นอกจากลำพูนจะเป็นจังหวัดที่ถูกจับตาในการเลือกตั้งนายก อบจ. เพราะพรรคประชาชนสามารถคว้าชัยชนะที่ได้เพียงที่เดียว ลำพูนยังเป็นจังหวัดที่ครองแชมป์ผู้มาเลือกตั้งมากที่สุด สูงสุดเป็นอันดับ 1 เกินร้อยละ 73 ทั้ง ส.อบจ.และนายก อบจ.
โดยถือว่าสูงกว่าเป้าที่จังหวัดลำพูนตั้งไว้ว่าจะมีผู้ออกมาใช้สิทธิ์เกิน 70 % และถือว่าเยอะกว่าค่าเฉลี่ยคนมาเลือกตั้งทั้งประเทศที่อยู่ที่ 58.45%
แต่นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่ชาวลำพูนออกมาใช้สิทธิ์มากที่สุด แต่ลำพูนคว้าแชมป์มาแล้ว 14 สมัยซ้อน กับการเป็นจังหวัดที่มีผู้มาใช้สิทธิเลือกตั้งมากที่สุดของประเทศ ซึ่งการเลือกตั้ง อบจ.ครั้งนี้ ทำให้จังหวัดเล็กๆ ทางภาคเหนือแห่งนี้ ครองแชมป์อีกเป็นครั้งที่ 15
โดยหากไปดูสถิติการมาใช้สิทธิในการเลือกตั้ง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ.2566 ชาวลำพูนออกมาใช้สิทธิมากถึง 86.13% ซึ่งเป็นตัวเลขที่ค่อนข้างสูง และสะท้อนการตื่นตัวของชาวลำพูนได้ดี
สรุปข่าว
ทำไมชาวลำพูนตื่นตัวทางการเมือง
แล้วทำไมชาวลำพูนถึงตื่นตัว และมีเปอร์เซ็นต์การใช้สิทธิที่สูงเสมอ ?
รองศาสตราจารย์ ยุทธพร อิสรชัย อดีตรองอธิการบดี มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช ให้สัมภาษณ์กับ TNN Online ว่า ที่ผ่านมา ไม่ว่าจะการลงประชามติ การเลือก ส.ส. หรือ อบจ. ลำพูนได้แชมป์มาตลอด สะท้อนให้เห็นว่า การตื่นตัวทางการเมืองของคนลำพูนมีอยู่อย่างต่อเนื่อง
อาจารย์ยังมองว่า ปัจจัยสำคัญคือ ภูมิรัฐศาสตร์ของลำพูน “ในลักษณะภูมิรัฐศาสตร์ ลำพูนมีพื้นที่ติดกับเชียงใหม่ มีการเดินทางที่ใกล้กันมาก ณ วันนี้ ความเจริญจากเชียงใหม่ ขยายตัวมาสู่ลำพูน หรือที่เรียกว่า ‘Urbanization’ มีกระบวนการความเป็นเมืองเห็นได้ชัด ทำให้เกิดชนชั้นกลาง เกิดคนรุ่นใหม่ เกิดความตื่นตัวมากขึ้น” อาจารย์ชี้ว่าในขณะเดียวกัน พื้นที่รอบนอกก็ยังมีชนชาติพันธุ์ มีความหลากหลาย จึงไม่น่าแปลกใจที่ลำพูนมักจะได้แชมป์
ความเป็นจังหวัดเล็ก และประชากรศาสตร์ไม่ซับซ้อนก็เป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่อาจารย์มอง
“ด้วยความที่เป็นจังหวัดเล็ก ลักษณะประชากรศาสตร์ไม่ซับซ้อนมาก ทำให้ผู้คนเป็นที่รู้จักมักคุ้นกัน ขั้นตอนนี้เป็นส่วนสำคัญในการไปเอาคะแนนเสียงออกมาสนุบสนุนการเลือกตั้งง่ายด้วย ถ้าผู้สมัครสามารถเจาะไปในพื้นที่ฐานเสียงหลักๆ ก็มีโอกาสได้รับการโหวตจากประชาชน”
กลไกทางสังคม และวัฒนธรรมการมีส่วนร่วมของคนลำพูน
รายงานเรื่องพฤติกรรมการใช้สิทธิเลือกตั้งของประชาชนในจังหวัดลำพูน ที่เผยแพร่เมื่อปี 2560 ระบุว่า ‘ปัจจัยด้านวัฒนธรรมพื้นฐานของบุคคลในสังคม นิสัยใจคอ การกล่อมเกลาทางสังคม ความซื่อสัตย์ ความนอบน้อม ความเป็นกันเอง การอยู่กันเป็นกลุ่มก้อน และยอมรับความคิดของกลุ่ม การรักษาศักดิ์ศรีชาวลำพูน
มีความภาคภูมิใจและต้องการรักษาแชมป์จังหวัดที่มีผู้ไปใช้สิทธิเลือกตั้งมากที่สุด การตำหนิผู้ไม่ไปใช้สิทธิ ซึ่งเป็นมาตรการบังคับทางสังคม และความรู้สึกละอายเมื่อตนไม่ไปใช้สิทธิ สิ่งเหล่านี้เป็นปัจจัยที่สำคัญ’
ในมุมนี้เอง อาจารย์ยุทธพรเองเห็นด้วยกับรายงานข้างต้น ทั้งมองว่า “ด้วยความที่คนลำพูนมีวัฒนธรรมทางการเมืองที่มีส่วนร่วมสูง การตำหนิติติง หรือใช้กลไกลทางสังคมมาควบคุมเป็นไปได้ และผมว่ามีน้ำหนักกว่ากฎหมาย ในสังคมซึ่งไม่ได้มีความเป็นเมืองมากนัก
และเราจะเห็นได้ว่า social sanction หรือการตรวจสอบของภาคประชาสังคม คือหัวใจหลักของการทำงานของ กกต. แต่วันนี้กลายเป็น กกต.ไปทำงานโดยยึดแค่กฎหมาย หรือการใช้เจ้าหน้าที่รัฐ ซึ่งไม่พอ หัวใจสำคัญของการเลือกตั้ง ต้องร่วมมือกับภาคประชาสังคมด้วย ซึ่งก็สอดคล้องกับงานวิจัยว่าภาคประชาสังคมช่วยสอดส่อง ตำหนิติติง ผลักดัน หรือแม้แต่มาร่วมตรวจสอบการเลือกตั้ง อย่างในจังหวัดลำพูน” อาจารย์สรุป
อาจารย์ยังชี้ว่า การโปรโมทการเลือกตั้ง และชักชวนคนไปสิทธิอย่างที่ราชการทำไม่ได้ผล
“สิ่งที่จะทำให้คนสนใจต่อการเลือกตั้ง คือเลือกแล้ว ได้สร้างความเปลี่ยนแปลงอะไรได้มากน้อยแค่ไหน ถ้าเลือกไปแล้วไม่สร้างความเปลี่ยนแปลง คนก็จะรู้สึกถึงการไม่มีสมรรถนะทางการเมือง คือไม่ได้รู้สึกว่า เลือกไปแล้วทำให้อะไรดีขึ้น หรือเสียงประชาชนได้รับการตอบสนอง” ซึ่งในมุมนี้ อาจารย์สะท้อนต่อว่า ทำให้การเลือกตั้งครั้งนี้ เราเห็นการโหวตโน เพิ่มขึ้นมาอย่างมีนัยยะ
“ตัวเลขสะท้อนให้เห็นภาพว่า ประชาชนก็ปรับเปลี่ยนยุทธศาสตร์ในการลงคะแนนเสียงเหมือนกัน ถ้าในเมื่อเขาไม่มีตัวเลือก เขาก็อาจไปแสดงออกในช่องทางเหล่านี้ คือโหวตโน หรือบัตรเสีย ในขณะเดียวกัน กฎหมายก็เอื้ออำนวย เพราะว่าใครที่ได้คะแนนเสียงน้อยกว่าโหวตโน ก็ต้องเลือกตั้งใหม่ แสดงว่านี่คือเครื่องมือของประชาชนที่ผมคิดว่าประชาชนก็เปลี่ยนยุทธศาสตร์ในการเลือกเหมือนกัน” อาจารย์สรุป