
เปิดแนวคิดทักษิณดึงเอกชน ซื้อหนี้จากประชาชนออกจากธนาคาร เป็นไปได้หรือไม่ มีข้อดี - ข้อเสียอะไรบ้าง
จากกรณีแนวคิดของนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ที่เสนอให้ดึงเอกชนเข้ามาร่วมซื้อหนี้ของประชาชนออกจากระบบธนาคารเพื่อแก้ไขปัญหาหนี้ครัวเรือน กำลังเป็นประเด็นที่ถูกพูดถึงในวงกว้าง นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้ออกมาแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับแนวทางนี้ว่ามีทั้งข้อดีและข้อจำกัดที่ต้องพิจารณา โดยทั่วไป แนวทางการแก้ไขปัญหาหนี้สามารถแบ่งออกเป็นสองส่วนหลัก ๆ ดังนี้
การปรับโครงสร้างหนี้ สำหรับลูกหนี้ที่ยังมีความสามารถในการชำระหนี้ การยืดระยะเวลาชำระหนี้ ลดอัตราดอกเบี้ย หรือปรับเปลี่ยนเงื่อนไขให้เอื้อต่อการชำระคืน สามารถช่วยให้ลูกหนี้กลับมาอยู่ในระบบได้ และ การ แยกบัญชีหนี้เสียออกจากธนาคาร ในกรณีที่ลูกหนี้ไม่สามารถปรับโครงสร้างหนี้ได้ หรือมีภาระหนี้จากหลายธนาคาร แนวทางการนำหนี้ออกจากระบบธนาคารอาจเป็นอีกทางเลือกหนึ่ง

สรุปข่าว
แนวคิดการซื้อหนี้โดยเอกชน เป็นไปได้หรือไม่?
นายพิชัย ระบุว่าแนวทางการดึงเอกชนเข้ามาบริหารหนี้ไม่ได้เป็นเรื่องใหม่ ในอดีตช่วงวิกฤตเศรษฐกิจปี 2540 รัฐบาลได้ใช้โมเดล "Good Bank - Bad Bank" ในการจัดการหนี้เสียผ่านบริษัทบริหารสินทรัพย์ (AMC) เพื่อให้ธนาคารสามารถปล่อยสินเชื่อใหม่ได้
อย่างไรก็ตาม การดำเนินการในลักษณะนี้ต้องอาศัยปัจจัยหลายอย่าง ได้แก่
การกำหนดประเภทหนี้ที่เหมาะสม – หนี้ที่เอกชนจะเข้ามาซื้อควรเป็นหนี้ที่มีโอกาสบริหารจัดการได้ เช่น หนี้บ้าน หรือหนี้ที่มีหลักประกัน มากกว่าหนี้ไม่มีหลักทรัพย์ค้ำประกัน
เงื่อนไขทางการเงิน – หากเอกชนต้องลงทุนในการซื้อหนี้ คำถามสำคัญคือพวกเขาจะได้ผลตอบแทนจากที่ใด หากเป็นการเข้ามาบริหารหนี้โดยไม่มีงบประมาณจากรัฐ เอกชนต้องมั่นใจว่าสามารถเรียกเก็บหนี้คืนได้
บทบาทของรัฐและธนาคาร – แม้แนวคิดนี้อาจช่วยลดภาระหนี้ของประชาชน แต่รัฐและธนาคารยังต้องมีบทบาทในการกำกับดูแล เพื่อไม่ให้เกิดการเอารัดเอาเปรียบลูกหนี้ หรือทำให้เกิดปัญหาหนี้สินรอบใหม่
อย่างไรก็ตามสำหรับ อุปสรรคและข้อควรระวัง คือ ความเสี่ยงต่อระบบธนาคาร หากธนาคารปล่อยหนี้ออกไปมากเกินไป อาจทำให้เกิดปัญหาเชิงโครงสร้างต่อระบบการเงิน
นอกจากนี้ยังมีในเรื่องของข้อจำกัดทางกฎหมาย การขายหนี้ให้เอกชนต้องอยู่ภายใต้กฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองผู้บริโภคและกฎหมายที่เกี่ยวข้อง สุดท้ายคือความเป็นไปได้ทางธุรกิจ หากเอกชนมองว่าไม่คุ้มค่าหรือมีความเสี่ยงสูง อาจไม่มีใครสนใจเข้าร่วมโครงการ
ที่มาข้อมูล : กระทรวงการคลัง
ที่มารูปภาพ : AFP