คนรุ่นใหม่ต้อง ‘บ้านรวย-OnlyFans-ดวงเฮง’ ถึงจะซื้อบ้านได้ ในยุคราคาบ้านพุ่ง
การได้เป็นเจ้าของ “บ้าน” อาจเป็นความใฝ่ฝันสูงสดของใครหลายคน สัญลักษณ์ที่แสดงถึงความมั่นคง และความสำเร็จ แต่ความฝันที่วาดไว้เหล่านี้ อาจพังทลายลง ไม่เหลือแม้กระทั่งความหวังให้กับคนรุ่นใหม่ เมื่อภาวะเงินเฟ้อที่พุ่งสูง ค่าครองชีพที่มากเกินจะจ่ายไหว กำลังค่อย ๆ กัดกินหนทางสู่แห่งการสร้างเนื้อสร้างตัว
---คนรุ่นใหม่ซื้อบ้านไม่ไหว---
ผลสำรวจ “ส่องกำลังซื้อที่อยู่อาศัย...ซื้อไหวไหมในกลุ่มรายได้ปานกลางลงมา” จากศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ หรือ SCB EIC เขียนโดย กัญญารัตน์ กาญจนวิสุทธิ์ เปิดเผยว่า ในปี 2022 สัดส่วนการเป็นเจ้าของที่อยู่อาศัยในกรุงเทพฯ และปริมณฑลอยู่ที่ 43% ลดลงอย่างต่อเนื่องจากปี 2021 จากเดิมอยู่ที่ 47% และหากดูจากตารางด้านล่างที่แนบไว้ จะพบว่า สัดส่วนการเช่าบ้านในกรุงเทพฯ และปริมณฑลมีแนวโน้มสูงขึ้นเรื่อย ๆ โดยปี 2022 อยู่ที่ 42%
อ่านผลสำรวจฉบับเต็ม:
ที่มา: การวิเคราะห์โดย SCB EIC จากข้อมูลของสำนักสถิติแห่งชาติ
สาเหตุที่สัดส่วนการเป็นเจ้าของที่อยู่อาศัยของคนไทยลดลง มาจากแรงกดดันหลายด้าน ไม่ว่าจะเป็น ราคาบ้านที่ปรับตัวสูงขึ้น หนี้ครัวเรือนสูง และอัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้น สะท้อนข้อจำกัดในการครอบครองที่อยู่อาศัยที่ยากเกินเอื้อม โดยเฉพาะกลุ่มที่มีรายได้ระดับปานกลางลงมา และกลุ่มที่มีความเปราะบางทางการเงิน
นอกจากนี้ ข้อมูลจากบริษัท แอล ดับเบิลยู เอส วิสดอม แอนด์ โซลูชั่นส์ จำกัด หรือ LWS บริษัทวิจัยและพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ในเครือ LPN เผยว่า ราคาที่อยู่อาศัยในกรุงเทพฯ-ปริมณฑล ปี 2566 ปรับตัวเพิ่มขึ้นถึง 24% เฉลี่ยอยู่ที่ 5.49 ล้านบาทต่อหน่วย
หากเมื่อพิจารณาร่วมกับแนวโน้มการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำในไทย ที่ปัจจุบันยังเฉลี่ยอยู่ที่ 330-370 บาทต่อวัน หรือหากคิดเป็นเงินเดือนคนจบ ป.ตรี จะอยู่ที่ราว 15,000-20,000 บาท จะพบได้ว่า รายได้ของคนไทยที่มีอยู่ นั่นเติบโตไม่ทันราคาบ้าน และบ่อยครั้ง ที่คนรุ่นใหม่ส่วนใหญ่ เลือกจะ “เช่า” มากกว่า “ซื้อ”
---ไม่ใช่ ไม่อยากซื้อ แต่เงินไม่มี---
ผลสำรวจ SCB EIC ยังพบว่า ผู้ตอบแบบสอบถามส่วนใหญ่ราว 81% ยังนิยมการซื้อที่อยู่อาศัยมากกว่าการเช่า สะท้อนค่านิยมในการเป็นเจ้าของที่อยู่อาศัย
ขณะที่ 19% เลือกที่เช่า แทนการซื้อ สาเหตุหลักมาจาก งบประมาณไม่พอสำหรับการซื้อที่อยู่อาศัย โดยส่วนใหญ่มีรายได้ต่ำกว่า 50,000 บาทต่อเดือน ประกอบกับเมื่อเผชิญกับราคาบ้านที่พุ่งสูงลิ่ว เศรษฐกิจยังเอาแน่เอานอนไม่ได้ ทำให้หลายคน เลือกจะชะลอการซื้อบ้านออกไปก่อน
กลุ่มช่วงอายุที่เลือกวางแผนเช่าที่อยู่อาศัยมากที่สุด คือ คนกลุ่ม Gen Y และ Gen Z คิดเป็น 23% เมื่อเทียบกับกลุ่มคน Gen X และ Baby boomer ที่มีแผนเช่าที่อยู่อาศัยเหมือนกัน สาเหตุหนึ่งมาจาก ข้อจำกัดทางด้านการเงินที่ยังไม่พร้อมในการซื้อที่อยู่อาศัย, ยังไม่ตัดสินใจลงหลักปักฐานที่ใดที่หนึ่ง รวมถึงไม่มีแนวคิดที่จะต้องการมีบ้านเป็นของตนเอง
อย่างไรก็ตาม หากเราต้องการซื้อบ้านหลังหนึ่ง หลักการส่วนใหญ่ที่พวกเรามักได้ยินมา นั่นคือ ยอดผ่อนต้องไม่เกิน 40% ของเงินเดือน เมื่อพิจารณาจากเงินเดือนเฉลี่ยของคนรุ่นใหม่ที่เพิ่งจบมา จะพบว่า พวกเขามีวงเงินกู้ได้แค่ราว 900,000-1,200,000 บาท ซึ่งเมื่อมองจากราคาบ้านในกรุงเทพฯ ตอนนี้ แทบจะหาซื้อไม่ได้ด้วยราคานี้ ยกเว้นเสียแต่ว่า จะเลือกไปซื้อในทำเลที่ห่างจากตัวเมือง หรือ แถบปริมณฑล
และถ้าหากต้องการซื้อบ้านในกรุงเทพฯ จริง ๆ อย่างน้อยก็ต้องมีเงินราว 3 ล้านบาทในการซื้อบ้านสักหลังหนึ่งในแถบชานเมืองของกรุงเทพฯ ซึ่งถ้าเราไม่มีคู่สมรส พี่น้อง มาช่วยกู้ร่วม เท่ากับว่า เราต้องมีเงินเดือนอย่างน้อย 50,000 บาท เพื่อที่จะซื้อบ้านราคา 3 ล้านบาท
ทั้งนี้ นี่เป็นหลักการคำนวณการวางแผนซื้อบ้านคร่าว ๆ ยังไม่รวมโปรโมชันอัตราดอกเบี้ยของแต่ละธนาคาร การวางเงินดาวน์ และความจำเป็นของแต่ละบุคคล
---ต้องบ้านรวย, ทำ OnlyFans และดวงเฮง ถึงจะซื้อบ้านได้ในยุคนี้—
ไทยไม่ใช่ประเทศเดียวที่กำลังคนรุ่นใหม่ไม่สามารถที่จะซื้อบ้านเป็นของตัวเองได้ แต่คนหนุ่มสาวทั่วโลกก็กำลังเผชิญปัญหานี้เช่นกัน
บทความจาก News.com.au เว็บไซต์ข่าวของออสเตรเลีย ระบุว่า หนทางเดียวที่คนรุ่นใหม่ออสเตรเลียจะมีบ้านเป็นของตัวเองในซิดนีย์ได้ คือ พวกเขาต้องเป็นคนที่มาจากตระกูลรวย ไม่ก็ทำ OnlyFans หรือเป็นคนดวงเฮง
ข้อสรุปดังกล่าว ถอดมาจากคำพูดของ ‘ทอม ปานอส’ นักธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ที่ให้สัมภาษณ์รายการพอดแคสต์ Yellow Brick Road
ปานอส ระบุด้วยว่า ถ้าหากคุณไม่ได้มาจากตระกูลที่ร่ำรวย คุณต้องใช้เวลาถึง 20 ปี ในการเก็บเงินเพื่อดาวน์บ้านหลังหนึ่ง ซึ่งปัจจุบัน คุณจะต้องมีรายได้ประมาณ 300,000 ดอลลาร์สหรัฐ (11 ล้านบาท)เพื่อดาวน์บ้านในซิดนีย์ จึงไม่แปลกว่า ทำไมคนรุ่นใหม่เวลาจะซื้อบ้าน ถึงต้องมีพ่อแม่คอยช่วยด้วย
“15 ปีที่แล้ว อายุเฉลี่ยของผู้กู้สินเชื่อซื้อบ้านอยู่ที่ 23 ปี แต่ปี 2024 อายุเฉลี่ยของผู้กู้ซื้อบ้านเพิ่มขึ้นเป็น 32 ปี” ปานอส กล่าว
ทั้งนี้ สาเหตุที่ทำให้คนรุ่นใหม่ในออสเตรเลียซื้อบ้านเป็นของตัวเองได้ยาก เหตุผลไม่ต่างจากไทยมากนัก นั่นคือ พวกเขากำลังเผชิญกับภาวะเงินเฟ้อหนัก และแม้ออสเตรเลียจะมีแนวโน้มการเติบโตของค่าแรงขั้นต่ำในอัตราที่เร็วสุดในรอบทศวรรษ แต่ด้วยราคาที่พุ่งสูงของตัวบ้าน ทำให้ชาวออสเตรเลียส่วนใหญ่ยังคงไม่สามารถที่จะมีบ้านเป็นของตัวเองได้สักหลังในซิดนีย์
---คนรุ่นใหม่สหรัฐฯ เลือกอยู่บ้านกับพ่อแม่ เพราะซื้อบ้านเองไม่ไหว—
เช่นเดียวกับสหรัฐฯ ชาวอเมริกันที่อายุระหว่าง 23-40 ปี ราว 70% ที่ต้องการซื้อบ้าน ไม่สามารถซื้อได้ เนื่องจากไม่มีเงิน และคนที่สามารถซื้อบ้านด้วยตัวเองได้ในภายหลัง จะพบว่า เริ่มต้นได้ช้ากว่ายุคพ่อแม่พวกเขา
โดยกลุ่มคนมิลเลนเนียลมีเพียง 43% เท่านั้น ที่มีบ้านเป็นของตัวเอง และเนื่องจากราคาบ้านในสหรัฐฯ ตอนนี้ พุ่งสูงเกือบ 120% นับตั้งแต่ปี 1965 ก็มีแนวโน้มที่จะทำให้คนรุ่นหลังมีบ้านเป็นของตัวเองได้ลำบากขึ้น
นอกจากนี้ หนี้กูยืมเพื่อการศึกษาของสหรัฐฯ ก็มีส่วนที่ทำให้คนรุ่นใหม่บางส่วนไม่สามารถสร้างเนื้อสร้างตัวได้ เนื่องจากพวกเขาจบการศึกษามาพร้อมด้วยหนี้ก้อนโต โดยส่วนใหญ่เลือกที่จะอาศัยอยู่กับครอบครัว
---หนทางของการซื้อบ้านของคนรุ่นใหม่—
แน่นอนว่า การมีบ้านเป็นของตัวเอง ยังถือเป็นความฝันของใครหลายคน แต่เมื่อพิจารณาจากราคาที่อยู่อาศัยในกรุงเทพฯ และปริมณฑลแล้ว การมองหาบ้านราคาต่ำกว่า 3 ล้านสักหลัง อาจจะเป็นเรื่องยากสำหรับคนรุ่นใหม่ส่วนใหญ่ หรือ หาได้ ก็อาจกู้ไม่ผ่าน เพราะรายได้ไม่ถึงเกณฑ์กู้
จากผลสำรวจของ SCB EIC ได้ระบุข้อเสนอแนะว่า ภาครัฐอาจพิจารณามาตรการส่งเสริมการครอบครองที่อยู่อาศัยเป็นของตนเองได้มากขึ้น เพื่อเสริมสร้างความมั่นคงด้านที่อยู่อาศัย รวมถึงกระตุ้นภาคอสังหาริมทรัพย์ให้ฟื้นตัวได้เร็วขึ้น และยังจะช่วยส่งผลบวกต่อเนื่องไปยังธุรกิจที่เกี่ยวข้อง เช่น บริษัทรับเหมาก่อสร้าง, บริษัทตกแต่งภายใน, วัสดุก่อสร้าง, ร้านขายเฟอร์นิเจอร์ และเครื่องใช้ไฟฟ้า เป็นต้น
ตัวอย่างมาตรการที่รัฐควรพิจารณา เพื่อให้คนไทยมีที่อยู่อาศัยเป็นของตนเอง ได้แก่
สนับสนุนสินเชื่ออัตราดอกเบี้ยต่ำสำหรับกลุ่มผู้มีรายได้น้อย
ตรึงอัตราดอกเบี้ยสินเชื่อสำหรับกลุ่มผู้ซื้อที่อยู่อาศัยหลังแรก
ลดหย่อนภาษีสำหรับกลุ่มผู้ซื้อที่อยู่อาศัยหลังแรก
ลดค่าธรรมเนียมการโอน และค่าจดจำนองสำหรับที่อยู่อาศัยระดับราคาไม่เกิน 3 ล้านบาท ที่จะสิ้นสุด ณ สิ้นปี 2023 ซึ่งอาจต่ออายุออกไป
ขยายวงเงิน และเพดานการปล่อยสินเชื่อ ในโครงการบ้านล้านหลัง
แปล-เรียบเรียง: พรวษา ภักตร์ดวงจันทร์
ข้อมูลอ้างอิง:
https://moneyandbanking.co.th/2024/89788/
https://fee.org/articles/heres-the-real-reason-young-people-can-t-afford-a-home/
ข่าวแนะนำ