สรุปข่าว
คุณแพททริก ปูเลีย ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสายงานตลาดการเงิน ธนาคารไทยพาณิชย์ เปิดเผยว่า ในปี 2025 นี้ สินทรัพย์สกุลดอลลาร์สหรัฐน่าจะมีผลตอบแทนเป็นบวกอีกได้ เนื่องจากเศรษฐกิจสหรัฐฯ จะขยายตัวดีกว่าประเทศหลักอื่น สะท้อนจากเลขเศรษฐกิจ ทั้งตลาดแรงงาน และดัชนี PMI ที่ออกมาดีกว่าคาด ทำให้ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) น่าจะลดดอกเบี้ยช้าลง โดยคาดว่าจะลดดอกเบี้ยอีกเพียงร้อยละ 0.50 เท่านั้นในปีนี้ สอดคล้องกับใน Dot plot ล่าสุดของเฟด และที่ตลาด Price-in ซึ่งจะน้อยกว่าในปี 2567 ที่เฟดลดดอกเบี้ยลงไปถึงร้อยละ 100
ธนาคารไทยพาณิชย์ ยังคาดการณ์ด้วยว่า แม้สกุลเงินดอลลาร์จะแข็งค่าขึ้นมากแล้วในปีก่อน แต่ก็เชื่อว่าเงินดอลลาร์น่าจะยังแข็งค่าต่อได้ในช่วงครึ่งแรกของปีนี้ เนื่องจากตลาดอาจยังอยู่ในโหมด Wait-and-see แต่อย่างไรก็ดี ในช่วงครึ่งปีหลัง เงินดอลลาร์สหรัฐอาจกลับมาอ่อนค่าจาก Valuation ที่สูงมากแล้ว และโอกาสที่เงินทุนที่อาจไหลออกจากสหรัฐฯ
คุณแพททริกยังให้ความต่อ ถึงทิศทางค่าเงินหยวนด้วยว่าจะยังอ่อนค่าลงต่อ แม้ทางการจีนน่าจะออกมาตรการสนับสนุนเพิ่มเติม โดยคาดว่าอาจปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย และอัตราส่วนการกันสำรองสำหรับธนาคารพาณิชย์ (RRR) ลง อีกทั้งทางการอาจใช้มาตรการที่เน้นกระตุ้นการบริโภคมากขึ้น โดยได้ตั้งเป้าขาดดุลการคลังสูงขึ้น และคาดว่าจะออกพันธบัตรรัฐบาลกลางและท้องถิ่นเพิ่มเพื่อสนับสนุนโครงการต่างมากขึ้น อย่างไรก็ดี เศรษฐกิจจีนน่าจะยังอ่อนแอจากความเสี่ยงหลายด้าน อีกทั้ง ทางการจีนอาจตั้งใจปล่อยให้เงินหยวนอ่อนค่าขึ้น เพื่อรองรับการส่งออกที่มีแนวโน้มแย่ลง และด้วยปัจจัยเหล่านี้ ธนาคารไทยพาณิชย์จึงมองว่า เงินหยวนมีโอกาสอ่อนค่าแตะ 7.50 หยวนต่อดอลลาร์ภายในสิ้นปีนี้
ส่วนเงินเยน อาจเป็นเพียงสกุลหลักเดียวที่ธนาคารไทยพาณิชย์มองว่า มีแนวโน้มกลับมาแข็งค่าได้ในช่วงไตรมาสสอง จากการขึ้นดอกเบี้ยของ BOJ หากเงินเฟ้อและค่าแรงญี่ปุ่นยังสูงตามที่คาด นอกจากนี้ มาตรการของ Trump อาจส่งผลต่อเศรษฐกิจญี่ปุ่นจำกัด เนื่องจากรัฐบาลญี่ปุ่นอนุมัติมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจชุดใหญ่กว่า 39 ล้านล้านเยน เพื่อประคับประคองเศรษฐกิจ
ส่วนแนวโน้มเงินบาท คุณวชิรวัฒน์ บานชื่น นักกลยุทธ์ตลาดการเงินอาวุโส ธนาคารไทยพาณิชย์ ให้ความเห็นว่าบาทมีแนวโน้มอ่อนค่าในช่วงครึ่งแรกของปี จากดอลลาร์ที่ยังแข็งค่า และนโยบายการเงินไทยที่ผ่อนคลายขึ้น โดยแรงกดดันด้านอ่อนค่าอาจมาจากเงินดอลลาร์ที่แข็งค่า อีกทั้งอาจจะยังเผชิญแรงกดดันด้านอ่อนค่าจากสกุลเงินอื่น เช่น เงินยูโรและเงินหยวน ทำให้บาทอ่อนค่าตาม สำหรับปัจจัยในประเทศที่จะทำให้เงินบาทอ่อนค่าต่อได้ มาจากแนวโน้มเศรษฐกิจที่โตชะลอลงตามการบริโภคและส่งออกที่มีแนวโน้มชะลอ จึงมองว่าเงินบาทอาจอ่อนค่าไปแตะระดับ 35.50 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐได้ภายในช่วงครึ่งปีแรก
อย่างไรก็ดี มองว่ามีโอกาสที่เงินบาทอาจกลับมาแข็งค่าได้ในช่วงครึ่งปีหลัง หากเริ่มเห็นสัญญาณการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกที่จะทำให้เงินไหลออกจากสหรัฐฯ ได้ ประกอบกับ Valuation ของเงินดอลลาร์ที่สูงมากแล้ว อีกทั้ง มองว่าราคาทองอาจปรับสูงขึ้นได้ต่อ ซึ่งจะช่วยหนุนให้เงินบาทกลับมาแข็งค่าได้ ด้วยเหตุนี้ จึงมองว่าเงินบาทอาจกลับมาแข็งค่าที่กรอบ 33.50-34.50 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ
ที่มาข้อมูล : -