เปิดสำนวน 9 พันแผ่น 'คดีทนายตั้ม' 4 คดี 7 ผู้ต้องหา
ย้อนรอยคดีทนายตั้ม จากคดีฉ้อโกงสู่สำนวนฟ้อง 9,317 แผ่น
เริ่มต้นจากการแจ้งความเมื่อวันที่ 19 กันยายน 2567 เมื่อ น.ส.จตุพร อุบลเลิศ หรือ "เจ๊อ้อย" เศรษฐินีไทยที่พำนักในฝรั่งเศส มอบอำนาจให้ทนายความแจ้งความที่ สภ.ปากช่อง จ.นครราชสีมา กล่าวหานายษิทรา เบี้ยบังเกิด หรือ "ทนายตั้ม" เลขาธิการมูลนิธิทีมงานทนายประชาชน ในข้อหาฉ้อโกง หลังถูกหลอกให้ลงทุนแพลตฟอร์มสลากออนไลน์ โดยอ้างว่าได้รับโควตาจากสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล ต้องจ่ายเงินเป็นค่าจ้างเขียนโปรแกรม 2 ล้านยูโร หรือประมาณ 71 ล้านบาท
จากการสืบสวนขยายผล ตำรวจพบการกระทำผิดเพิ่มเติมอีก 3 คดี รวมเป็น 4 คดี มีผู้ต้องหารวม 7 คน ประกอบด้วย นายษิทรา เบี้ยบังเกิด อายุ 44 ปี, นางปทิตต อายุ 41 ปี (ภรรยา), น.ส.ปิณฑิรา (พี่สาวภรรยา), นายนุวัฒน์ หรือ "นุ" อายุ 34 ปี (คนสนิททนายตั้ม), น.ส.สารินี อายุ 32 ปี (แฟนนายนุ) และพนักงานโชว์รูมรถอีก 2 คนที่ร่วมปลอมแปลงเอกสาร
สรุปข่าว
คดีนอกราชอาณาจักรประกอบด้วย คดีแรกคือการฉ้อโกงเงินลงทุนแพลตฟอร์มสลากออนไลน์ 71,067,764.70 บาท โดยทำสัญญาจ้างกับบริษัท ษิทธา ลอว์เฟิร์ม จำกัด กำหนดส่งมอบงานวันที่ 1 กันยายน 2567 แต่ไม่ได้รับการส่งมอบระบบตามสัญญา คดีที่สองคือการฉ้อโกงส่วนต่างจากการซื้อรถเบนซ์จีคลาส โดยแจ้งราคา 12.93 ล้านบาท ทั้งที่ราคาจริงเพียง 11.4 ล้านบาท ทำให้ได้ส่วนต่าง 1.53 ล้านบาท และคดีที่สามคือการฉ้อโกงกรณีกระเป๋าเงินดิจิทัล 39 ล้านบาท โดยนายนุวัฒน์และน.ส.สารินีร่วมกันสร้างหลักฐานเท็จว่ากระเป๋าเงินดิจิทัลถูกระงับ มีการแจ้งความเท็จที่ สน.บางซื่อ และใช้เป็นหลักฐานหลอกให้ผู้เสียหายโอนเงิน จากนั้นได้ถอนเงินสดออกจากธนาคารในห้างดังย่าน 5 แยกลาดพร้าว
ส่วนคดีในราชอาณาจักรเป็นกรณีกินส่วนต่างค่าออกแบบโรงแรม The Angel โดยอ้างว่าจ้างบริษัทออกแบบในราคา 9 ล้านบาท แต่ความจริงจ้างเพียง 3.5 ล้านบาท ทำให้ได้เงินส่วนต่าง 5.5 ล้านบาท
ล่าสุดเมื่อวันที่ 17 มกราคม 2568 พ.ต.อ.ภูมิพัฒน์ นามพุทธา ผกก.(สอบสวน) กลุ่มงานสอบสวน บก.ป. ได้นำสำนวนการสอบสวนรวม 9,317 แผ่น พร้อมความเห็นควรสั่งฟ้องผู้ต้องหาทั้ง 7 คน ในข้อหาร่วมกันฉ้อโกง ฟอกเงิน และสมคบกันฟอกเงิน ส่งให้นายณัฐพงษ์ พุฒแก้ว รองอธิบดีอัยการ สำนักงานคดีพิเศษ เป็นผู้รับสำนวนการสอบสวนไว้พิจารณา
สำนักงานอัยการสูงสุดได้แต่งตั้งนายวัชรินทร์ ภาณุรัตน์ รองอธิบดีอัยการ สำนักงานการสอบสวน เป็นหัวหน้าคณะทำงานร่วมสอบคดี พร้อมด้วยอัยการอีก 5 คน เนื่องจากเป็นความผิดนอกราชอาณาจักร โดยต้องพิจารณาให้แล้วเสร็จก่อนการฝากขังผัดสุดท้ายวันที่ 30 มกราคม 2568 ขณะที่สำนักงาน ปปง. มีมติให้ยึดและอายัดทรัพย์ของผู้ต้องหา ทั้งที่ดิน สิ่งปลูกสร้าง และเงินในบัญชี รวมมูลค่า 71 ล้านบาท
ปัจจุบันทนายตั้มและภรรยาถูกควบคุมตัวในเรือนจำ โดยทางเรือนจำได้จัดให้ทนายตั้มอยู่ในโซนที่ไม่มีคู่ขัดแย้งเพื่อความปลอดภัย ด้านทนายสายหยุด เพ็งบุญชู ประกาศยุติบทบาทการเป็นทนายความ อ้างเหตุกังวลเรื่องการใช้เอกสารปลอมและมองว่าคดี 39 ล้านบาทสู้ยาก ส่วนทางด้านผู้เสียหาย ทนายสมชาติ พินิจอักษร ยืนยันว่าเจ๊อ้อยจะดำเนินคดีให้ถึงที่สุด ไม่มีการยอมความ
ภาพ TNN
ที่มาข้อมูล : หาเอง/ตัดต่อเอง
ที่มารูปภาพ : TNN