TNN Work Hard To Survive ? เมื่อวัยรุ่นจีนไม่สนงานมั่นคง ขอเดินตามฝันเพื่อหาความหมาย

TNN

TNN Exclusive

Work Hard To Survive ? เมื่อวัยรุ่นจีนไม่สนงานมั่นคง ขอเดินตามฝันเพื่อหาความหมาย

Work Hard To Survive ? เมื่อวัยรุ่นจีนไม่สนงานมั่นคง ขอเดินตามฝันเพื่อหาความหมาย

เมื่อไม่นานมานี้ เราอาจได้ยินคำกล่าวว่า เราต้อง Work hard to Survive หรือ ทำงานหนักเพื่อเอาตัวรอด แทนการทำงานแบบ Work life balance เนื่องด้วยสภาวะเศรษฐกิจที่มีความผันผวนสูงมาก อาจบังคับให้เราต้องต้องทำทุกทาง เพื่อรักษางานไว้ให้แน่น

แม้สภาพเศรษฐกิจจะเป็นจริงอย่างที่กล่าว แต่เทรนด์ใหม่ในคนรุ่นใหม่จีนตอนนี้ คือ เลิกทำงานหนักหันไปเป็นอินฟลูฯ หรือ ทำตามความฝัน เพราะพวกเขามองว่า การทำงานหนัก ไม่ได้ให้ผลตอบแทนเท่าที่ควร 


---งานประจำไร้ความหมาย หนุ่มสาวจีนมองหาความสุขของชีวิต---


กัว ถิง สาวชาวจีนวัย 27 ปี ตัดสินใจลาออกจากงานประจำที่มั่นคง มุ่งมั่นเดินตามฝันเป็นนักแสดง เธอย้ายมาอยู่เหิงเตีhยน เมืองที่ได้ขึ้นว่าคือ “ฮอลลีวูดแห่งแดนตะวันออก”


เธอฝันอยากจะเป็นนักแสดงมาตั้งแต่เด็ก ๆ แต่ความฝันนั้นต้องถูกลบออกไปจากผู้ใหญ่รอบตัวของเธอ ที่ต้องการให้เธอมีงานประจำ เป็นไปตามแบบแผนสูตรสำเร็จของการสร้างเส้นทางความมั่นคงที่ถ่อยทอดต่อ ๆ กันมารุ่นสู่รุ่น 


แต่หลังจากทำงานไปได้ไม่กี่ปี กัวก็ตระหนักได้ว่า “ความสุขคือสิ่งที่สำคัญที่สุด” ในชีวิตของเธอ 

“ฉันไม่รู้ว่าแนวคิดการทำงานของคนรุ่นก่อนเเป็นอย่างไร แต่สำหรับฉันคือเครื่องมือที่จะช่วยเติมเต็มเวลาของคุณ และความสุขคือสิ่งสำคัญที่สุด” กัว กล่าว 


ทุกวันนี้ กัว ถิง หาเงินได้ราว 2,000 หยวนต่อเดือน หรือ ประมาณเกือบ 10,000 บาท จากงานเพียงไม่กี่อย่างที่เธอทำได้ 


“เมื่อก่อน ฉันมีเงินเดือนที่มั่นคง ไม่เคยต้องกังวลว่าจะใช้จ่ายไม่พอ ฉันมาเหิงเตี้ยนด้วยเงินเก็บบางส่วน ฉันไม่ต้องเครียด ถ้าฉันไม่มีเงินเก็บ ฉันอาจรู้สึกกดดันบ้าง เพราะในช่วงเริ่มต้น คุณไม่รู้ว่าจะได้แสดงภาพยนตร์เมื่อไหร่ การตัดสินใจอยู่ในมือคนอื่น”


เธอเผยด้วยว่า ยังมีเพื่อนอีกหลายคนของเธอ ก็ตัดสินใจย้ายมาอยู่ที่เหิงเตี้ยน เพื่อทำตามความฝันและความสุขของพวกเขาเอง โดยพวกเขาต่างก็เคยเป็นพนักงานออฟฟิศมาเหมือนกัน และทำให้พวกรู้สึกว่า การทำงานประจำเป็นสิ่งที่ “ไร้ความหมาย” สำหรับพวกเขา 


---ทำงานหนักไปก็ไร้ผล---


ณ มณฑลเจ้อเจียง อู๋ หยาง หนุ่มวัย 20 ปี ตัดสินใจเป็นพ่อค้าไลฟ์สด เนื่องจากเขาไม่อยากรับรายได้ขั้นต่ำอีกต่อไป หลังเคยทำงานเป็นเด็กเสิร์ฟในร้านอาหารเมื่อเรียนจบ


“ผมทำงานเป็นเด็กเสิร์ฟในร้านอาหาร มันวุ่นวายมาก และมันรู้สึกเหมือนว่า ผมแค่กำลังฆ่าเวลาไปกับการทำงาน” อู๋ หยาง กล่าว 


“รุ่นพวกเราเชื่อว่า การทำงานหนักไม่ได้ผล ผมหาเงินได้ และทำกำไรได้มหาศาล ถ้ารู้สึกไม่ดี ผมจะออกไปเดินเล่น แทนที่จะอยู่ที่นี่และทำงานต่อ ถ้าผมประสบความสำเร็จเรื่องอิสรภาพทางการเงิน ผมอาจจะเกษียณในช่วง 20-30 ปี” เขา กล่าว 


ชีวิตของกัว ถิง และอู๋ หยาง เกิดขึ้นท่ามกลางกระแสค่านิยมใหม่ของคนหนุ่มสาวที่ตัดสินใจละทิ้งคำสอนดั้งเดิมในการสร้างชีวิตอันมั่นคง อย่างเช่น ทำงานประจำ มีบ้าน มีรถ แต่งงาน แล้วมีลูก เป็นสิ่งที่ไม่สามารถตอบโจทย์ชีวิตพวกเขาต่อไปได้อีกแล้ว และเลือกลาออกมายึดถือหลักความสุขเป็นสิ่งที่สำคัญ


---ทิ้งชีวิตมนุษย์เงินเดือน ตามฝันเป็น “อินฟลูฯ”---


ผิงเจียต้าเหริน บริษัทโฆษณาจีน เผยในรายงาน 2023 ว่า เดือนกันยายน 2021 - ตุลาคม 2022 จีนมีอินฟลูเอนเซอร์ประมาณ 10.1 ล้านคน โดยแต่ละคนจะมีฐานแฟนคลับราว 10,000 คน 


ข้อมูลล่าสุดจากสำนักงานสถิติแห่งชาติ ชี้ให้เห็นว่า ตลาดอินฟลูเอนเซอร์ของจีน จะมีมูลค่าแตะสูงถึง 6.7 ล้านล้านหยวน ในปี 2025 เพิ่มสูงขึ้นถึง 5 เท่าจาก 1.3 ล้านล้านหยวนในปี 2020  


หันกลับมาดูประเทศไทยบ้านเราตอนนี้ มีอินฟลูเอนเซอร์มากถึง 2 ล้านคน นับได้ว่ามีจำนวนเยอะมากเป็นอันดับ 2 ของอาเซียน เป็นรองเพียงแค่อินโดนีเซียเท่านั้น


ส่วนหนึ่งที่คนรุ่นใหม่หันมาเป็นอินฟลูมากขึ้น เป็นผลมาจากสถานการณ์โควิดที่ผ่านมา บวกกับความนิยมของ TikTok ที่เพิ่มมากขึ้น เปิดพื้นที่ให้ใครก็ได้มาแสดงผลงาน จนได้รับความนิยม และกลายเป็นบุคคลที่มีชื่อเสียง สร้างรายได้ให้กับตัวเอง บางคนอาจได้รับมากกว่ารายได้จากงานประจำ จึงตัดสินใจที่จะผันตัวมาเดินหน้าทางด้านนี้อย่างจริงจัง


---ปราศจากความทะเยอทะยาน ปล่อยชีวิตไปตามความสุข---


ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา สื่อจีนได้รายงานถึงกระแสการละทิ้งงานประจำของพวกเขา เพื่อมองหาโอกาสอื่น ๆ ที่หลากหลายกว่า สิ่งนี้ได้ดึงดูดความสนใจต่อสาธารณชน เกิดข้อถกเถียงมากมาย และมองหาเหตุผลเบื้องลึกของแนวคิดที่เปลี่ยนไปจากเดิม ตลอดจนเส้นทางที่คนรุ่นใหม่เลือกจะปฏิบัติในสมัยนี้ 


ค่านิยม ‘Lying Flat’ และ ‘Letting it rot’ กำลังเป็นที่นิยมมากขึ้นเรื่อย ๆ ในกลุ่มคนหนุ่มสาวชาวจีน เมื่อพวกเขาไม่ต้องความทะเยอทะยานในชีวิตอีกต่อไป ท่ามกลางกระแสการแข่งขันอันดุเดือดในเรื่องของงาน


“บางคน โดยเฉพาะคนที่มาจากครอบครัวร่ำรวย ตอนนี้ พยายามกำหนดนิยามความหมายของความสำเร็จใหม่” เมียว เจีย ผู้เชี่ยวชาญด้านสังคมวิทยา จากมหาวิทยาลัยนิวยอร์กเซี่ยงไฮ้ กล่าวกับสำนักข่าว AFP 


“เมื่อพวกเขาได้รับการศึกษาที่ดีขึ้น และหลังจากที่พวกเขาได้รับผลประโยชน์จากการเติบโตทางเศรษฐกิจที่รวดเร็วขึ้น คนหนุ่มสาวก็เริ่มคิดว่า อะไรคือสิ่งที่ทำให้พวกเขามีความสุข” เธอ กล่าว 


---คนหนุ่มสาวบางส่วน ยังคงต้องการความมั่นคง---


แม้กระแสไม่เอางานประจำจะเพิ่มมากขึ้น แต่ท่ามกลางภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัว ก็ส่งผลให้คนหนุ่มสาวบางส่วนเลือกที่จะใช้วิถีแบบดั่งเดิม และหันมองหางานที่มั่นคงกว่าที่เป็นอยู่มากขึ้น โดยเฉพาะงานราชการ หรือ บริษัทที่มีรัฐเป็นเจ้าของ 


“คนรุ่นใหม่ในจีนจะมีความหลากหลายมากกว่าคนรุ่นก่อน ๆ” เมียว เจีย กล่าว 


คนรุ่นใหม่หลายคนประสบปัญหาเรื่องการหางานทำ โดยจีนมีอัตราการว่างงานในคนกลุ่มนี้สูงถึง 14.2% ในเดือนพฤษภาคม 


---Work Hard to Survive ไหมไม่รู้ แต่ Work Hard แล้วตาย คือของจริง---


องค์การอนามัยโลกได้ใช้คำว่า “Karoshi Syndrome” เพื่อเก็บสถิติว่า แต่ละปีมีคนตายจากการทำงานหนักทั่วโลกเท่าไหร่ 


งานวิจัยเมื่อไม่นานมานี้ ชี้ว่า คนที่ทำงานหนักเกิน 54 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ มีความเสี่ยงที่จะตายจากการทำงานมากเกินไป 


ผลศึกษานี้ ซึ่ง WHO ทำร่วมกับ องค์การแรงงานระหว่างประเทศ ชี้ว่า ประชากรโลกเสียชีวิตจากการทำงานหนัก มากกว่ามาลาเรียระบาดเสียอีกในแต่ละปี และการทำงานหนักจนตาย เป็นวิกฤตสาธารณสุขโลกไปแล้ว 


ปัจจัยสำคัญที่นำมาสู่การเสียชีวิตจากการทำงาน คือ การทำงานยาวนานเกินไปในแต่ละสัปดาห์ เพราะความเครียดมันจะสะสมจนเรื้อรัง นำมาสู่ฮอร์โมนความเครียดในร่างกายที่เพิ่มสูง ซึ่งยิ่งฮอร์โมนนี้เพิ่มสูง ก็จะทำให้ความดันเลือดและคอร์เรสเตอรอลพุ่งขึ้นด้วย 


อีกประการสำคัญ ทำงานนาน ๆ ก็มีเวลานอนน้อยลง ไม่ได้ออกกำลังกาย หันไปทานอาหารไม่มีโภชนาการที่ดี รวมถึงแก้เครียดด้วยการสูบบุหรี่และดื่มแอลกอฮอล์ ซึ่งล้วนแล้วแต่ไม่ดีต่อสุขภาพ

ข้อมูลยังชี้ว่า แรงงานในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รวมถึงไทย ทำงานยาวนานมากที่สุดในโลก โดยประเทศไทย ติดอันดับ 5 ของโลก ที่พนักงานประจำทำงานหนักเกิน 48% ต่อสัปดาห์


แต่จากบรรยากาศทางเศรษฐกิจ และเสียงผู้คนในสังคมออนไลน์ กลับชี้ไปว่า ทำงานหนักแค่ไหนก็ไม่ประสบความสำเร็จ และไม่มีความสุข ซึ่งเรื่องนี้ อาจเป็นเรื่องของ “ระบบ” มากกว่า “วัฒนธรรมการทำงาน” ก็เป็นได้


แปล-เรียบเรียง: พรวษา ภักตร์ดวงจันทร์ 

ข้อมูลอ้างอิง: 

https://www.straitstimes.com/business/young-chinese-seek-alternative-jobs-in-shifting-economy

https://www.straitstimes.com/asia/east-asia/wang-hong-culture-booms-in-china-as-more-young-people-dream-of-becoming-influencers

https://www.abc.net.au/news/2023-09-23/young-chinese-increasingly-quitting-jobs-social-media-influencer/102876034

https://www.tnnthailand.com/news/tnnexclusive/170653/

ข่าวแนะนำ