
◾️◾️◾️
🔴 จีนให้คำมั่นสนับสนุนเงินหลายทางแก่ประชาชน
ตอนนี้รัฐบาลจีนได้ให้คำมั่นว่าจะสนับสนุนค่าเลี้ยงดูเด็ก เพิ่มค่าแรง และสามารถลางานโดยที่ได้รับค่าจ้างมากขึ้น เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจที่ชะลอตัว นอกจากนี้ยังมีโปรแกรมลดราคามูลค่า 41,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 1.37 ล้านล้านบาท ที่ครอบคลุมสินค้าหลายประเภท ตั้งแต่เครื่องล้างจานและของแต่งบ้านไปจนถึงรถยนต์ไฟฟ้าและนาฬิกาอัจฉริยะ
รัฐบาลจีนกำลังใช้จ่ายอย่างมหาศาลเพื่อกระตุ้นให้คนจีนเปิดกระเป๋าสตางค์ออกมาจับจ่ายใช้สอยเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ
พูดง่าย ๆ คือ คนจีนในตอนนี้ใช้จ่ายไม่มากพอนั่นเอง หรือใช้จ่ายไม่มากเท่ากับที่รัฐบาลวางแผนเอาไว้ จึงต้องมีมาตรการออกมากระตุ้นให้คนใช้จ่ายกันมากขึ้น

สรุปข่าว
◾️◾️◾️
🔴 ประเทศอื่นเผชิญเงินเฟ้อ แต่จีนเผชิญเงินฝืด
เมื่อวันที่ 17 มีนาคมที่ผ่านมา มีข้อมูลอย่างเป็นทางการระบุว่า การขายปลีกเพิ่มขึ้น 4% ในช่วงสองเดือนแรกของปี 2025 ซึ่งถือเป็นสัญญาณที่ดีสำหรับข้อมูลการบริโภค แต่ก็ยังมีข้อยกเว้นบางประการ เช่น ที่นครเซี่ยงไฮ้ ราคาบ้านใหม่และบ้านที่มีอยู่ยังคงลดลงเมื่อเทียบกับปีที่แล้ว
ขณะที่สหรัฐอเมริกาและประเทศมหาอำนาจอื่น ๆ กำลังเผชิญกับปัญหาเงินเฟ้อหลังโควิด-19 แต่จีนกลับประสบปัญหาตรงกันข้าม คือ ภาวะเงินฝืด ซึ่งหมายถึงอัตราเงินเฟ้อลดต่ำกว่าศูนย์ ทำให้ราคาสินค้าลดลง โดยลดลงต่อเนื่องเป็นเวลา 18 เดือนในช่วงสองปีที่ผ่านมา
การที่ราคาลดลงอาจฟังดูเหมือนเป็นข่าวดีสำหรับผู้บริโภค แต่การที่การบริโภคยังคงลดลง ซึ่งเป็นการวัดระดับการใช้จ่ายของครัวเรือน เป็นสัญญาณของปัญหาเศรษฐกิจที่ฝังรากลึกกว่าที่หลายคนคิดเอาไว้
◾️◾️◾️
🔴 เมื่อหยุดจับจ่าย ส่งผลกระทบทั้งระบบเศรษฐกิจ
เมื่อผู้คนหยุดใช้จ่าย ธุรกิจต้องลดราคาสินค้าเพื่อดึงดูดลูกค้า เมื่อสถานการณ์เป็นเช่นนี้ต่อไป ยอดขายลดลง การจ้างงานชะลอตัว ค่าแรงคงที่ และการเติบโตทางเศรษฐกิจก็หยุดชะงัก
นี่คือวงจรที่จีนต้องการหลีกเลี่ยง เนื่องจากจีนกำลังต่อสู้กับการเติบโตที่ชะลอตัวจากวิกฤตตลาดอสังหาริมทรัพย์ที่ยืดเยื้อ ภาระหนี้รัฐบาลที่สูง และอัตราการว่างงานที่เพิ่มขึ้น
สาเหตุของการบริโภคต่ำคืออะไร?
ผู้บริโภคชาวจีนไม่มีกำลังซื้อ หรือไม่มั่นใจในอนาคตของตนเองพอที่จะใช้จ่าย
แต่ความไม่เต็มใจในการใช้จ่ายนี้เกิดขึ้นในช่วงเวลาที่สำคัญ โดยจีนมีเป้าหมายในการเติบโตทางเศรษฐกิจ 5% ในปีนี้ การกระตุ้นการบริโภคจึงเป็นลำดับความสำคัญสูงสุดของประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ที่หวังว่า การบริโภคภายในประเทศที่เพิ่มขึ้นจะสามารถรองรับผลกระทบจากภาษีที่สหรัฐอเมริกาจะเรียกเก็บจากการส่งออกสินค้าของจีน
◾️◾️◾️
🔴 แล้วแผนของจีนจะประสบความสำเร็จหรือไม่?
จีนกำลังจริงจังกับการใช้จ่าย เพื่อจัดการกับเศรษฐกิจที่อ่อนแอและความต้องการภายในประเทศที่ซบเซา ตอนนี้จีนต้องการลงทุนเพิ่มขึ้นในโครงการสวัสดิการสังคม ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของแผนเศรษฐกิจใหญ่สำหรับปี 2025
จากนั้นในสัปดาห์นี้ก็มีการประกาศเพิ่มสัญญาการสนับสนุนการจ้างงาน แต่รายละเอียดยังคงไม่ชัดเจน บางคนเห็นว่าเป็นการเคลื่อนไหวที่น่ายินดี แม้จะมีข้อเสนอแนะว่าผู้นำจีนควรทำมากกว่านี้ในการสนับสนุน
อย่างไรก็ตาม เรื่องนี้แสดงให้เห็นว่ารัฐบาลจีนตระหนักถึงการเปลี่ยนแปลงที่จำเป็นในการสร้างตลาดผู้บริโภคจีนที่แข็งแกร่งขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการเพิ่มค่าแรง ระบบสวัสดิการสังคมที่แข็งแกร่งขึ้น และนโยบายที่ทำให้ประชาชนรู้สึกมั่นคงพอที่จะใช้จ่ายเงินแทนการออมเงิน
นอกจากนี้ แรงงานในจีน 25% เป็นแรงงานข้ามชาติที่ได้รับค่าจ้างต่ำ ซึ่งไม่สามารถเข้าถึงสวัสดิการสังคมในเมืองได้อย่างเต็มที่ และกลุ่มนี้มีความเสี่ยงสูงในช่วงเวลาที่เศรษฐกิจไม่แน่นอน เช่น ช่วงวิกฤตโควิด-19
◾️◾️◾️
🔴 ค่าแรงชะลอตัว สาเหตุสำคัญที่ทำให้คนออมมากขึ้น
การเพิ่มขึ้นของค่าแรงในช่วงทศวรรษ 2010 ช่วยปิดบังปัญหาบางประการ โดยมีรายได้เฉลี่ยเติบโตประมาณ 10% ต่อปี ทำให้ประชาชนมั่นใจออกมาใช้เงินกัน แต่เมื่อการเติบโตของค่าแรงชะลอตัวในทศวรรษ 2020 การออมเงินจึงกลายเป็นทางเลือกใหม่ของประชาชน ที่ไม่กล้าใช้เงินในช่วงเวลาแบบนี้
การล้มครืนของตลาดอสังหาริมทรัพย์ยังทำให้ผู้บริโภคชาวจีนมีความเสี่ยงสูงขึ้น ส่งผลให้พวกเขาลดการใช้จ่าย
Gerard DiPippo นักวิจัยอาวุโสจาก Rand Think Tank องค์กรวิจัยไม่แสวงหาผลกำไร เผยว่า ตลาดอสังหาริมทรัพย์ มีความสำคัญไม่เพียงแต่สำหรับกิจกรรมทางเศรษฐกิจจริง ๆ แต่ยังส่งผลต่อความรู้สึกของชาวจีนเพราะครัวเรือนจำนวนมากได้ลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ และเขาคิดว่าการบริโภคในจีนจะไม่ฟื้นตัวเต็มที่จนกว่าจะชัดเจนว่าตลาดอสังหาริมทรัพย์ได้ผ่านจุดต่ำสุดไปแล้ว และทรัพย์สินหลักของครัวเรือนหลายๆ แห่งเริ่มฟื้นตัว
ขณะที่นักวิเคราะห์บางคนรู้สึกมีกำลังใจจากความจริงจังของรัฐบาลจีนที่ตั้งเป้าแก้ไขปัญหาระยะยาว เช่น อัตราการเกิดที่ลดลง ขณะที่คู่รักหนุ่มสาวจำนวนมากเลือกที่จะไม่มีลูกเนื่องจากค่าครองชีพที่สูงขึ้น
◾️◾️◾️
🔴 การเลี้ยงลูก 1 คน มีค่าใช้จ่าย 6.8 เท่าของ GDP
การศึกษาในปี 2024 โดยสถาบันวิจัย YuWa ของจีนประมาณการว่า การเลี้ยงดูลูกจนโตในจีนมีค่าใช้จ่ายถึง 6.8 เท่าของ GDP ต่อหัว ซึ่งเป็นหนึ่งในอัตราที่สูงที่สุดในโลก เมื่อเทียบกับสหรัฐอเมริกา (4.1) ญี่ปุ่น (4.3) และเยอรมนี (3.6)
จริง ๆ แล้ว โดยพื้นฐานคนจีน มีนิสัยประหยัดเงินอยู่แล้ว แล้วพอเศรษฐกิจเป็นแบบนี้ ยิ่งทำให้คนจีนอยากเก็บเงินกันมากขึ้น แม้ในช่วงเศรษฐกิจที่ย่ำแย่ ครัวเรือนจีนยังสามารถออมเงินได้ถึง 32% ของรายได้ที่สามารถใช้ได้ในปี 2024
สิ่งนี้ไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจในจีน ซึ่งอัตราการบริโภคไม่ค่อยสูง เมื่อเปรียบเทียบกับสหรัฐฯ และสหราชอาณาจักรที่การบริโภคในประเทศขับเคลื่อนการเติบโตมากกว่า 80% และอินเดียที่ประมาณ 70% ส่วนจีนโดยเฉลี่ยอยู่ที่ 50-55% ในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา
◾️◾️◾️
🔴 11.11 คือวันที่คนจีนซื้อของถล่มทลาย แต่ตอนนี้ไม่ใช่แล้ว
อีกเรื่องที่น่าสนใจ คือ ปกติแล้ว วันที่ 11 เดือน 11 จะเป็นวันที่คนจีนช้อปปิงอย่างมหาศาล โดยมีการขายจำนวนมากถึง 4.1 แสนล้านหยวน หรือราว 1.9 ล้านล้านบาทในปี 2019
แต่หลังจากเกิดโควิด-19 มันกลับไม่เป็นเช่นนั้นอีก ผู้บริโภคจีนเริ่มประหยัดมากขึ้นตั้งแต่เกิดโควิด และความระมัดระวังนี้ยังคงอยู่แม้ว่าวิกฤตโควิดจะผ่านพ้นไปแล้ว
ปีนั้นเองที่ Alibaba และ JD.com หยุดเผยแพร่ตัวเลขการขาย ซึ่งเป็นการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญสำหรับบริษัทที่เคยประกาศยอดขายที่ทำลายสถิติ
ไม่ใช่แค่การขายของออนไลน์ที่ยอดตก แบรนด์หรูในจีนก็ยอดตกเหมือนกัน ปีที่แล้ว LVMH, Burberry และ Richemont ต่างรายงานยอดขายที่ลดลงในจีน ซึ่งเคยเป็นตลาดหลักของอุตสาหกรรมหรูหราโลก
ในแอปพลิเคชัน RedNote ของจีนโพสต์ที่ติดแท็กคำว่า "การลดการบริโภค" มีจำนวนการดูมากกว่า 1,000 ล้านครั้งในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา ซึ่งเรื่องนี้กลายเป็นเทรนด์ในประเทศจีนที่ผู้คนหันมาโชว์วิธีการประหยัดเงิน มากกว่าการโชว์ความรวยซื้อของแพง ๆ
◾️◾️◾️
🔴 ความไม่แน่นอนทางภูมิรัฐศาสตร์ เปลี่ยนห่วงโซ่อุปทาน
เมื่อความไม่แน่นอนทางภูมิรัฐศาสตร์เพิ่มมากขึ้น ประเทศต่าง ๆ กำลังปรับเปลี่ยนห่วงโซ่อุปทานเพื่อลดการพึ่งพาการส่งออกจากจีน และลดการพึ่งพิงจากการผลิตของจีน ท้องถิ่นต่าง ๆ ก็ต้องแบกรับภาระหนี้สินหลังจากที่ยืมเงินจำนวนมากในช่วงหลายปีที่ผ่านมาเพื่อการลงทุน โดยเฉพาะในด้านโครงสร้างพื้นฐาน
สี จิ้นผิง ได้ให้คำมั่นแล้วว่าจะทำให้ความต้องการในประเทศเป็นแรงขับเคลื่อนหลักและเสถียรภาพในการเติบโต ด้วยประชากร 1,400 ล้านคน การเพิ่มความต้องการแค่ 1% ก็สามารถสร้างตลาดได้ถึง 14 ล้านคน แต่ก็มีข้อแม้ในแผนการนี้เช่นกัน
สำหรับการบริโภคที่จะขับเคลื่อนการเติบโต นักวิเคราะห์หลายคนมองว่า จีนจะต้องฟื้นฟูความเชื่อมั่นของผู้บริโภคในกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่จบการศึกษาในช่วงโควิด แล้วกำลังเจอปัญหาตกงาน คนที่ได้งาน ก็เงินเดือนน้อย ทำงานหนัก ทำให้ความหวังในการซื้อบ้าน หรือซื้อรถ กลายเป็นเรื่องยาก ซึ่งรัฐบาลจีนต้องทำให้คนรุ่นใหม่กลุ่มนี้ มีงานทำ มีความมั่นใจที่จะออกมาใช้จ่ายเงินมากกว่าการเก็บเงิน?

พิชญาภา สูตะบุตร