เรื่องเศร้าของวงการบันเทิงไต้หวันและแฟนซีรีส์ เมื่อมีรายงานข่าวการเสียชีวิตของ สวีซีหยวน หรือ ต้าเอส นักแสดงชื่อดังที่เคยรับบท ซันไช่ จากซีรีส์ รักใสใส หัวใจสี่ดวง ที่ติดเชื้อไข้หวัดใหญ่เมื่อช่วงวันตรุษจีนที่ผ่านมา ทำให้มีอาการปอดบวม ก่อนที่จะเสียชีวิตลง ขณะมีอายุได้ 48 ปี
สรุปข่าว
โรงพยาบาลพญาไท 2 ได้ให้ข้อมูลเกี่ยวกับโรคปอดอักเสบ (Pneumonia) หรือปอดบวม เป็นโรคที่เกิดจากการอักเสบของเนื้อปอดจากการติดเชื้อ เช่น เชื้อไวรัส แบคทีเรีย หรือเชื้อรา ผู้ป่วยมักมีอาการแบบเฉียบพลัน ซึ่งหากมีการลุกลามของเชื้อที่รุนแรงอาจนำไปสู่ภาวะแทรกซ้อนที่อันตราย เช่น ติดเชื้อในกระแสเลือด เยื่อหุ้มสมองอักเสบ ซึ่งทำให้พิการหรือการเสียชีวิตได้ ทั้งนี้ เราสามารถป้องกันและลดความเสี่ยงทั้งการติดเชื้อและการเกิดภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรงได้ด้วยการฉีดวัคซีน
สาเหตุของการเกิดโรคปอดอักเสบ
โรคปอดอักเสบเกิดได้จากหลายสาเหตุ เช่น
1. เกิดจากการติดเชื้อ
- เชื้อไวรัส เช่น ไวรัสอินฟลูเอนซา (Influenza) ที่ทำให้เกิดโรคไข้หวัดใหญ่ หรือ RSV (Respiratory Syncytial Virus) รวมถึงโคโรนาไวรัส (COVID-19)
- เชื้อแบคทีเรีย เช่น นิวโมคอคคัส (Streptococcus pneumoniae) เป็นเชื้อแบคทีเรียที่พบบ่อยที่สุดในการทำให้เกิดโรคปอดอักเสบชนิดเฉียบพลัน เพราะโดยปกติแล้ว ทุกคนจะมีเชื้อนี้อยู่ในโพรงจมูกและลำคอ แต่มักไม่ก่อให้เกิดโรค ต่อเมื่อร่างกายอ่อนแอหรือมีภูมิคุ้มกันต่ำลงจากสาเหตุต่างๆ เช่น มีความเครียด พักผ่อนไม่เพียงพอ มีโรคหรือการเจ็บป่วยเรื้อรัง เชื้อก็จะสามารถแพร่กระจายจากโพรงจมูกหรือลำคอเข้าสู่ปอดได้
เชื้อรา เช่น นิวโมซิสติส จิโรเวชี (Pneumocystis jirovecii) มักพบในผู้ที่มีภูมิคุ้มกันต่ำ โดยเฉพาะผู้ติดเชื้อ HIV
2. เกิดจากสาเหตุอื่น
- สารเคมีและมลพิษในอากาศ เช่น ควันบุหรี่ ควันจากการเผาไหม้ ไอระเหยจากสารเคมี น้ำยาทำความสะอาด ละอองน้ำมัน ฝุ่นจากการก่อสร้าง ซึ่งเป็นกรณีที่พบน้อย
- การสำลักอาหารเข้าปอด ทำให้เกิดการอักเสบและติดเชื้อ
- การรับประทานยาบางชนิด เช่น ยารักษาโรคมะเร็ง เคมีบำบัดบางชนิด อาจเกิดปอดอักเสบเฉียบพลันได้ และยังทำให้ภูมิคุ้มกันในร่างกายต่ำลง เกิดเป็นความเสี่ยงต่อการติดเชื้อซ้ำซ้อนตามมาได้
อาการแบบไหนให้สงสัยปอดอักเสบ ?
ผู้ป่วยโรคปอดอักเสบมักมีอาการหลายอย่างที่คล้ายคลึงกับโรคระบบทางเดินหายใจอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็น โรคหลอดลมอักเสบ โรคหอบหืดกำเริบ โรคน้ำในเยื่อหุ้มปอดอักเสบ โรคน้ำท่วมปอดจากภาวะหัวใจล้มเหลว ดังนั้น หากผู้ป่วยมีอาการต่างๆ เหล่านี้ ควรรีบพบแพทย์เพราะอาจเป็นสัญญาณเตือนของโรคปอดอักเสบ (Pneumonia)
- มีไข้สูง : ตัวร้อน และอาจมีอาการหนาวสั่นเฉียบพลัน
- ไอ : อาจเริ่มต้นด้วยการไอแห้งแบบไม่มีเสมหะ ต่อมาอาจมีเสมหะที่เป็นสีขาวขุ่นหรือสีเหลืองเขียว และบางรายอาจมีเลือดปน
- หายใจลำบาก : มีอาการหายใจเร็ว หอบเหนื่อย และรู้สึกเจ็บแปลบที่หน้าอกตอนหายใจเข้า หายใจลึกหรือไอ
- อ่อนเพลีย : เหนื่อยง่าย และอาจมีอาการปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ
- คลื่นไส้ อาเจียน : บางรายอาจมีอาการคลื่นไส้ เบื่ออาหาร หรืออาเจียนร่วมด้วย
- ความสับสนหรือซึม : โดยเฉพาะในผู้สูงอายุจะพบบ่อยกว่าคนวัยอื่น
ใครบ้างที่เสี่ยงโรคปอดอักเสบและภาวะแทรกซ้อน ?
โรคปอดอักเสบจัดว่าเป็นโรคร้ายแรงชนิดเฉียบพลันที่พบได้ในคนทุกวัย ทำให้เกิดการเจ็บป่วยที่รุนแรงหรือเกิดภาวะแทรกซ้อนต่างๆ ที่อาจนำมาซึ่งความพิการหรือเสียชีวิตได้ โดยเฉพาะในกลุ่มเสี่ยง เช่น เด็กเล็กและผู้สูงอายุ ผู้ป่วยโรคเบาหวาน โรคหอบหืด โรคหัวใจ โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง ผู้ที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่องหรือภูมิต้านทานต่ำ ผู้ป่วยมะเร็งที่ได้รับยาเคมีบำบัดหรือได้รับยากดภูมิเป็นเวลานาน การได้รับการรักษาอย่างทันท่วงทีจะช่วยลดความเสี่ยงการเกิดภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรงได้
การรักษาโรคปอดอักเสบ
โรคปอดอักเสบถือเป็นโรคที่มีความรุนแรง โดยเฉพาะหากเชื้อเข้าสู่กระแสเลือดจะยิ่งทวีความรุนแรงและเพิ่มอัตราการเสียชีวิตสูงถึง 20% ในคนหนุ่มสาว และมากถึง 60% ในผู้สูงอายุ ดังนั้น หากมีอาการหรือสงสัยว่าเป็นโรคปอดอักเสบควรรีบปรึกษาแพทย์ทันที เพื่อรับการวินิจฉัยและรักษาอย่างเหมาะสม ซึ่งแนวทางการรักษาโรคปอดอักเสบจะขึ้นอยู่กับสาเหตุของการเกิดโรค เช่น
- การให้ยาปฏิชีวนะ โดยผู้ป่วยควรได้รับยาทันทีเมื่อตรวจพบว่าเกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรีย
- การดูแลรักษาตามอาการ เช่น ให้ยาลดไข้ แก้ไอ ละลายเสมหะ หรืออาจมีการให้ยาขยายหลอดลม การให้ออกซิเจนเพื่อเพิ่มปริมาณออกซิเจนในเลือด การให้สารน้ำเกลือแร่เพื่อช่วยรักษาสมดุลของน้ำและแร่ธาตุในร่างกาย โดยเฉพาะในกรณีที่มีการสูญเสียน้ำจากการมีไข้สูงหรือการหายใจเร็ว
- เฝ้าสังเกตอาการเพื่อป้องกันภาวะแทรกซ้อน ซึ่งอาจต้องมีการทำหัตถการเพื่อระบายหนองหรือของเหลวในปอด กรณีมีหนองในปอด น้ำในช่องเยื่อหุ้มปอด ในบางรายที่ซับซ้อนอาจต้องอาศัยการส่องกล้องหลอดลมเพื่อช่วยในการวินิจฉัยและรักษาเพิ่มเติม
- การฟื้นฟูและกายภาพระบบทางเดินหายใจ ฝึกการไอ การขับเสมหะ เพื่อให้ยาปฏิชีวนะเข้าถึงตำแหน่งติดเชื้อได้ดีขึ้น ผู้ป่วยฟื้นตัวได้เร็วขึ้น และลดจำนวนวันการนอนโรงพยาบาลลงได้
ที่มาข้อมูล : โรงพยาบาลพญาไท 2
ที่มารูปภาพ : IG: hsushiyuan