

สรุปข่าว
นายพูน พานิชพิบูลย์ นักวิเคราะห์ประจำห้องค้าเงิน ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ ที่ระดับ 31.26 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ไม่เปลี่ยนแปลงจากระดับปิดสัป ดาห์ก่อนหน้า โดยแนวโน้มของค่าเงินบาทจะยังมีทิศทางเคลื่อนไหวในกรอบ (Sideways) ตามเงินดอลลาร์ และฟันด์โฟลว์นักลงทุนต่างชาติ โดยเชื่อว่าเงินดอลลาร์ยังคงถูกกดดันด้วยถ้อยแถลงของเจ้าหน้าที่เฟด ที่ยังไม่รีบปรับลดคิวอี
อย่างไรก็ดี ต้องระวังความกังวลเรื่องเงินเฟ้อที่อาจกลับมาได้ หากยอดการจ้างงานสหรัฐฯ ยังมีปัญหา ซึ่งภาพดังกล่าวอาจทำให้ตลาดปิดรับความเสี่ยงจากประเด็นเงินเฟ้ออีกครั้ง หนุนให้เงินดอลลาร์แข็งค่าขึ้นได้ในระยะสั้น อนึ่งหากเงินดอลลาร์แข็งค่าขึ้น ก็อาจไม่กดดันเงินบาทให้อ่อนค่าไปมาก เพราะผู้ส่งออกก็รอทยอยขายดอลลาร์ และผู้เล่นในตลาดก็อาจทยอยขายทำกำไรทองคำ หนุนให้เงินบาทแข็งค่าขึ้นได้
ทั้งนี้ในส่วนของฟันด์โฟลว์นักลงทุนต่างชาติ มองว่าปัญหาการระบาดของ COVID-19 และความวุ่นวายของการจัดหาและแจกจ่ายวัคซีนนั้น จะยังคงทำให้นักลงทุนต่างชาติไม่กล้ากลับเข้ามาลงทุนในตลาดหุ้นไทย ส่งผลให้เงินบาทยังมีแรงกดดันฝั่งอ่อนค่าจากแรงเทขายหุ้นไทยจากนักลงทุนต่างชาติ
ดังนั้นจากทิศทางเงินดอลลาร์ที่ยังคงเป็นแนวโน้มแกว่งตัวในกรอบ (Sideways) และ ฟันด์โฟลว์นักลงทุนต่างชาติที่มีแนวโน้มไหลออกสุทธิต่อเนื่อง ยังคงทำให้เงินบาทมีแนวโน้มแกว่งตัวในกรอบตามเดิม จนกว่าจะมีปัจจัยใหม่ๆ เข้ามาในตลาด มองกรอบค่าเงินบาทสัปดาห์นี้ ที่ระดับ 31.15-31.45บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ส่วนกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 31.20-31.30บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ
สัปดาห์ที่ผ่านมา ทิศทางการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในฝั่งสหรัฐฯ ดีขึ้น จากการฟื้นตัวของตลาดแรงงาน ขณะเดียวกัน ธนาคารกลางในโซนเอเชียก็เลือกที่จะคงดอกเบี้ยนโยบาย เพื่อประคองการฟื้นตัวเศรษฐกิจ
สำหรับสัปดาห์นี้ควรจับตาการฟื้นตัวเศรษฐกิจทั่วโลก โดยเฉพาะยอดการจ้างงานนอกภาคเกษตรกรรมของสหรัฐฯ รวมถึงข้อมูลเศรษฐกิจในฝั่งเอเชีย พร้อมทั้งติดตามถ้อย แถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่เฟด เช่น ประธานเฟด ซึ่งในส่วนของรายงานข้อมูลเศรษฐกิจที่น่าสนใจมีดังนี้
ฝั่งสหรัฐฯ เศรษฐกิจสหรัฐฯ ยังคงเดินหน้าฟื้นตัวต่อเนื่อง สะท้อนผ่านการขยายตัวของทั้งภาคการผลิตอุตสาหกรรมและภาคการบริการ โดยในเดือนพฤษภาคม ตลาดมองว่า ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการผลิตและการบริการ (ISM Manufacturing & Services PMIs) จะปรับตัวขึ้นสู่ระดับ 60.9 จุด และ 63 จุด ตามลำดับ (ดัชนีเกิน 50 จุด หมายถึง ภาวะขยายตัว)
ขณะเดียวกัน การจ้างงานในเดือนพฤษภาคม ก็มีแนวโน้มฟื้นตัวดีขึ้น หลังประชาชนส่วนใหญ่มีความพร้อมที่จะกลับเข้ามาทำงานมากขึ้น ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลจากการทยอยเปิดประเทศ การลดสวัสดิการช่วยเหลือผู้ตกงาน และแนวโน้มค่าจ้างที่เพิ่มสูงขึ้น ทำให้ยอดการจ้างงานนอกภาคเกษตรกรรม (Nonfarm Payrolls) เพิ่มขึ้นราว 5 แสนตำแหน่ง ดีขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่เพิ่มเพียง 2.7 แสนตำแหน่ง
นอกจากนี้ตลอดทั้งสัปดาห์ตลาดจะจับตาถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่เฟด โดยเฉพาะประธานเฟด ในวันศุกร์ เพื่อติดตามมุมมองของเฟดต่อแนวโน้มเศรษฐกิจและโอกาสที่เฟดจะปรับเปลี่ยนนโยบายการเงิน โดยเฉพาะการปรับลดคิวอี (QE Tapering)
ส่วนฝั่งยุโรป การฟื้นตัวเศรษฐกิจยุโรปมีแนวโน้มสดใส โดยยอดค้าปลีกของยุโรป (Retail Sales) ในเดือนเมษายนจะปรับตัวขึ้นอย่างน้อย 25% จากปีก่อนหน้า
ขณะที่ในฝั่งเอเชีย ปัญหาการระบาดระลอกใหม่ของ COVID-19 ในหลายพื้นที่ของเอเชีย โดยเฉพาะในญี่ปุ่น อาจทำให้แนวโน้มการฟื้นตัวเศรษฐกิจญี่ปุ่นสะดุดลงได้ในระยะสั้น หลังจากที่ในช่วงต้นปีเศรษฐกิจส่งสัญญาณฟื้นตัวได้ดี โดยตลาดคาดว่ายอดค้าปลีกในเดือนเมษายนอาจขยายตัวกว่า 15% จากปีก่อนหน้า แต่ก็อาจชะลอตัวลงในระยะสั้นจากปัญหาการระบาดระลอกใหม่
อย่างไรก็ดี เศรษฐกิจญี่ปุ่นยังมีแรงหนุนจากภาคการส่งออกที่สดใส ซึ่งได้ช่วยให้ภาคการผลิตอุตสาหกรรมขยายตัวต่อเนื่อง สะท้อนผ่านยอดผลผลิตอุตสาหกรรม (Industrial Production) ในเดือนเมษายน ที่โตกว่า 16% จากปีก่อนหน้า
ส่วนจีน เศรษฐกิจยังคงเดินหน้าขยายตัว โดยดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการผลิตและการบริการ (Caixin Manufacturing & Services PMIs) ที่จะปรับตัวขึ้นสู่ระดับ 52 จุด และ 56 จุด ตามลำดับ นอกจากนี้ เรามองว่า ธนาคารกลางออสเตรเลีย (RBA) จะคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ระดับ 0.10% เพื่อประคองการฟื้นตัวเศรษฐกิจ
ฝั่งไทย ปัญหาการระบาดของ COVID-19 รวมถึงความไม่แน่นอนของการแจกจ่ายวัคซีน จะกดดันความเชื่อมั่นของประชาชนต่อแนวโน้มการฟื้นตัวเศรษฐกิจ สะท้อนผ่านดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค (Consumer Confidence Index) เดือนพฤษภาคมที่จะปรับตัวลดลงต่อเนื่องสู่ระดับ 44 จุด
ขณะเดียวกันการบริโภคในประเทศที่ยังคงซบเซา รวมถึงมาตรการช่วยเหลือค่าใช้จ่ายของภาครัฐ อาจกดดันอัตราเงินเฟ้อในเดือนพฤษภาคม ให้ชะลอตัวลงมาสู่ระดับ 2.5% หลังจากที่เร่งตัวขึ้นในเดือนก่อนหน้า อย่างไรก็ดี ฐานราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่อยู่ในระดับต่ำมากในปีก่อนหน้าจะยังคงเป็นปัจจัยหนุนให้เงินเฟ้อในปีนี้อยู่ในระดับสูงไปอีก 2 เดือน
ที่มาข้อมูล : -