ไขปริศนาไต้ฝุ่นหลงฤดู สัญญาณเตือนหายนะจากวิกฤตโลกร้อน
ไต้ฝุ่นเข้าโจมตีฟิลิปปินส์ต่อเนื่องเดือนเดียว 6 ลูก ที่สำคัญพายุทั้งหมดเป็นพายุหลงฤดู ที่ไม่ควรปรากฏขึ้นในเดือนพฤศจิกายน ซึ่งเป็นฤดูหนาว นักวิชาการ ชี้ว่าทั้งหมดมีจุดเริ่มต้นจากปัญหาโลกร้อน น้ำทะเลอุณหภูมิสูงขึ้น ที่ส่งผลต่อทั่วโลกไปจนถึงประเทศไทย
ไต้ฝุ่นเข้าโจมตีฟิลิปปินส์ต่อเนื่องเดือนเดียว 6 ลูก ที่สำคัญพายุทั้งหมดเป็นพายุหลงฤดู ที่ไม่ควรปรากฏขึ้นในเดือนพฤศจิกายน ซึ่งเป็นฤดูหนาว ทำไมถึงเป็นเช่นนั้น
ขบวนพาเหรดพายุที่ดาหน้าเข้าถล่มหมู่เกาะฟิลิปปินส์ในช่วง 1 เดือนที่ผ่านมา เริ่มต้นตั้งแต่ พายุโซนร้อนจ่ามี ในช่วงปลายเดือน ต.ค. ตามมาด้วยไต้ฝุ่นกองเร็ยและ ไต้ฝุ่นหยินซิ่ง และเมื่อเร็ว ๆ นี้ ไต้ฝุ่นโทราจีและไต้ฝุ่นอุซางิ ทำให้เกิดคลื่นพายุซัดฝั่งสูง 3 เมตรและฝนตกหนักเกิน 200 มม. และ ล่าสุด คือ ซุเปอร์ไต้ฝุ่นหม่านหยี่ ที่เข้าทำลายบ้านเรือนจำนวนมากและก่อให้เกิดคลื่นสูง จนทางการต้องสั่งอพยพประชาชนหลายแสนคนออกจากพื้นที่ประสบภัย
นักวิชาการด้านสิ่งแวดล้อม ดร.สนธิ คชวัฒน์ ชี้ว่าพายุที่เกิดขึ้นถึง 6 ลูกในช่วงนี้ ไม่ใช่เรื่องปกติ และ เป็นผลจากปรากฏการณ์โลกร้อน ที่เป็นตัวการเพิ่มความถี่ และ รุนแรงของพายุให้มากขึ้น ทำไมถึงเป็นเช่นนั้น
นั่นเป็นเพราะว่าอุณหภูมิทะเลที่สูงขึ้นมากกว่า 27 องศา เมื่อทะเลร้อนก็ระเหยไปจับตัวในอากาศก่อเป็นพายุ โดยพายุช่วงนี้ที่เกิดจากทะเลร้อนจะทำใหมีความชื้นมาก เมื่อพัดไปที่ไหนก็จะเกิดฝนตกหนัก น้ำท่วมฉับพลันรุนแรง
นอกจากนี้ผลจากอุณหภูมิน้ำทะเลสูง - ฤดูหนาวมาช้ากว่าปกติ ส่งผลทำให้เกิดสภาพอากาศแปรปรวนทั่วโลก และสามารถสังเกตเห็นได้อย่างชัดเจน ไม่ว่าจะเป็นปรากฏการณ์ ฟูจิซังถอดหมวก เพราะไม่มีหิมะปกคลุมจากฤดูหนาวที่มาช้า น้ำท่วมหนัก ในบาเลนเซีย สเปน ที่หนักหน่วงจนนำมาสู่การประท้วง และ ก่อจลาจล ไปจนถึงหิมะที่ตกกลางทะเลทราย ในประเทศซาอุดิอาระเบีย
ส่วนประเทศไทยยังโชคดี เพราะตั้งอยู่ในภูมิประเทศที่ดี ทำให้มีกำแพงธรรมชาติจากประเทศเพื่อนบ้าน ทั้ง เวียดนาม ลาว มาเลเซีย ที่มีภูเขาสูงขวางกั้นลมมรสุม จึงช่วยป้องกันพายุหนัก ทำให้เราผชิญแค่หางพายุ แต่นั่นก็เพียงพอจะสร้างความเสียหายให้เกิดขึ้นอย่างสาหัส ใน จ.เชียงราย เชียงใหม่ และ จังหวัดใกล้เคียง ที่เกิดน้ำท่วม ดินโคลนถล่ม หนักที่สุดในรอบหลายสิบปี
แม้วงล้อมจากประเทศเพื่อนบ้านจะช่วยให้ไทยรอดพ้นจากพายุ แต่โลกร้อนก็ยังส่งผลกระทบให้เราไม่น้อย จาก ฝุ่น PM 2.5 ที่คาดว่าจะรุนแรงมากขึ้น รวมไปถึงปัญหาน้ำทะเลหนุนสูงผิดปกติ ซึ่ง ดร.สนธิ เชื่อว่า ในอีก 7 ปี ข้างหน้า หรือ ใน ปี 2573 หรือ ค.ศ. 2030 กรุงเทพฯเกือบครึ่งเมืองจะต้องเผชิญปัญหาน้ำท่วมรุนแรงแบบที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน เช่นเดียวกับในปี 2593 หรือ ค.ศ.2050 ที่เมืองหลวงของประเทศไทย รวมถึงจังหวัดปริมณฑลแนวชายฝั่งอาจจะต้องจมอยู่ใต้ทะเลก็เป็นได้ หากวันนี้ยังไม่มีแนวทางป้องกันน้ำทะเลที่หนุนสูง ไปจนถึงการออกนโยบายเพื่อแก้ไขปัญหาโลกร้อน เพื่อลดอุณหภูมิโลก
Exclusive Content By : วุฒิพันธุ์ เปรมาสวัสดิ์ รองบรรณาธิการ TNNOnline
ข่าวแนะนำ