TNN คดียุบพรรค มรสุมทางการเมือง บทเรียนจาก "ไทยรักไทย" ถึง รัฐบาล "แพทองธาร"

TNN

TNN Exclusive

คดียุบพรรค มรสุมทางการเมือง บทเรียนจาก "ไทยรักไทย" ถึง รัฐบาล "แพทองธาร"

คดียุบพรรค มรสุมทางการเมือง บทเรียนจาก ไทยรักไทย ถึง รัฐบาล แพทองธาร

น.ส.แพทองธาร ชินวัตร กำลังจะเป็นหัวหน้าพรรคเพื่อไทยครบ 1 ปี ในวันที่ 27 ตุลาคม 2567 แต่เพียงเดือนที่ 2 ในการนั่งเก้าอี้ผู้นำประเทศ ก็กลับต้องเผชิญกับมรสุมทางการเมืองในคดียุบพรรค ที่นายทักษิณ ชินวัตร ผู้เป็นพ่อ และนายสมชาย วงศ์สวัสด์ อาเขย ต้องเผชิญท่ามกลางความมั่นใจจากมือกฎหมายว่าจะไม่ซ้ำรอย "ไทยรักไทย-พลังประชาชน" แน่นอน

ภาพแกนนำ และ ตัวแทนพรรคร่วมรัฐบาลเดินทางเข้าสู่บ้านจันทร์ส่องหล้า ในช่วงค่ำวันที่ 14 สิงหาคม หลังศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้ความเป็นรัฐมนตรีของนายเศรษฐา ทวีสิน สิ้นสุดลง กลายเป็นสารตั้งต้นที่นำมาสู่ 6 คำร้องยื่นยุบพรรคเพื่อไทย และ พรรคร่วมรัฐบาล ในประเด็นนายทักษิณ ชินวัตร ซึ่งไม่ใช่สมาชิกพรรค มีการครอบงำ และ ชี้นำ 6 พรรคการเมือง


หลัง กกต.รับคำร้อง พร้อมตั้งคณะกรรมการสอบสวนในประเด็นดังกล่าว  ปฏิกิริยาต่อมา คือ กิจกรรมดินเนอร์พรรคร่วมรัฐบาลที่ภาพปรากฏออกมาผ่นสื่อมวลชนบรรยากาศจะเป็นไปด้วยความชื่นมื่น เพราะเป็นการพบปะหารือเพื่อพูดคุยกันเป็นครั้งแรกของแกนนำพรรคร่วมรัฐบาล น.ส.แพทองธาร ชินวัตร  แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่าหัวข้อสนทนาในวงดินเนอร์ รวมถึง


การแยกคุยกันระหว่าง น.ส.แพทองธาร หัวหน้าพรรคเพื่อไทย กับ หัวหน้าพรรคร่วมคงหนีไม่พ้นประเด็นทางการเมือง ตั้งแต่การแก้รัฐธรรมนูญ ปี 2560 การตรากฎหมายนิรโทษกรรม และอาจรวมไปถึงแนวทางการต่อสู้คดียุบพรรคเพื่อไทยและ 6 พรรคร่วมรัฐบาลด้วย  

ภาพในวันนี้พรรคร่วมยังดูเป็นปึกแผ่นจากเสียงสัมภาษณ์ถึงคดียุบพรรคที่ล้วนเป็นไปในแนวทางเดียวกัน โดยยืนยันว่า "ไม่มีใครมาชี้นำหรือครอบงำ พรรคการเมืองได้เพราะทุกอย่างมีกฎหมายล็อคไว้อยู่แล้ว" 


แม้สุ้มเสียงจากพรรคเพื่อไทย และ 6 พรรคร่วม ต่างมีความมั่นใจในข้อเท็จจริง และ ไม่เชื่อว่าประเด็นดังกล่าวจะนำมาสู่การถูกตัดสินยุบพรรค แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่าพรรคเพื่อไทย และ พรรคร่วมเองต่างก็เคยมีบทเรียนจากอดีตในคดียุบพรรคไม่มากก็น้อย แต่หากย้อนไปดูจำนวนพรรคการเมืองที่ถูกตัดสินยุบพรรค นับแต่การประกาศ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยพรรคการเมือง 2541 อำนาจในการยุบพรรคการเมืองเป็นหน้าที่ของศาลรัฐธรรมนูญในการวินิจฉัยและชี้ขาด ซึ่งก่อนหน้านี้เคยมีพรรคการเมืองที่ถูกยุบไปแล้วจำนวน 111 พรรค โดยรายล่าสุด คือ พรรคก้าวไกล


ทั้งนี้หากดูเฉพาะรายละเอียดในคดีสำคัญในการยุบพรรคการเมืองที่มีบทบาทและความสำคัญทางการเมืองจะพบว่า 

ในปี 2550 มีการพิจารณาตัดสินคดียุบพรรค โดยศาลรัฐธรรมนูญ จากกรณีจ้างพรรคการเมืองขนาดเล็กลงสมัครรับเลือกตั้งเพื่อหนีเกณฑ์ 20% และปลอมแปลงเอกสารฐานข้อมูลสมาชิกพรรค 

ศาลรัฐธรรมนูญ  ตัดสินยุบพรรคไทยรักไทย และ ตัดสิทธิกรรมการบริหารพรรค 5 ปี  รวม 111 คน 

ศาลรัฐธรรมนูญ  ตัดสินยุบพรรคพัฒนาชาติไทย และ ตัดสิทธิกรรมการบริหารพรรค 5 ปี รวม 19 คน

ศาลรัฐธรรมนูญ  ตัดสินยุบพรรคแผ่นดินไทย และ ตัดสิทธิกรรมการบริหารพรรค 5 ปี รวม คน


ในปี 2551 มีการพิจารณาตัดสินคดียุบพรรค โดยศาลรัฐธรรมนูญ จากกรณีกรรมการบริหารพรรคกระทำผิดกฎหมายเลือกตั้ง 

ศาลรัฐธรรมนูญ  ตัดสินยุบพรรคพลังประชาชนและตัดสิทธิกรรมการบริหารพรรค 5 ปี จำนวน 37 คน  

ศาลรัฐธรรมนูญ  ตัดสินยุบพรรคชาติไทยและตัดสิทธิกรรมการบริหารพรรค 5 ปี จำนวน 43 คน  

ศาลรัฐธรรมนูญ  ตัดสินยุบพรรคพรรคมัชฌิมาธิปไตย และตัดสิทธิกรรมการบริหารพรรค 5 ปี จำนวน 29 คน  

 

ในปี 2562 ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาตัดสินคดียุบพรรคไทยรักษาชาติ พร้อมตัดสิทธิทางการเมืองกรรมการบริหารฯ รวม 37 คน เป็นเวลา 10 ปี จากกรณีเสนอชื่อ ทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนฯ อยู่ในบัญชีรายชื่อนายกรัฐมนตรีของพรรคฯ 

 

ปี 2563 ศาลรัฐธรรมนูญมีการพิจารณาตัดสินคดียุบพรรคอนาคตใหม่ พร้อมตัดสิทธิทางการเมืองกรรมการบริหารฯ รวม 16 คน เป็นเวลา 10 ปี จากกรณีนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคฯ ให้กู้เงิน จำนวน 191 ล้านบาท 


ปี 2567 ศาลรัฐธรรมนูญ การพิจารณาตัดสินคดียุบพรรคก้าวไกล หลัง กกต. ยื่นคำร้องให้พิจารณาวินิจฉัย กรณีเข้าข่ายล้มล้างการปกครอง พร้อมตัดสิทธิกรรมการบริหารพรรค 11 คน เป็นเวลา 10 ปี

 

บทเรียนทางการเมืองจากคำตัดสินยุบพรรคไทยรักไทย ในปี 2550 และ ยุบพรรคพลังประชาชนในปี 2551 ทำให้การจัดตั้งพรรคเพื่อไทยยุคแรกมีการวางแทคติกทางการเมือง โดยแยกคีย์แมน กับกรรมการบริหารพรรคออกจากกัน เพื่อป้องกันอุบัติเหตุทางการเมืองเหมือนในอดีต เช่นกรณี นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ ที่หลุดจากเก้าอี้นายกฯ หลังคำสั่งยุบพรรคพลังประชาชน 


ดังนั้นพรรคเพื่อไทยในยุคตั้งต้น แม้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร จะถูกเสนอให้เป็นนายกรัฐมนตรี แต่ก็ไม่ได้เป็นกรรมการบริหารพรรค  มาจนถึงการเลือกตั้งครั้งล่าสุดจะเห็นว่าบัญชีรายชื่อนายกฯของเพื่อไทย ทั้ง นายเศรษฐา ทวีสิน น.ส.แพทองธาร ชินวัตร   และ นายชัยเกษม นิติศิริ ล้วนไม่ได้เป็นกรรมการบริหารพรรคเพื่อไทยทั้งสิ้น   


แต่แล้วในวันที่ 27 ตุลาคม 2566 น.ส.แพทองธาร ชินวัตร ได้รับการคัดเลือกจากกรรมการบริหารพรรคเพื่อไทยให้เป็นหัวหน้าพรรคคนใหม่   ถือเป็นครั้งแรกในรอบ 16 ปี ที่คีย์แมนจากตระกูลชินวัตร เข้าสู่ตำแหน่งกรรมการบริหารพรรค ถือเป็นการทิ้งแทคติกทางการเมืองในรูปแบบเดิมที่ใช้ในการป้องกันผลกระทบ กรณีถูกยุบพรรค 


ขณะที่น.ส.แพทองธาร กำลังจะเป็นหัวหน้าพรรคเพื่อไทยครบ 1 ปี ในวันที่ 27 ตุลาคม 2567 แต่เพียงเดือนที่ 2 ในการนั่งเก้าอี้ผู้นำประเทศ ก็กลับต้องเผชิญกับมรสุมทางการเมืองในคดียุบพรรค ที่นายทักษิณ ชินวัตร ผู้เป็นพ่อ และนายสมชาย วงศ์สวัสด์ อาเขย ต้องเผชิญ 


สำหรับขั้นตอนของคดียุบพรรค ทางสำนักงาน กกต. จะส่งเรื่องให้คณะกรรมการ กกต.พิจารณาอย่างละเอียด หากพบว่าพฤติกรรมเข้าข่ายขัดต่อกฎหมาย จะส่งเรื่องไปยังศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อตัดสินว่าจะมีการยุบพรรคและเพิกถอนสิทธิทางการเมืองของกรรมการบริหารพรรคหรือไม่ ซึ่งคงต้องจับตาว่าพรรคเพื่อไทยจะถูกขึ้นบัญชีเป็นพรรคที่ 112 ที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งให้ยุบพรรคหรือไม่


เรียบเรียงโดย วุฒิพันธุ์ เปรมาสวัสดิ์ รองบรรณาธิการ TNN Online  

ข่าวแนะนำ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง