จีนสร้างระบบรถไฟขนส่งสินค้าอัจฉริยะสำหรับขนส่งสินค้าหนัก
จีนก้าวหน้าในการพัฒนาระบบขับขี่อัจฉริยะ โดยล่าสุดได้นำไปใช้กับรถไฟขนส่งสินค้า ทำให้สามารถควบคุมขบวนรถไฟให้เดินทางได้อย่างมีประสิทธิภาพ และยังลดการใช้แรงงานเจ้าหน้าที่ ที่เป็นมนุษย์อีกด้วย
จีนสร้างระบบรถไฟขนส่งสินค้าอัจฉริยะ สำหรับรถไฟขนส่งสินค้าหนัก โดยรถไฟขบวนนี้ได้เคลื่อนออกจากคลังสินค้าในมณฑล ส่านซี (Shaanxi) ทางตะวันตกเฉียงเหนือของจีน เมื่อวันเสาร์ที่ 3 สิงหาคมที่ผ่านมา ทำให้ทางรถไฟสาย เซินมู่-ซั่วโจว (Shenmu-Shuozhou) กลายเป็นเส้นทางแรกที่มีรถไฟขนส่งสินค้า ที่ใช้เทคโนโลยีการขับขี่อัจฉริยะให้บริการ
รถไฟขบวนนี้สามารถรองรับน้ำหนักบรรทุกได้ถึง 10,000 ตัน มีความยาวทั้งสิ้น 1,400 เมตร พร้อมด้วยตู้โดยสาร 108 ตู้ และได้มีการใช้เทคโนโลยีการขับขี่อัจฉริยะ ควบคุมหัวรถจักร เพื่อมุ่งหน้าไปยังสถานีในมณฑล เหอเป่ย (Hebei) ทางตอนเหนือของจีน ที่มีทางรถไฟตั้งอยู่ท่ามกลางสภาพแวดล้อมที่ท้าทาย
สำหรับรถไฟสายนี้ ดำเนินการโดย กลุ่มรถไฟเป่าเซิน (Baoshen Railway Group) ของกลุ่มบริษัท ไชน่า เอนเนอร์จี กรุ๊ป (China Energy Group) หนึ่งในผู้ให้บริการโซลูชั่นครบวงจรสำหรับอุตสาหกรรมด้านพลังงาน
การเดินรถไฟเที่ยวนี้ ถือเป็นครั้งแรกที่จีนประสบความสำเร็จในการใช้งานขบวนรถไฟอัตโนมัติ รวมถึงการใช้ระบบตรวจสอบการขับขี่ระยะไกลกับรถไฟบรรทุกสินค้าอัจฉริยะ ผ่านการระบุตำแหน่ง และการตรวจจับวัตถุแปลกปลอมระหว่างเส้นทางที่มีความแม่นยำสูง ซึ่งได้รับการสนับสนุนโดยระบบดาวเทียมนำทางของจีน
นอกจากนี้ ตัวเทคโนโลยียังมีการติดตั้งโหมดการเดินทางที่ผสานเข้ากับระบบข้อมูลสภาพอากาศ และระบบปฏิบัติการของรถไฟ ทำให้สามารถควบคุมการขับขี่ได้อย่างชาญฉลาด และสามารถปฏิบัติการได้อย่างมีประสิทธิภาพ แม้จะเผชิญกับสภาพอากาศที่ไม่เอื้ออำนวย
โดยทีมงานของกลุ่มรถไฟเป่าเซิน (Baoshen Railway Group) ระบุว่า การประยุกต์ใช้เทคโนโลยีการขับขี่อัจฉริยะ จะช่วยเพิ่มความแม่นยำในการทำงาน และลดภาระงานของบรรดาเจ้าหน้าที่ลงไปได้มาก รวมถึงยังเป็นการส่งเสริมการพัฒนาเทคโนโลยีขนส่งสินค้าให้ทำได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น
ข้อมูลจาก reutersconnect, globaltimes
ข่าวแนะนำ