

สรุปข่าว
สื่อจีนรายงาน เกิดปรากฏการณ์ "แสงเหนือ" ในหลายพื้นที่ทางตอนเหนือของจีน รวมถึงในกรุงปักกิ่ง หลังจากครั้งสุดท้ายปรากฏขึ้นในกรุงปักกิ่งเมื่อ 20 ปีที่แล้ว
สถานีโทรทัศน์ซีซีทีวีของจีน รายงานว่า เมื่อคืนวันศุกร์ที่ผ่านมา พบเห็นปรากฏการณ์แสงเหนือ ในพื้นที่เขตละติจูดสูงหลายแห่งของจีน รวมถึงในเมืองโม่เอ๋อ เมืองที่อยู่ตอนเหนือที่สุดของจีน ในมณฑลเฮย์หลงเจียง และในเขตปกครองตนเองมองโกเลียด้วย
โดยสิ่งที่ทำให้ผู้คนประหลาดใจมากที่สุด ก็คือการพบเห็นแสงเหนือในกรุงปักกิ่ง ซึ่งเป็นพื้นที่ละติจูดที่ต่ำกว่า และถือเป็นครั้งที่สองที่พบเห็นแสงเหนือในเมืองหลวงของจีน ครั้งสุดท้ายที่แสงเหนือปรากฏขึ้นในกรุงปักกิ่ง คือ เมื่อปี 2546 หรือ เมื่อ 20 ปีที่แล้ว
ปรากฏการณ์ทางธรรมชาติดังกล่าว เกิดจากอนุภาคที่มีประจุพลังงานไฟฟ้าของดวงอาทิตย์ เข้าสู่สนามแม่เหล็กของโลก ชนกับอะตอมและโมเลกุลในชั้นบรรยากาศ จนกระตุ้นให้เกิดแสงสว่างกลายเป็นแสงเหนือ ซึ่งมักปรากฏในพื้นที่ขั้วโลกเหนือและใต้ของโลกในเวลากลางคืน
นอกจากนี้เมื่อดัชนีแม่เหล็กของโลกสูง แสงเหนือก็จะเกิดอย่างเด่นชัด โดยในพื้นที่บริเวณละติจูดกลางและสูงก็จะเกิดแสงเหนือได้เช่นกัน ทั้งนี้แสงเหนือในหลายพื้นที่ทางตอนเหนือของจีนในครั้งนี้มีสาเหตุมาจากพายุแม่เหล็กโลก
อย่างไรก็ตาม เมื่อวันพฤหัสบดี(30 พ.ย.)ที่ผ่านมา ศูนย์ติดตามสภาพอากาศและการเตือนภัยล่วงหน้าในอวกาศแห่งชาติของสำนักอุตุนิยมวิทยาจีน ได้ออกคำเตือนพายุแม่เหล็กโลก โดยคาดการณ์ความเป็นไปได้ที่พายุแม่เหล็กโลก จะก่อตัวตั้งแต่วันพฤหัสบดี ถึงวันเสาร์ คาดการณ์ว่าในวันศุกร์ อาจเกิดพายุแม่เหล็กโลกระดับปานกลางถึงรุนแรง
ทั้งนี้ ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ศูนย์พยากรณ์อากาศอวกาศของ องค์การบริหารมหาสมุทรและชั้นบรรยากาศแห่งชาติ หรือ โนอา (NOAA) สหรัฐอเมริกา ได้ประกาศตรวจพบการระเบิดของพลาสมาจำนวน 4 ครั้ง บนพื้นผิวดวงอาทิตย์ส่งผลให้เกิดการปลดปล่อยก้อนมวลจากโคโรนา (CME) หรือ พายุสุริยะ เดินทางมาถึงโลกตลอดสัปดาห์ที่ผ่านมา
และครั้งล่าสุด จะเกิดขึ้นในวันอังคารที่ 5 ธันวาคม ตามเวลาในสหรัฐฯ โดยมีความรุนแรงระดับ G1 จากทั้งหมด 5 ระดับ ซึ่งถือว่าเป็นระดับที่ไม่มีความรุนแรงมากนัก โดยอาจไม่รุนแรงเพียงพอที่จะกระทบต่อเทคโนโลยีการสื่อสาร หรือ การหยุดชะงักของเทคโนโลยีครั้งใหญ่และมีเพียงผลกระทบเพียงเล็กน้อย หรือ ช่วงระยะเวลาสั้น ๆ เท่านั้น
ภาพจาก รอยเตอร์
ที่มาข้อมูล : -