
แผ่นดินไหวกระทบกรุงเทพฯ และปริมณฑล ประชาชนรับรู้แรงสั่นสะเทือน จุดศูนย์กลางอยู่ที่เมียนมา
วันที่ 28 มีนาคม 2568 เกิดเหตุแผ่นดินไหวในพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล โดยประชาชนในหลายเขตรับรู้ได้ถึงแรงสั่นสะเทือน ส่งผลให้เกิดความตื่นตระหนกในบางพื้นที่ เบื้องต้นยังไม่มีรายงานความเสียหายรุนแรง อย่างไรก็ตาม อาคารสูงบางแห่งมีการสั่นไหว ทำให้ประชาชนบางส่วนอพยพออกมาด้านนอกเพื่อความปลอดภัย

สรุปข่าว
สาเหตุของแผ่นดินไหว
กองเฝ้าระวังแผ่นดินไหว กรมอุตุนิยมวิทยา รายงานว่า แผ่นดินไหวที่เกิดขึ้นอาจมีสาเหตุมาจากแผ่นดินไหวในประเทศเมียนมา ซึ่งเกิดขึ้นเมื่อเวลา 13:20 น. ที่พิกัด (21.68°N, 96.12°E) มีขนาด 7.4 แมกนิจูด และความลึก 10 กิโลเมตร โดยแรงสั่นสะเทือนจากเหตุการณ์ดังกล่าวอาจส่งผลมาถึงประเทศไทย
“รอยเลื่อนสะกาย” สาเหตุแผ่นดินไหว ยักษ์ใหญ่ตื่นจากหลับใหล ธรณีพิโรธแรงสะเทือนถึงกรุงเทพฯ
เกิดสถานการณ์แผ่นดินไหว ขนาดประมาณ 7.5 ใกล้เมืองมัณฑะเลย์ ประเทศเมียนมา ห่างจากอำเภอปางมะผ้า จังหวัดแม่ฮ่องสอน ประมาณ 366 กิโลเมตร และแรงสั่นสะเทือนส่งผลถึงประเทศไทยภาคเหนือ ภาคกลาง โดยเฉพาะพื้นที่กรุงเทพมหานครหลายจุด ซึ่งมีผลกระทบกับอาคารต่างๆ ในพื้นที่หลายเขต เหตุดังกล่าวเกิดจาก รอยเลื่อนสะกาย (Sagaing Fault) รอยเลื่อนทรงพลังของเมียนมา
รอยเลื่อนสะกาย คืออะไร? : รอยเลื่อนสะกาย (Sagaing Fault) เป็นรอยเลื่อนขนาดใหญ่ที่พาดผ่านประเทศเมียนมา ถือเป็นหนึ่งในรอยเลื่อนที่มีพลังมากที่สุดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยมีความยาวประมาณ 1,200 กิโลเมตร และมีอัตราการเคลื่อนที่เฉลี่ย 18-20 มิลลิเมตรต่อปี ซึ่งเป็นผลมาจากการชนกันของแผ่นเปลือกโลกอินเดีย (Indian Plate) และแผ่นเปลือกโลกยูเรเชีย (Eurasian Plate)
ตำแหน่งและแนวการพาดผ่านของรอยเลื่อนสะกาย
รอยเลื่อนสะกายมีแนวพาดผ่านจากภาคเหนือของเมียนมาลงสู่ภาคใต้ โดยครอบคลุมพื้นที่สำคัญ ได้แก่
- เมืองมัณฑะเลย์ (Mandalay)
- เมืองสะกาย (Sagaing)
- เมืองพะโค (Bago)
- เมืองย่างกุ้ง (Yangon)
อันตรายจากรอยเลื่อนสะกาย อาจเป็นชนวนเหตุแผ่นดินไหวใหญ่ในอนาคต
รอยเลื่อนสะกายเป็นต้นเหตุของแผ่นดินไหวขนาดใหญ่ในอดีต และมีศักยภาพที่จะก่อให้เกิดแผ่นดินไหวรุนแรงในอนาคต เหตุการณ์สำคัญที่เคยเกิดขึ้น ได้แก่:
- แผ่นดินไหวปี 1930 ที่เมืองพะโค (Bago) ขนาด 7.3 ริกเตอร์
- แผ่นดินไหวปี 2012 ทางตอนกลางของเมียนมา ขนาด 6.8 ริกเตอร์
- แผ่นดินไหวปี 2016 ขนาด 6.8 ริกเตอร์ ส่งผลให้โบราณสถานที่เมืองพุกาม (Bagan) เสียหายหนัก
รอยเลื่อนสะกาย กับ ผลกระทบต่อประเทศไทย
แม้ว่ารอยเลื่อนสะกายจะอยู่ในเมียนมา แต่แผ่นดินไหวขนาดใหญ่ที่เกิดจากรอยเลื่อนนี้อาจส่งผลกระทบถึงภาคเหนือและภาคกลางของประเทศไทย โดยเฉพาะกรุงเทพมหานคร ซึ่งมีอาคารสูงและโครงสร้างบนดินอ่อน ทำให้รับรู้ถึงแรงสั่นสะเทือนได้ง่าย
แผ่นดินไหวครั้งใหญ่ในวันที่ 28 มีนาคม นี้ ถือเป็นบทเรียนของกรุงเทพฯ และภาคเหนือของไทย ต้องให้ความสำคัญ โดยเฉพาะการออกแบบอาคารให้รองรับแผ่นดินไหว รวมไปถึงมาตรการเตือนภัยแผ่นดินไหวด้วย นอกเหนือจากการที่นักธรณีวิทยาติดตามการเคลื่อนตัวของรอยเลื่อนสะกายอย่างใกล้ชิด
ข้อมูลอ้างอิง
เว็บไซต์: https://www.usgs.gov
เว็บไซต์: https://www.dmr.go.th
เว็บไซต์: https://www.moezala.gov.mm
เว็บไซต์: https://www.adpc.net
ที่มาข้อมูล : US Geological Survey, กรมทรัพยากรธรณี, Myanmar Earthquake Committee (MEC), Asian Disaster Preparedness Center
ที่มารูปภาพ : Getty Images

ชญาภา ภักดีศรี