 ล้านบาทต่อปี โดยผู้ประการต้องจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม ภายในไม่เกิน 30 วัน นับจากวันที่มีรายได้เกิน 1.8 ล้านบาท และนำส่งภาษีมูลค่าเพิ่มทุกๆ เดือน นับตั้งแต่วันที่ยื่นจดทะเบียนเป็นต้นไป

3. ภาษี E-PAYMENT เป็นการส่งข้อมูลยอดเงินของเจ้าของบัญชีเงินฝากธนาคารที่เปิดทั้งในรูปแบบบุคคลธรรมดา และนิติบุคคล ให้แก่สรรพากร โดยมีเงื่อนไขในการส่งข้อมูลให้สรรพากร คือ

  • มีเงินเข้าบัญชี 3,000 ครั้งต่อปี ไม่ดูจำนวนเงิน
  • มีเงินเข้าบัญชี 400 ครั้งต่อปี และ จำนวนเงิน (นับเฉพาะฝั่งเงินรับฝากเข้า) รวมเกิน 2 ล้านบาท

ดังนั้น ธนาคารจำเป็นต้องส่งข้อมูลให้กับกรมสรรพากร หากบัญชีมีเงินเข้าบัญชีตามเงื่อนไขดังที่กล่าวไปแล้วข้อใดข้อหนึ่ง ในทางกฎหมาย ซึ่งพ่อค้าแม่ค้าออนไลน์ต้องเตรียมรับมือกับข้อมูลรายได้ที่อาจถูกธนาคารส่งให้กับสรรพากรด้วย

4. การยื่นภาษี เมื่อถึงกำหนดยื่นภาษี 

ไม่ว่าจะเป็นบุคคลธรรมดา ร้านค้า หรือบริษัทห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลต่างๆ ที่ค้าขายออนไลน์ จะต้อง ยื่นภาษี ซึ่งกำหนดยื่นภาษีแตกต่างกันดังนี้

  • ภาษีบุคคลธรรมดา รายได้จากการขายของออนไลน์นี้จะถูกจัดอยู่ในเงินได้ประเภทที่ 8 (40(8)) คือเงินจากการค้าขาย โดยจะต้องยื่นภาษี 2 ช่วงด้วยกันคือ

- ยื่นภาษีครึ่งปี (ภ.ง.ด.94) ช่วงเดือนกรกฎาคม-กันยายนเป็นการยื่นภาษีกลางปีเพื่อสรุปรายได้ที่เกิดขึ้นในช่วงครึ่งปีภาษีแรกที่ผ่านมา โดยค่าลดหย่อนบางรายการจะถูกหักเหลือครึ่งหนึ่งด้วย เช่น ค่าลดหย่อนส่วนตัว

- ยื่นภาษีสิ้นปี (ภ.ง.ด.90) ช่วงเดือนมกราคม-มีนาคมของปีถัดไป เป็นการสรุปรายได้ทั้งหมดตลอดทั้งปีที่ผ่านมา

  • ภาษีนิติบุคคล เป็นภาษีจากกำไรสุทธิที่บริษัทห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลมีหน้าที่ต้องจ่ายหากเข้าเกณฑ์กำหนด โดยจะต้องยื่นภาษี 2 ช่วง คือ

- ยื่นรอบครึ่งปี (ภ.ง.ด.51) โดยต้องยื่นและชำระภาษีภายใน 2 เดือนนับจากวันสุดท้ายของ 6 เดือนแรกของรอบระยะเวลาบัญชี

- ยื่นรอบสิ้นปี (ภ.ง.ด.50) โดยต้องยื่นแบบและชำระภาษีภายใน 150 วันนับจากวันสุดท้ายของรอบระยะเวลาบัญชี

5. จดทะเบียนพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์หากเข้าเงื่อนไขที่กำหนด

โดยทะเบียนพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ เป็นการจดทะเบียนสำหรับบุคคลธรรมดา และนิติบุคคลที่ทำธุรกิจออนไลน์และมีเงื่อนไขเข้าตามที่กฎหมายกำหนด ซึ่งกลุ่มกิจการที่ต้องจดทะเบียนพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ ได้แก่  

  • การซื้อขายสินค้าหรือบริการโดยวิธีการผ่านอินเทอร์เน็ตหรือแพลตฟอร์มออนไลน์ (ร้านค้าออนไลน์)
  • การให้บริการอินเทอร์เน็ต (ISP)
  • ธุรกิจให้บริการ Web Hosting
  • ธุรกิจแหล่งตัวกลางขายสินค้าและบริการ (E-Marketplace)

เช็กลิสต์ 7 ข้อมูล ยื่นภาษี ออนไลน์ ฉบับแม่ค้า-พ่อค้าออนไลน์ต้องรู้!!

ภาพประกอบ : AFP

6. จัดทำบัญชีธุรกิจ

สิ่งที่สำคัญไม่ว่าจะเป็นธุรกิจรูปแบบไหนก็ตาม เชื่อว่าจะต้องมีการทำบัญชีเพื่อให้ทราบรายรับรายจ่ายของธุรกิจ แต่สิ่งที่สำคัญก็คือ ควรแยกบัญชีธุรกิจออกจากบัญชีส่วนตัว เพื่อให้ง่ายต่อการ ยื่นภาษี  โดยหากเป็นร้านค้าที่เป็นบุคคลธรรมดา รายรับรายจ่ายส่วนตัวที่ไม่เกี่ยวกับธุรกิจ ควรแยกบัญชีออกมาอีกบัญชี ส่วนนิติบุคคล ควรเปิดบัญชีธนาคารในชื่อบริษัท เพื่อใช้เป็นบัญชีหลักในการนำเงินที่เกิดจากการขายของออนไลน์ฝาก-ถอน ให้เป็นกิจจะลักษณะ  นอกจากจะง่ายต่อการยื่นภาษีแล้ว และยังเพิ่มความน่าเชื่อถือให้กับบริษัทอีกด้วย 

7. เก็บเอกสารที่จำเป็นต่อการยื่นภาษี ร่วมกับทำบัญชีรายรับรายจ่าย

ในการค้าขายออนไลน์ ควรขอใบเสร็จรับเงิน/ใบกำกับภาษีทุกครั้ง และเก็บเอกสารให้ครบถ้วน เพื่อเป็นหลักฐานในการยื่นสรรพากร หรือเมื่อถูกสรรพากรเรียกตรวจสอบ ก็สามารถแสดงหลักฐานต่างๆ ได้ครบตามที่ยื่นภาษี  แนะนำว่าให้ทำบัญชีรายรับรายจ่ายอย่างสม่ำเสมอ โดยเฉพาะบุคคลธรรมดา ควรทำบัญชีรายรับรายจ่ายไว้โดยตลอด เพื่อให้ทราบรายละเอียดรายได้-รายจ่ายอย่างถูกต้องครบถ้วน  ส่วนนิติบุคคล จะต้องมีการทำบัญชีและสรุปภาษี เพื่อบันทึกรายการซื้อ-ขาย  รวมทั้งสรุปผล จัดทำงบการเงินประจำปี เตรียมพร้อมสำหรับนำส่งกรมพัฒนาธุรกิจการค้าและกรมสรรพากรเมื่อถึงกำหนด เพื่อป้องกันกรณีอาจถูกตรวจสอบย้อนหลัง  

เช็กลิสต์ 7 ข้อมูล ยื่นภาษี ออนไลน์ ฉบับแม่ค้า-พ่อค้าออนไลน์ต้องรู้!!

ภาพประกอบ : TNN Online

เมื่อรู้อย่างนี้แล้ว พ่อค้าแม่ค้าออนไลน์ก็เตรียมตัววางแผนภาษีได้ตั้งแต่เนิ่นๆ เมื่อถึงกำหนดจะได้ไม่ฉุกละหุก รวมทั้งป้องกันการเสียค่าปรับ และเงินเพิ่มกรณียื่นภาษีไม่ครบถ้วน ไม่ถูกต้อง ขณะเดียวกันปัจจุบันการยื่นภาษี สามารถยื่นได้ผ่านระบบออนไลน์ ไม่จำเป็นต้องเดินทางไปยังสำนักงานสรรพากรก็ยื่นได้ทุกที่ ทุกเวลา และยังได้รับเงินคืนภาษีรวดเร็วผ่านบัญชีพร้อมเพย์ ซึ่งก็ตอบโจทย์พฤติกรรมและสถานการณ์ปัจจุบันที่ยังต้องกังวลต่อการแพร่ระบาดของโควิด-19 ด้วย 


อ้างอิง : กรมสรรพากร 

ภาพประกอบ : TNN Online ,AFP

ข่าวแนะนำ