

สรุปข่าว
นางเสาวณีย์ ไทยรุ่งโรจน์ ที่ปรึกษาสภามหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยผลสำรวจสถานภาพธุรกิจไทยหลังโควิด-19 ปัญหาอุปสรรคและแนวทางการแก้ไข โดยกลุ่มตัวอย่าง SMEs จำนวน 625 รายทั่วประเทศ พบว่า SMEs ร้อยละ 40.1 บอกว่าได้รับผลกระทบมากและมีโอกาสปิดกิจการ ถึงแม้ว่ารัฐจะออกมาตรการต่างๆ เพื่อมาลดผลกระทบ แต่ SMEs ส่วนใหญ่ไม่สามารถเข้าถึงมาตรการได้
โดยเฉพาะการเพิ่มสภาพคล่องเนื่องจากประสบปัญหาในเรื่องของการขาดหลักทรัพย์ค้ำประกัน และเงื่อนไขของสถาบันการเงิน รวมถึงยังมีปัจจัยอื่นๆเข้ามามีส่วนทั้งต้นทุนประกอบการที่สูงขึ้นจากการผลิตสินค้าและต้นทุนที่สูงขึ้นจากมาตรการโควิด-19
ด้านนายธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย และประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ กล่าวว่า ภาครัฐควรเข้ามาดูแลปัญหาสภาพคล่องของผู้ประกอบการ SMEs เป็นเรื่องเร่งด่วน คาดว่าจะใช้เม็ดเงินราว 2-3 แสนล้านบาท ซึ่งรัฐบาลจัดเตรียมงบประมาณในส่วนนี้ไว้แล้ว แต่ผู้ประกอบการ SME ไม่สามารถเข้าถึงได้ ดังนั้นหากเกิดผลกระทบจนส่งผลให้ผู้ประกอบการ SMEs ที่มีอยู่ในปัจจุบันต้องปิดกิจการลงราวร้อยละ 5 จะส่งผลให้รายได้ของประเทศสูญหายไปราว 3 แสนล้านบาท และมีคนตกงานเพิ่มอีก 1-2 ล้านคน
นอกจากนี้ ยังสนับสนุนให้รัฐบาลผ่อนคลายให้ธุรกิจกลางคืนสามารถเปิดกิจการได้ เนื่องจากมีสัดส่วนต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ หรือ GDP ถึงร้อยละ 20 คิดเป็นเม็ดเงิน 2-3 ล้านล้านบาทต่อปี แต่ยังคงต้องเปิดภายใต้มาตรการทางด้านสาธารณสุขที่ให้ทุกคนปฏิบัติร่วมกันเพื่อสามารถอยู่ร่วมกับโควิด-19 ได้อีกด้วย
ภาพประกอบ: พีอาร์ หอการค้า
ข้อมูล.มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย
ภาพประกอบ: รอยเตอร์
ที่มาข้อมูล : -