อุตสาหกรรม “รวยปลอม” (Fake Wealth) รุ่งเรือง ตามเทรนด์อินฟลูฯ อวดรวย

การเป็นอินฟลูเอนเซอร์ที่ประสบความสำเร็จเป็นหนึ่งในหนทางสู่ความมั่งคั่งร่ำรวย ซึ่งรายงานเมื่อช่วงปี 2020 ระบุว่าการมีผู้ติดตามเพียง 42,575 คนก็เพียงพอที่จะสร้างรายได้จากการโฆษณา หรืองานออนไลน์ต่าง ๆ เท่ากับ รายได้เฉลี่ยในประเทศอังกฤษแล้ว แม้กระทั่งอินฟลูเอนเซอร์เสมือนจริง ซึ่งไม่ได้มีตัวตนจริง ๆ ยังมีรายได้มากกว่า 10 ล้านดอลลาร์ หรือประมาณ 338 ล้านบาทต่อปี แต่ปัญหาคือมันไม่ง่ายที่อินฟลูทุกคนจะประสบความสำเร็จ บางคนจึงหันไปใช้ตัวช่วยทำให้ดูรวยแทนในยูทูบ บรรดาบล็อกเกอร์จะใช้โปรแกรมโฟโต้ช็อปแต่งภาพตัวเองอยู่บนชายหาดสวยงาม หรือชอปปิงในห้างหรูเพื่อหลอกคนดูให้คิดว่าพวกเขาเป็นคนรวยและสมควรได้รับการชม กระบวนการคิดแบบเดียวกันนี้ใช้ได้กับอินสตาแกรมเช่นกัน ผู้คนติดตามอินฟลูเอนเซอร์ และคนดังที่ร่ำรวย เพื่อดูความรวยในระดับที่ตัวเองเอื้อมไม่ถึงทุกวัน แม้ว่าอินฟลูฯ หลาย ๆ คน จะไม่ได้ร่ำรวยจริง ๆ แต่ถ้าสามารถแสดงความรวยได้ถึงระดับหนึ่งและทำให้คนเชื่อได้ ก็ไม่ใช่เรื่องยากที่จะมีผู้คนติดตามหลักหลายแสนหรือหลายล้านคน


เมื่อปี 2020 มีทวีตหนึ่งที่เผยข้อมูลว่า บรรดาอินฟลูเอนเซอร์บนโซเชียลมีเดียจ้างสตูดิโอถ่ายภาพในลอสแองเจลิสเพื่อถ่ายภาพเหมือนตัวเองอยู่ภายในเครื่องบินส่วนตัว ด้วยค่าใช้จ่ายเพียง 64 ดอลลาร์ต่อชั่วโมง ซึ่งเมื่อเรื่องนี้ถูกเผยแพร่ออกไป ก็เป็นกระแสไวรัลไปทั่วทั้งโซเชียล ว่าแท้ที่จริงแล้ว อินฟลูฯ บนโซเชียลมีเดียและเพื่อน ๆ ที่ทำเหมือนว่า เช่าเครื่องบินส่วนตัว และใช้ชีวิตเหมือนฝัน ทำตัวเหมือนพวกเขาต่างจากคนทั่วไป กลับกลายเป็นว่าเป็นภาพถ่ายที่จัดฉากขึ้นมาทั้งหมด

อุตสาหกรรม “รวยปลอม” (Fake Wealth) รุ่งเรือง ตามเทรนด์อินฟลูฯ อวดรวย

สรุปข่าว

อินฟลูเอนเซอร์นิยมเช่าสินค้าแบรนด์เนม เพื่ออวดความมั่งคั่งลงโซเชียลมีเดีย สิ่งนี้คือส่วนหนึ่งของอุตสาหกรรมรวยปลอม ที่เติบโตมากขึ้นเรื่อย ๆ และได้รับความนิยมทั้งในไทย และทั่วโลก แต่สุดท้ายมันก็เป็นการกระทำที่คนอื่นดูออกได้ง่าย และอาจส่งผลต่อภาพลักษณ์ของตัวอินฟลูฯ เอง

อย่างที่ประเทศจีน ก็มีบริการแบบเดียวกัน สำหรับคนที่อยากมีภาพถ่ายที่ดูรวย ๆ ไปโพสต์ลงโซเชียล ด้วยราคาที่ถูกแบบไม่น่าเชื่อ แค่จ่ายเงิน 6 หยวน หรือ 28 บาท คุณก็สามารถมีวิดีโอรถยนต์ราคาแพง วิวพักตากอากาศในเมืองเขตร้อน และกองเงินสดจำนวนมาก เพื่ออัปโหลดบนสตอรี่ IG ของตัวเองสวย ๆ ได้ ซึ่งจริง ๆ ใช้วิดีโอสต็อกที่มีขายทั่วไป และใส่เสียงของคุณเข้าไปแค่นั้น


ส่วนในอังกฤษก็นิยมการซื้อถุงแบรนด์เนม หรือกล่องแบรนด์เนมเปล่า ๆ มาตั้งให้ดูเหมือนรวย เหมือนซื้อใช้เอง มีผู้ขายขายถุง หรือกล่องแบรนด์เนมโดยเฉพาะ พวกเขามีกล่องและถุงเปล่ากว่า 600 ใบ โดยส่วนใหญ่เป็นถุงและกล่องของ Chanel, Tiffany, Pandora หรือถุงผ้าของ Gucci, Louis Vuitton หรือ Dior ซึ่งราคาไม่ได้ถูกเลย อย่างกล่องใส่หมวกของ Gucci ราคา 35 ปอนด์ กล่องใส่รองเท้าของ Dior ราคา 30 ปอนด์ (1,532 บาท) ริบบิ้น Hermes สี่เส้นราคา 20 ปอนด์ (875 บาท) กล่องใส่รองเท้า Louboutin และถุงของขวัญราคา 55 ปอนด์ (2,408 บาท)โดยกล่องนี้มาพร้อมใบเสร็จต้นฉบับของ Harrods ด้วยจริง ๆ 

เรื่องนี้ก็ไม่ใช่เรื่องใหม่สำหรับประเทศไทย เพราะเราก็จะเคยเห็นเทรนด์การเอาริบบิ้นจากกล่อง หรือถุงสินค้าแบรนด์เนม มาทำเป็นโบว์มัดผมกัน ส่วนการซื้อขายกล่องและถุงก็มีให้เห็นทั่วไปบนโซเชียลมีเดียในกลุ่มคนไทยนอกจากนี้ ก็ยังมีธุรกิจให้เช่าสินค้าแบรนด์เนม มาใช้อวดถ่ายรูปลงบนโซเชียลมีเดียไม่กี่วัน ซึ่งได้รับความนิยมอย่างมาก เห็นได้จากจำนวนร้านให้เช่าที่ผุดขึ้นเป็นดอกเห็ด เพียงแค่ค้นหาบนกูเกิลด้วยคำว่า “เช่าสินค้าแบรนด์เนม” รายชื่อเว็บไซต์ และร้านค้าบนโซเชียลมีเดียก็แสดงผลขึ้นมาเต็มไปหมด


เว็บไซต์ให้เช่าสินค้าแบรนด์เนมเว็บไซต์หนึ่ง มีสินค้าแบรนด์เนมให้เช่าทุกชนิด ตั้งแต่กางเกง กระเป๋า แว่นตา เสื้อโค้ด เข็มขัด และอื่น ๆ อีกมากมาย เรียกได้ว่ามีทุกอย่างเท่าที่ช็อปแบรนด์เนมจะมีขาย ราคาเริ่มต้นก็เพียงหลักร้อย อย่างแว่นตากันแดด Bottega Sunglasses ก็เริ่มต้นเพียงวันละ 900 บาท หรือกระเป๋า Balenciaga Shopping Phone Bag ก็เริ่มเพียงวันละ 1,500 บาท หากเหล่าอินฟลูฯ ที่อยากทำตัวรวย ๆ เช่ามาถ่ายรูปลงโซเชียลมีเดียสักวัน เพื่อแลกกับยอดวิว และยอดไลก์ ก็คุ้ม และมันอาจทำให้พวกเขามีผู้ติดตามมากขึ้น และได้โฆษณามากขึ้นในอนาคต


อย่างไรก็ตามหลายคนมองว่า การพยายามทำตัวให้ดูรวย แต่จริง ๆ นั้นไม่รวย ดูออกได้ง่ายมาก เพราะสินค้าแบรนด์เนมที่พวกเขาสวมใส่ มักจะโผล่มาเพียงไม่กี่ครั้งและหายไป หรือมักใส่เสื้อที่เน้นโลโก้ของแบรนด์แบบชัด ๆ ตลอดเวลา จนดูเหมือนพยายามอวดเกินไป สุดท้ายแล้วความพยายามทำตัวรวยของเหล่าอินฟลูฯ อาจไม่ส่งผลดีนัก เพราะอาจเป็นการปิดโอกาสการได้โฆษณาจากแบรนด์เนมระดับโลกเสียเอง

ที่มาข้อมูล : vice

ที่มารูปภาพ : Freepik

avatar

ณัฐณิชา นิจผล