นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวถึงแนวคิดซื้อหนี้ภาคประชาชน ออกจากระบบธนาคารของรัฐบาล ว่า หอการค้า ต้องรอดูความชัดเจนของนโยบาย โดยเฉพาะการสื่อสารของภาครัฐ เนื่องจากในปัจจุบัน ประชาชนบางส่วนเข้าใจว่ามาตรการนี้เป็นการยกหนี้ ทั้งที่แท้จริงแล้วเป็นการซื้อหนี้เสียมาบริหาร แนวคิดดังกล่าวมีทั้งข้อดีช่วยบรรเทาภาระของประชาชน ที่ได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจ และข้อควรพิจารณาในด้านการดำเนินการให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด สำหรับแง่ข้อดีมาตรการนี้อาจช่วยให้ประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจ เช่น ค่าใช้จ่ายที่สูงขึ้น และอัตราดอกเบี้ย ยังอยู่ในระดับสูง มีโอกาสได้รับการปรับโครงสร้างหนี้ และกลับมามีเสถียรภาพทางการเงินมากขึ้น จะช่วยให้พวกเขาสามารถดำเนินชีวิตได้อย่างปกติ และมีโอกาสฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ
ส่วนข้อควรระวังสำคัญ ต้องพิจารณาในการซื้อหนี้ประชาชน คือ แนวทางการจัดการประวัติเครดิตบูโร ซึ่งหอการค้าไทย เห็นว่าประชาชนสามารถมีประวัติเครดิตบูโรได้ แต่ไม่ควรถูกใช้เป็นหลักเกณฑ์ตัดสินเพียงอย่างเดียวในการพิจารณาสินเชื่อ โดยการล้างข้อมูลเครดิตบูโรทั้งหมด อาจส่งผลต่อการประเมินพฤติกรรมการชำระหนี้ของประชาชน ซึ่งจำเป็นต่อการกำหนดแนวทางช่วยเหลือที่เหมาะสม และต้องมีการกำหนดหลักเกณฑ์ที่ชัดเจนในการคัดกรองกลุ่มลูกหนี้ที่สมควรได้รับความช่วยเหลือ
สรุปข่าว
ทั้งนี้ หากรัฐบาลจะเดินหน้ามาตรการนี้ ควรมีเกณฑ์กำกับดูแลที่รัดกุมและชัดเจน มุ่งเน้นไปที่หนี้เสียที่เกิดจากปัจจัยทางเศรษฐกิจ ไม่ใช่หนี้ที่เกิดจากพฤติกรรมใช้จ่ายเกินตัว และควรมีมาตรการเสริม อาทิ การให้คำปรึกษาทางการเงิน การสนับสนุนด้านอาชีพ เพื่อให้ประชาชนสามารถกลับมาชำระหนี้ได้ตามปกติ
นายสนั่น กล่าวว่า อีกแนวทาง คือ การประสานความร่วมมือกับสถาบันการเงินและภาคเอกชน ช่วยบริหารจัดการหนี้ในลักษณะที่เป็นระบบและมีประสิทธิภาพ เช่น การใช้กลไกปรับโครงสร้างหนี้ที่มีอยู่ในภาคเอกชน ควบคู่กับการช่วยเหลือของภาครัฐ ทั้งนี้ การกำหนดแนวทางต้องหาจุดสมดุลระหว่าง การบรรเทาภาระหนี้ของประชาชน และ การรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจในระยะยาว