บทเรียนจากวิกฤตต้มยำกุ้ง สู่แนวคิดซื้อหนี้ประชาชน ทางรอดเศรษฐกิจไทย?

วิกฤตหนี้ครัวเรือนไทย: ระเบิดเวลาทางเศรษฐกิจ

การคิดออกมาดัง ๆ ของนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี เรื่องการแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือนที่เสนอให้ภาคเอกชนเข้ามาช่วยซื้อหนี้ของประชาชนจากธนาคารและสถาบันการเงิน เพื่อลดภาระดอกเบี้ย ปรับโครงสร้างหนี้ และเปิดโอกาสให้ลูกหนี้ได้เริ่มต้นชีวิตใหม่ ซึ่งนายกทักษิณ เชื่อว่าจะช่วยปลดล็อกให้ลูกหนี้มีโอกาสปรับโครงสร้างหนี้และเริ่มต้นชีวิตใหม่ กลายเป็นโมเดลที่ได้รับความสนใจอย่างกว้างขวางเพราะปัญหาหนี้ครัวเรือนกำลังเป็นระเบิดเวลาทางเศรษฐกิจของประเทศไทยในขณะนี้  



บทเรียนจากวิกฤตต้มยำกุ้ง สู่แนวคิดซื้อหนี้ประชาชน ทางรอดเศรษฐกิจไทย?

สรุปข่าว

ปัญหาหนี้ครัวเรือนของไทยทวีความรุนแรงจนกลายเป็นระเบิดเวลาทางเศรษฐกิจ แนวคิดซื้อหนี้ประชาชนโดยภาคเอกชนถูกเสนอโดย "ทักษิณ ชินวัตร" เป็นทางออกของลูกหนี้ และอาจเป็นกุญแจสำคัญในการคลี่คลายวิกฤตเศรษฐกิจครั้งนี้

บทเรียนจากวิกฤตต้มยำกุ้ง 2540

นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรีและรมว.คลัง กล่าวว่า การแก้ปัญหาหนี้ต้องมีหลายแนวทาง หากเป็นหนี้ที่พอปรับโครงสร้างได้ รัฐบาลควรเจรจาเพื่อยืดหนี้ ลดดอกเบี้ย และให้ลูกหนี้มีโอกาสอยู่รอด แต่หากเป็นหนี้ที่ไม่สามารถปรับโครงสร้างได้ อาจต้องมีการแยกบัญชีระหว่าง Good Bank และ Bad Bank ให้เอกชนและธนาคารร่วมมือกัน ซึ่งเป็นแนวทางที่กำลังถูกพิจารณาอยู่

นายพิชัย ยอมรับว่า แนวคิดของนายทักษิณมีความคล้ายคลึงกับมาตรการแก้ปัญหาหนี้เสียในช่วงวิกฤตเศรษฐกิจต้มยำกุ้งปี 2540 ที่รัฐบาลได้จัดตั้งบริษัทบริหารสินทรัพย์ (AMC) เช่น บรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทย (BAM) และบริษัทบริหารสินทรัพย์สุขุมวิท (SAM) เพื่อแยกหนี้เสียออกจากระบบธนาคาร และช่วยให้ธนาคารสามารถกลับมาดำเนินธุรกิจได้ แนวทางนี้ประสบความสำเร็จในระดับหนึ่ง แต่ครั้งนี้อาจแตกต่าง เพราะจะให้ภาคเอกชนเป็นผู้ดำเนินการหลัก โดยไม่ต้องใช้งบประมาณของรัฐ


รู้จักกลไก ซื้อ-ขาย หนี้เสีย  

แหล่งข่าวจากบริษัทเอกชนที่รับซื้อหนี้จากสถาบันการเงิน เปิดเผยว่า โดยปกติการซื้อหนี้เสียจะเป็นกลุ่มลูกหนี้ที่ใกล้จะสิ้นสุดอายุความ ซึ่งมักเป็นลูกหนี้ที่ผิดนัดชำระมาไม่ต่ำกว่า 4-5 ปี ธนาคารมักขายพอร์ตลูกหนี้เหล่านี้ในราคาต่ำ โดยเอกชนสามารถซื้อได้ที่ราว 10-20% ของมูลค่าหนี้เดิม และสามารถเจรจากับลูกหนี้ให้ชำระหนี้ที่เหลือเพียง 50-60% ของยอดค้างชำระ ซึ่งเป็นทางออกที่ทำให้ลูกหนี้พอใจและมีแรงจูงใจในการชำระหนี้

“การซื้อพอร์ตหนี้เสีย เอกชนจะเข้าไปซื้อในราคาต่ำที่ราว 10-20 % ของมูลค่าหนี้ ซึ่งนั่นเป็นช่องว่างที่บริษัทบริหารสินทรัพย์สามารถนำมาทำกำไรต่อได้ เมื่อเราติดต่อกับลูกหนี้เราสามารถลดราคาหนี้เหลือเพียง 50-60 % เท่านั้น ซึ่งเป็นการข้อเสนอและทางออกที่ลูกหนี้พอใจ ทำให้ยินดีที่จะชำระหนี้ เป็นกลไกที่สถาบันการเงินไม่มี แต่บริษัทบริหารสินทรัพย์มีทางออกให้ ซึ่งกลายเป็นทางออกแบบ “วิน-วิน”  เพราะลูกหนี้ได้ส่วนลดที่น่าพอใจ ส่วนเอกชนก็ได้กำไรจากส่วนต่างหลายร้อยเปอร์เซนต์” แหล่งข่าวอธิบาย 

เจ้าของบริษัทเอกชน ยอมรับว่าแนวคิดของนายทักษิณเป็นแนวคิดที่ดี เป็นการนำกลไกการปรับลดหนี้เสียที่มีอยู่แล้ว มาช่วยลดภาระของลูกหนี้ที่ไม่มีทางออก แต่ในความเป็นจริงอาจต้องดูเงื่อนไขของสถาบันการเงินที่จะขายหนี้ออกมา โดยเฉพาะธนาคารที่คิดดอกเบี้ยในราคาที่ต่ำกว่าสถาบันการเงินกลุ่ม NON BANK  ซึ่งในตลาดการขายหนี้เสียกลุ่มธนาคารจะไม่ปล่อยขายหนี้เสียออกมาง่าย ๆ อยู่แล้ว เพราะธนาคารจะพยายามดำเนินการเองด้วยวิธีต่าง ๆ เพื่อไม่ให้ขาดทุน



ซื้อหนี้ประชาชน ทางรอด หรือ กับดัก

นายยรรยง ไทยเจริญ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร สายงานวิจัยเศรษฐกิจและความยั่งยืน ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ มองว่าการแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือนต้องมุ่งเน้นไปที่การเพิ่มรายได้ประชาชนควบคู่กับการเพิ่มความสามารถในการชำระหนี้ พร้อมระวังเรื่อง Moral Hazard หรือพฤติกรรมผิดนัดชำระหนี้โดยเจตนา และควรออกมาตรการที่เจาะจงกลุ่มเป้าหมายเพื่อให้ความช่วยเหลือมีประสิทธิภาพ

ขณะที่ ผศ.ดร.รุ่งเกียรติ รัตนบานชื่น อาจารย์ประจำคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ให้สัมภาษณ์ในรายการ "คนชนข่าว" ทาง TNN ว่า กลไกการซื้อขายหนี้เสียมีอยู่แล้วในระบบ หากรัฐต้องการสนับสนุน ควรมีมาตรการช่วยลดความเสี่ยงให้กับเอกชนผู้ซื้อหนี้ เช่น การรับประกันบางส่วน หรือการช่วยให้บริษัทบริหารสินทรัพย์สามารถซื้อมูลหนี้ได้ในราคาที่เหมาะสม รวมถึงการแก้ปัญหาหนี้นอกระบบที่ยังเป็นอุปสรรคสำคัญ

แนวคิดซื้อหนี้ประชาชนออกจากระบบธนาคาร ถือเป็นข้อเสนอที่น่าสนใจ และอาจเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญในการแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือนของไทย อย่างไรก็ตาม การดำเนินมาตรการนี้ต้องได้รับการพิจารณาอย่างรอบคอบ ทั้งในแง่ของกลไกการดำเนินงาน ผลกระทบต่อเศรษฐกิจ และการป้องกันความเสี่ยง หากสามารถออกแบบระบบที่เหมาะสม แนวคิดนี้อาจช่วยให้ประชาชนหลุดพ้นจากวงจรหนี้ และสามารถเริ่มต้นชีวิตใหม่ได้อีกครั้ง

ที่มาข้อมูล : TNN

ที่มารูปภาพ : Freepik REUTERS

avatar

วุฒิพันธุ์ เปรมาสวัสดิ์