TNN เจาะสถิติสูงชัน! มะเร็งตับ คร่าชีวิตคนไทย 21.4% ของมะเร็งทั้งหมด

TNN

TNN Exclusive

เจาะสถิติสูงชัน! มะเร็งตับ คร่าชีวิตคนไทย 21.4% ของมะเร็งทั้งหมด

เจาะสถิติสูงชัน! มะเร็งตับ คร่าชีวิตคนไทย 21.4% ของมะเร็งทั้งหมด

มะเร็งตับเป็นโรคมะเร็งที่พบบ่อยที่สุดในไทย สาเหตุหลักจากไวรัสตับอักเสบบี ปี 2563 พบผู้ป่วยใหม่ 27,394 ราย เสียชีวิต 26,704 ราย แนะตรวจคัดกรองเป็นประจำ ปรับพฤติกรรมสุขภาพ และฉีดวัคซีนป้องกันในเด็กแรกเกิด เพื่อลดความเสี่ยงมะเร็งตับระยะลุกลาม

มะเร็งตับเป็นหนึ่งในโรคมะเร็งที่พบบ่อยที่สุดในประเทศไทย โดยเฉพาะในเพศชายที่มีอัตราการเกิดโรคสูงเป็นอันดับ 1 จากข้อมูลทะเบียนมะเร็งระดับประเทศ ปี 2561 พบว่ามีผู้ป่วยมะเร็งตับรายใหม่ถึง 22,213 รายต่อปี และในจำนวนนี้มีผู้เสียชีวิตสูงถึง 15,650 ราย ซึ่งถือเป็นอัตราที่สูงมาก และแนวโน้มยังคงน่าเป็นห่วงอย่างต่อเนื่อง โดยในปี 2563 มีผู้ป่วยมะเร็งตับสูงถึง 27,394 ราย คิดเป็น 14.4% ของจำนวนผู้ป่วยมะเร็งทั้งหมด และมีผู้เสียชีวิตจากมะเร็งตับถึง 26,704 ราย หรือ 21.4% ของผู้เสียชีวิตด้วยโรคมะเร็งทั้งหมดในปีนั้น แม้ข้อมูลในปี 2564 และ 2565 จะยังไม่ชัดเจน แต่จากแนวโน้มที่ผ่านมา คาดว่าจำนวนผู้ป่วยและอัตราการเสียชีวิตจะยังคงอยู่ในระดับสูงเช่นเดิม


นายแพทย์วีรวุฒิ อิ่มสำราญ รองอธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า สาเหตุหลักของมะเร็งตับในประเทศไทยมาจากการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบี โดยพบว่าประมาณ 50-60% ของผู้ป่วยมะเร็งตับเป็นพาหะของไวรัสชนิดนี้ นอกจากนี้ยังมีปัจจัยเสี่ยงสำคัญอื่นๆ ได้แก่ การดื่มแอลกอฮอล์เป็นประจำในปริมาณสูง การบริโภคอาหารที่มีการปนเปื้อนของสารพิษอะฟลาทอกซินจากเชื้อรา และการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบซี ซึ่งเพิ่มความเสี่ยงของการเกิดมะเร็งตับขึ้นอีก 2-3 เท่า


อาการของมะเร็งตับในระยะเริ่มต้นมักไม่ค่อยแสดงออกให้เห็นชัดเจน ทำให้ผู้ป่วยส่วนใหญ่มักมาพบแพทย์เมื่อมะเร็งระยะลุกลามไปมากแล้ว จากสถิติพบว่าผู้ป่วยมะเร็งตับที่ได้รับการวินิจฉัยในระยะแพร่กระจาย มีอัตรารอดชีวิตที่ 5 ปีเพียง 2-5% เท่านั้น ในขณะที่หากพบในระยะเริ่มต้น อัตรารอดจะเพิ่มขึ้นเป็น 50-70%  


แพทย์หญิงนภา ศิริวิวัฒนากุล ผู้อำนวยการสถาบันมะเร็งแห่งชาติ แนะนำว่า กลุ่มเสี่ยงที่มีประวัติติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบีหรือซี หรือมีภาวะตับแข็งจากสาเหตุต่างๆ ควรได้รับการตรวจคัดกรองมะเร็งตับเป็นประจำทุก 6 เดือน ด้วยการตรวจเลือดหาระดับ AFP ร่วมกับการตรวจอัลตราซาวด์ช่องท้อง เพื่อเพิ่มโอกาสในการตรวจพบมะเร็งระยะเริ่มแรก ซึ่งจะทำให้การรักษามีประสิทธิภาพสูงขึ้น ในด้านการป้องกันนั้น การฉีดวัคซีนไวรัสตับอักเสบบีในเด็กแรกเกิดเป็นมาตรการสำคัญ ที่จะช่วยลดอัตราการติดเชื้อได้อย่างมาก รวมถึงการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสุขภาพ เช่น ลดการดื่มสุรา หลีกเลี่ยงอาหารที่มีความเสี่ยงต่อการปนเปื้อน และการตรวจสุขภาพตับอย่างสม่ำเสมอ





ภาพ Freepik 

อ้างอิง

ข้อมูลจากสถาบันมะเร็งแห่งชาติ

กรมการแพทย์ 

โรงพยาบาลสมิติเวช 

World Cancer Research Fund

ข่าวแนะนำ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง