
องค์การอวกาศยุโรป (European Space Agency) ได้เปิดเผยข้อมูลภาพถ่ายจากอวกาศชุดใหญ่ ที่ได้จากกล้องโทรทรรศน์อวกาศ ยูคลิด (Euclid) โดยข้อมูลภายในนั้น อาจช่วยให้นักวิทยาศาสตร์ทำความเข้าใจเกี่ยวกับสสารมืด (Dark Matters) และปริศนาการขยายตัวของจักรวาลได้

สรุปข่าว
ข้อมูลดังกล่าวประกอบด้วยภาพถ่าย 3 จุดจากอวกาศในระยะลึก ซึ่งคิดเป็นเพียงร้อยละ 0.4 ของพื้นที่เป้าหมายที่กล้องจะจับภาพได้ และจากการสแกนภาพของอวกาศในแต่ละพื้นที่ พบว่ากล้องยูคลิดตรวจพบกาแล็กซีไปแล้วกว่า 26 ล้านแห่ง ซึ่งแต่ละแห่งอาจมีดวงดาวและดาวเคราะห์นับพันล้านดวง
โดยกาแล็กซีที่อยู่ไกลที่สุด อยู่ห่างจากโลก 10,500 ล้านปีแสง ซึ่งแปลว่าภาพถ่ายที่เราเห็นอยู่นี้ อาจมีอายุเกือบเท่ากับจักรวาลเลยทีเดียว
ภาพจาก ESA
และจากข้อมูลชุดใหม่นี้ ตัวกล้องยังสามารถจับภาพปรากฏการณ์ทางดาราศาสตร์ที่น่าสนใจ นั่นก็คือ “เลนส์ความโน้มถ่วง (gravitational lenses)” ซึ่งเป็นปรากฏการณ์ที่เกิดจากแรงโน้มถ่วงของวัตถุมวลมหาศาล ทำหน้าที่เหมือนเลนส์ขนาดใหญ่ บิดเบนแสงที่เดินทางมาจากวัตถุที่อยู่ไกลออกไป ทำให้เรามองเห็นภาพของวัตถุนั้น ๆ บิดเบี้ยว หรือขยายใหญ่ขึ้น
ทางองค์การอวกาศยุโรประบุว่ากล้องสามารถจับภาพเลนส์ความโน้มถ่วงจากอวกาศได้เพิ่มขึ้นเป็น 2 เท่า และตลอดระยะเวลาภารกิจ กล้องยูคลิดอาจจะจับภาพเลนส์ความโน้มถ่วงได้มากถึง 100,000 เลนส์ ข้อมูลนี้อาจช่วยให้นักวิทยาศาสตร์เข้าใจเกี่ยวกับสสารมืดและการขยายตัวของจักรวาลได้ดีขึ้น
สำหรับกล้องโทรทรรศน์อวกาศยูคลิด เริ่มภารกิจไปเมื่อปี 2023 โดยมีเป้าหมายคือการทำแผนที่ของกาแล็กซีหลายพันล้านแห่ง เพื่อดูว่าโครงสร้างมีการวิวัฒนาการไปอย่างไรตามกาลเวลา ซึ่งปัจจุบันได้สำรวจพื้นที่ไปแล้วประมาณร้อยละ 14 และคาดว่าจะถ่ายภาพกาแล็กซีรวมแล้ว 1,500 ล้านแห่ง
โดยภารกิจนี้จะใช้เวลาทั้งหมด 6 ปี และข้อมูลที่ได้จากการสำรวจ จะถูกนำไปประมวลผลเพื่อสร้างแผนที่ 3 มิติ ของจักรวาล ซึ่งจะทำให้เราทราบตำแหน่งของวัตถุต่าง ๆ และอาจถึงขั้นคาดเดารูปทรงของจักรวาลได้เช่นกัน
ข้อมูลจาก