
หมอเจด เจษฎ์ บุณยวงศ์วิโรจน์ รองผู้อำนวยการโรงพยาบาลมหาราชนครราชสีมา เจ้าของเพจเฟซบุ๊ก “หมอเจด” ได้โพสต์ให้ความรู้เกี่ยวกับปัญหาสุขภาพ เรื่องโรคมะเร็ง
โดยระบุว่า เคยคิดกันไหมว่าทำไมเดี๋ยวนี้เราถึงได้ยินข่าวคนอายุน้อย ๆ เป็นมะเร็งกันเยอะขึ้น ซึ่งอันนี้ไม่ใช่แค่รู้สึกไปเองนะ จากข้อมูลของ Our World in Data ในปี 2021 พบว่าคนไทยอายุต่ำกว่า 50 ปีเป็นมะเร็งมากกว่าค่าเฉลี่ยของโลกถึง 2 เท่า อันนี้นี่ไม่ใช่เรื่องเล็กเลย เพราะแต่ก่อนเราอาจจะคิดว่ามะเร็งเป็นเรื่องของคนอายุเยอะ แต่ตอนนี้ดูเหมือนว่ามันกำลังกลายเป็นโรคของวัยรุ่นและวัยทำงานไปแล้ว
ปัจจัยที่ทำให้คนไทยอายุน้อยเป็นมะเร็งกันเยอะขึ้น
แล้วทำไมถึงเป็นแบบนั้น? อะไรคือปัจจัยที่ทำให้คนไทยเสี่ยงมากกว่าคนทั่วโลก? วันนี้มาดูกันว่า 5 ปัจจัยที่ทำให้คนไทยอายุน้อยเป็นมะเร็งกันเยอะขึ้นมีอะไรบ้าง
1. อาหารและพฤติกรรมการกิน
พูดถึงอาหารไทยแล้วมันน่าอร่อยใช่ไหม? แต่อาหารที่เรากินกันทุกวันบางอย่างมี สารก่อมะเร็งแบบเน้น ๆ โดยที่เราอาจไม่รู้ตัว เช่น หมูปิ้ง ไก่ย่าง เนื้อย่าง หมูกระทะ อะไรพวกนี้
ถ้ามีรอยไหม้เกรียมเมื่อไหร่ ให้รู้ไว้เลยว่ามีสาร PAHs (Polycyclic Aromatic Hydrocarbons) ที่ก่อให้เกิดมะเร็ง ไม่ใช่แค่นั้นนะ อาหารหมักดองที่คนไทยชอบ เช่น แหนม ปลาร้า ไส้กรอกอีสาน ล้วนมี ไนเตรต ไนไตรต์ ซึ่งเป็นสารกันเสียที่แปรสภาพเป็นสารก่อมะเร็งในร่างกาย
นอกจากนี้ ปลาร้าและอาหารหมักดองยังมีสารอะฟลาทอกซิน ซึ่งเป็นตัวการสำคัญของมะเร็งตับ
แล้วจะแก้ยังไงดี?
-ถ้าจะกินปิ้งย่างให้เลือกที่ไม่ไหม้เกรียม หรือเลี่ยงไปเลย
-ลดอาหารหมักดอง และถ้าจะกินก็เลือกที่สะอาด ไม่ใส่สารกันเสียมาก
-กินผักผลไม้เยอะ ๆ เพื่อช่วยล้างสารพิษออกจากร่างกาย
2. มลภาวะและสารพิษ
ถ้าใครอยู่กรุงเทพฯ เชียงใหม่ หรือเมืองใหญ่ ๆ ต้องเจอกับปัญหา PM2.5 กันบ่อยๆนะ ซึ่งมันไม่ได้มีผลแค่ทำให้เป็นภูมิแพ้หรือหายใจลำบาก แต่ องค์การอนามัยโลก (WHO) จัดให้ PM2.5 เป็นสารก่อมะเร็งกลุ่ม 1 คือมันเล็กพอที่จะเข้าไปในปอดและเลือดเรา แล้วไปกระตุ้นให้เซลล์กลายพันธุ์
นอกจากนี้เรายังต้องเจอกับ สารเคมีจากยาฆ่าแมลง ที่ตกค้างในผักผลไม้ และ โลหะหนักในอาหารทะเล เช่น ตะกั่ว ปรอท และแคดเมียม ซึ่งพวกนี้จะสะสมในร่างกายเราไปเรื่อย ๆ และไปทำลายเซลล์จนกลายเป็นมะเร็ง
วิธีแก้ไขคือ
-ใส่หน้ากากกันฝุ่นเวลามี PM2.5 สูง ๆ
-ล้างผักผลไม้ให้สะอาด หรือเลือกแบบออร์แกนิกถ้าทำได้
-ถ้ากินอาหารทะเล ควรเลือกจากแหล่งที่น่าเชื้อถือ

สรุปข่าว
3. ไลฟ์สไตล์ ทำงานหนัก เครียดหนัก กินแย่ พักผ่อนน้อย
คนยุคนี้ใช้ชีวิตหนักขึ้น ทำงานดึก พักผ่อนน้อย กินอะไรง่าย ๆ ความเครียดสะสมเป็นตัวเร่งให้เซลล์ผิดปกติ เพราะไปกระตุ้นให้ร่างกายเกิด ออกซิเดชัน (Oxidative stress) ซึ่งเป็นภาวะที่อนุมูลอิสระทำลายเซลล์
นอกจากนี้ พฤติกรรมดื่มหนัก สูบบุหรี่ หรือแม้แต่ดื่มน้ำไม่พอ ก็ส่งผลโดยตรงต่อการเกิดมะเร็ง เช่น
-แอลกอฮอล์ เพิ่มความเสี่ยงมะเร็งตับ และมะเร็งทางเดินอาหาร
-บุหรี่ มีสารก่อมะเร็งกว่า 70 ชนิด และทำให้เป็นมะเร็งปอด ช่องปาก และหลอดอาหาร
-น้ำน้อย ทำให้ของเสียตกค้างในร่างกาย เสี่ยงมะเร็งกระเพาะปัสสาวะและไต
เพราะฉะนั้นทางแก้คือ พยายามลดความเครียด นอนให้เพียงพอ ดื่มน้ำเยอะ ๆ และหากหลีกเลี่ยงไม่ได้ ควรหาวิธีดูแลตัวเอง
4. พันธุกรรมและปัจจัยเสี่ยงที่เลี่ยงไม่ได้
ถ้าพ่อแม่หรือญาติใกล้ชิดเคยเป็นมะเร็งมาก่อน โอกาสที่เราจะเป็นมะเร็งก็สูงกว่าคนทั่วไป ยีนบางตัวมีผลทำให้ร่างกายของเรามีแนวโน้มที่จะกลายพันธุ์และเกิดมะเร็งได้ง่ายขึ้น
ตัวอย่างเช่น
-ยีน BRCA1 และ BRCA2 ที่เพิ่มโอกาสเกิดมะเร็งเต้านมและรังไข่
-ยีนที่เกี่ยวกับการเผาผลาญสารพิษ ทำให้บางคนไวต่อสารก่อมะเร็งมากกว่าคนอื่น ลดความเสี่ยงได้ด้วย
-ถ้ามีประวัติครอบครัวเป็นมะเร็ง ควรตรวจสุขภาพเป็นประจำ
-ออกกำลังกาย และกินอาหารที่ช่วยลดความเสี่ยง เช่น ผักผลไม้ที่มีสารต้านอนุมูลอิสระ
5. การติดเชื้อที่เพิ่มความเสี่ยงมะเร็ง
มะเร็งบางชนิดไม่ได้เกิดขึ้นเอง แต่มาจาก การติดเชื้อเรื้อรัง เช่น
-ไวรัส HPV ทำให้เกิดมะเร็งปากมดลูก ช่องปาก และลำคอ
-ไวรัสตับอักเสบบี และ ซี เป็นสาเหตุสำคัญของมะเร็งตับ
-แบคทีเรีย H. pylori ทำให้เกิดมะเร็งกระเพาะอาหาร
วิธีแก้
-ฉีดวัคซีนป้องกัน HPV และไวรัสตับอักเสบบี
-ใช้ถุงยางอนามัยเพื่อลดความเสี่ยงในการติดเชื้อ HPV
-ตรวจสุขภาพและหาเชื้อ H. pylori หากมีอาการปวดท้องเรื้อรัง
ถึงคนไทยจะเป็นมะเร็งกันเยอะ และมะเร็งจะฟังดูน่ากลัว แต่เราป้องกันได้ถ้ารู้จักดูแลตัวเอง เริ่มจากอาหาร ไลฟ์สไตล์ และการตรวจสุขภาพเป็นประจำ ไม่ต้องรอให้ร่างกายส่งสัญญาณเตือน เพราะมะเร็งส่วนใหญ่เมื่อรู้ตัวแล้วมักจะสายไป แค่ดูแลตัวเองวันนี้ ลดความเสี่ยงไปได้มากแล้ว