TNN ทำไม “ความนิยมในทหาร” ของชายเกาหลีใต้ จึงสร้างสังคมกดขี่สตรีเพศ

TNN

TNN Exclusive

ทำไม “ความนิยมในทหาร” ของชายเกาหลีใต้ จึงสร้างสังคมกดขี่สตรีเพศ

ทำไม “ความนิยมในทหาร”  ของชายเกาหลีใต้  จึงสร้างสังคมกดขี่สตรีเพศ

ปัญหาที่แท้จริงของความไม่เท่าเทียมทางเพศในเกาหลีใต้ อยู่ที่ “ความนิยมในทหาร (Militarism)” ที่ก่อรูปมาพร้อม ๆ กับการสร้างประเทศ (Nation-building) อย่างไม่น่าเชื่อ

สังคมเกาหลีใต้ เป็นที่รับรู้โดยทั่วไปว่า “ชายเป็นใหญ่” สังเกตได้จากข่าวความไม่เป็นธรรมระหว่างผู้หญิงที่เสียเปรียบผู้ชายเสมอ ทั้งเรื่องของการเลื่อนตำแหน่งบริหารในบริษัท สัดส่วนนักการเมืองและข้าราชการ หรือกระทั่งหน้าที่ในการเลี้ยงดูบุตร และมักมีภาพสะท้อนออกมาผ่านวรรณกรรม ซีรีย์ หรือภาพยนตร์ ทั้งสิ้น


ในสังคมที่เป็นแบนี้ ส่วนมากมักกล่าวโทษ “ลัทธิขงจื่อ (Confucianism)” ที่เน้นคุณค่าของความกตัญญู การเคารพผู้ใหญ่ การรู้ที่ต่ำที่สูง และความรับผิดรับชอบ ว่าเป็นต้นตอของปัญหา


แต่หากเจาะลึกลงไปกว่านั้น จะพบว่า ปัญหาที่แท้จริง อยู่ที่ “ความนิยมในทหาร (Militarism)” ที่ก่อรูปมาพร้อม ๆ กับการสร้างประเทศ (Nation-building) อย่างไม่น่าเชื่อ


รับทราบครับท่าน!


ในงานศึกษา Militarized Modernity and Gendered Citizenship in South Korea และ South Korean Men and the Military: The Influence of Conscription on the Political Behavior of South Korean Males ได้บ่งชี้ข้อเสนอไปในทิศทางเดียวกันว่า สังคมร่วมสมัยของเกาหลีใต้นั้น มีพัฒนาการโดยมีความนิยมในทหาร เป็นสิ่งตั้งต้น “ปลูกฝังค่านิยม” ความรักชาติบ้านเมืองของผู้ชายในประเทศ


หรือก็คือ หากชายเกาหลีคนใดปราศจากความนิยมในทหาร ก็เท่ากับว่าไม่ใช่ผู้ที่รักชาติบ้านเมือง และก็ไม่ใช่ชายชาติเกาหลีอย่างแท้จริง 


การผสมรวมกันนี้ ต้องย้อนไปในสมัยที่ ซึง มันรี ตั้งรัฐบาลพลัดถิ่นที่ปักกิ่ง ในคริสต์ทศวรรษ 1910s และต้องการกองกำลังเพื่อปลดแอกประเทศจากญี่ปุ่น จึงร่างรัฐธรรมนูญพลัดถิ่น 1919 ขึ้นเพื่อเกณฑ์ไพร่พล แต่ก็ไม่เป็นผลสำเร็จ เนื่องจากขาดความชอบธรรม


พอ ซึง มันรี ได้เป็นประธานาธิบดีคนแรกของเกาหลีใต้ จึงเล็งเห็นว่า การที่ประเทศจะอยู่ได้อย่างมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน จะต้องมีกองทัพที่เข้มแข็ง และกองทัพจะเข้มแข็งได้ ต้องสร้าง “ภัยคุกคาม” ขึ้นมาเสียก่อน


ในงานศึกษา State Security and Regime Security: President Syngman Rhee and the Insecurity Dilemma in South Korea 1953-60 ได้ชี้ชัดเพิ่มเติมว่า “เกาหลีเหนือ” คือภัยคุกคามสำคัญที่สุด ดังนั้น ซึง มันรี จึงมีความพยายามที่จะกล่าวย้ำให้ประชาชนตระหนักว่าเกาหลีเหนือคือศัตรู และสุภาพบุรุษทุกท่านต้องได้รับการเกณฑ์ทหาร จะไม่เสียเวลาเปล่า เพราะได้เป็นส่วนหนึ่งในการธำรงความมั่นคงของประเทศไว้


ตัวอย่างเช่น “เราทราบว่าพวกคอมมิวนิสต์เป็นอย่างไร และเราไม่จำเป็นต้องไปพินอบพิเทาพวกนั้นมากนัก เราจะไม่พยายามอยู่ร่วมกับพวกอหิวาห์นี่แน่นอน”


หรือ “หากสิ่งนี้ (ประชาธิปไตย) คือความต้องการของประชาชน ผมก็ขอลาออกจากตำแหน่งเสียดีกว่า… ผมจริงใจกับประชาชนเสมอว่า เวลานี้พวกคอมมิวนิสต์เตรียมพร้อมจะรุกรานเราตลอด แต่เราจะทำสุดความสามารถในการป้องปรามให้ถึงที่สุด”


แคมเปญนี้ อาจจะเรียกว่า “พลังทางทหาร (전력)” เพราะพิจารณาจากการจัดสรรงบประมาณแผ่นดิน ในช่วงที่ ซึง มันรี ครองอำนาจ พบว่า โดยเฉลี่ยมีอัตราถึงร้อยละ 50.9 ของงบประมาณส่วนอื่น ๆ ทั้งหมด หรือคิดเป็นอัตราเกินครึ่งเลยทีเดียว


บรรดาชายฉกรรจ์ในเกาหลีใต้ ณ ตอนนั้น จึงผูกโยงตนเองเรื่องความนิยมในทหารเข้ากับความรักชาติบ้านเมืองอย่างแยกจากกันไม่ขาด ชุดวิธีคิดของพวกเขาจึงเป็นอะไรที่ “นายสั่งแล้วต้องได้ดั่งใจ” และเมื่อเขาสั่งใครก็จะต้อง “สั่งได้ดั่งใจ” เช่นกัน


แต่ที่ก้าวล้ำไปอีกขั้น นั่นคือ ในยุคการปกครองของอำนาจนิยมทหาร “พัค ช็อง ฮี” ที่ได้ต่อยอดความคิดความนิยมในทหารของ ซึง มันรี โดยไม่ได้จำกัดเพียงการเข้ากรมแล้วจะปลูกฝังเท่านั้น แต่พัคยังได้แพร่กระจายความนิยมในทหารสู่ “ภาคประชาชน” เสียด้วย


พัคได้เชิดชู “พลังทหารไร้รูป (무형전력)” ที่เน้นการรู้หน้าที่ของตนเองในสังคม ต้องรู้ว่าตนนั้นต้องทำประโยชน์ให้สังคมแบบเกิดประโยชน์สูงสุด ซึ่งหน้าที่ดังกล่าว ไม่ได้มีเพียงเรื่องของการเกณฑ์ทหารเพียงอย่างเดียว แต่ยังต้องเป็น “นักรบอุตสาหกรรม” ที่จะต้องทำงานหนัก ทำงานเต็มที่ และทำงานอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อให้ประเทศชาติพัฒนาต่อไปได้แบบมีเสถียรภาพ


และที่สำคัญ นักรบอุตสาหกรมต้องทำตามคำสั่งของเจ้านายอย่างเคร่งครัด เพื่อไม่ให้เกิดการแตกแถว ที่จะส่งผลเสียต่อการพัฒนาประเทศได้ในภายหลัง เราจึงเห็นแรงงานเกาหลีมีชั่วโมงในการทำงานเหนือกว่าใครในโลก โดยเฉลี่ยราว ๆ 12 ชั่วโมงต่อวัน และอาจมากถึง 16 ชั่วโมงในช่วงสุดสัปดาห์


การนำวิถีทางการทหารเข้ามาอยู่ในโลกของอุตสาหกรรม จึงทำให้สังคมของเกาหลีใต้นั้นเป็นเนื้อเดียวกันอย่างมาก ไม่ว่าจะอยู่ในกรมหรืออยู่ข้างนอก ดังนั้น การกระทำใด ๆ ที่อาจจะดู “ไม่สมเหตุสมผล” อย่างเรื่องของการบังคับขู่เข็ญ การด่าทอเสีย ๆ หาย ๆ หรือการทำร้ายร่างกายของผู้ที่ “มียศหรือตำแหน่งสูงกว่า” ก็พลอยเป็นเรื่องปกติไปด้วย


ศัพท์เกาหลีเรียกสิ่งนี้ว่า “คับจิล (갑질)” ซึ่งคับจิลนี้เอง จะทำให้เกิดปัญหาตามมาใน “ภาคธุรกิจ” อย่างไม่น่าเชื่อ


คับจิล คับใจ!


ในงานศึกษา An Empirical Study on ‘Gapjil’ Culture in Korean Society และ A Theoretical Analysis on Leaders’ Gapjil: Its Antecedents, Processes, and Consequences ได้ชี้ชัดไปในแนวทางเดียวกันว่า รอยทางจากความนิยมในทหาร การฟังค่ำสั่งอย่างเคร่งครัด และการหมายให้ผู้อื่นปฏิบัติตามหากอาวุโสน้อยกว่า ได้ลุกลามมายังโลกของการบริหารกิจการบริษัทอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้


เพราะเมื่อเวลาผ่านไป แม้ประเทศจะเป็นประชาธิปไตยแล้ว แต่บรรดานักรบอุตสาหกรรมพวกนี้ ก็ได้ขึ้นเป็นเจ้าคนนายคน อย่าลืมว่าคนเหล่านี้เคยได้รับความกดดันอย่างหนักจากการต้องเป็นผู้แบกจีดีพีของประเทศมาก่อน เมื่อมีตำแหน่งที่สูงขึ้น ชุดวิธีคิดแบบคับจิลก็ยิ่งมากขึ้น ในฐานะที่จะทำให้ผู้ใต้บังคับบัญชาเจริญรอยตาม เราจึงจะเห็นได้ว่า หากทำงานไม่ได้ดั่งใจ ก็จะมีการลงโทษรุนแรง 


โดยเฉพาะผู้หญิง จะเป็นเหยื่อของเรื่องนี้มากที่สุด เพราะผู้หญิงถือเป็นลำดับชั้นที่ต่ำเกือบที่สุดในสังคม เพราะทำหน้าที่ภรรยาและแม่ ไม่ต้องเข้ากรมหรือเป็นนักรบอุตสาหกรรม นั่นหมายความว่า ผู้หญิงไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของการสร้างประเทศ


ประกอบกับประสิทธิภาพในการทำงานของผู้หญิง ที่ไม่อาจจะสู้ผู้ชายในการขายแรงงานในอุตสาหกรรมหนัก อาทิ การถลุงเหล็ก การแบกหาม หรือการขนส่ง นั่นจึงทำให้ ผู้หญิงได้รับการเลือกปฏิบัติอย่างรุนแรง และมีข่าวเสีย ๆ หาย ๆ ออกมาให้ได้เห็นเป็นประจำ


แม้จะเข้าสู่ยุคสมัยใหม่ของธุรกิจ ที่หันมาเน้นการสร้างเศรษฐกิจเชิงสร้างสรรค์ หรือการพัฒนาเทคโนโลยี ที่ไม่จำเป็นต้องแบ่งแยกทางเพศให้มากความ เพราะเป็นงานใช้สติปัญญา แต่สิ่งนี้ก็ยังคงปรากฏอยู่แบบไม่ขาดสาย 


มีสถิติออกมาว่า ในปี 2012 พบว่านักเรียนมัธยมปลายเพศชายจำนวน 329,751 คน เลือกที่จะเข้ารับการเกณฑ์ทหารมากกว่าที่จะทำการสอบซูนึงเพื่อเรียนต่อในระดับมหาวิทยาลัย คิดเป็นร้อยละ 80 ของจำนวนทั้งหมดของนักเรียนมัธยมเพศชายในประเทศ ตรงนี้ มีนัยยะสำคัญว่า แม้ว่ากรมทหารจะไม่ได้ทำให้ชีวิตก้าวหน้ามากกว่าการได้วุฒิปริญญาตรี และเป็นการตัดอนาคตด้านการหารายได้จากการทำงาน แต่ก็ยังมีความต้องการในการเข้ากรมอย่างมากในเกาหลีใต้ แม้จะมีการให้สิทธิผ่อนผันได้เท่าที่อยากผ่อนผันก็ตาม


เมื่อมาถึงตรงนี้ จะเห็นได้ว่า ชุดวิธีคิดบางสิ่งบางอย่างที่สร้างขึ้นมา เพื่อใช้ในบริบททางการเมืองและเศรษฐกิจในยุคหนึ่ง เมื่อเวลาผ่านไป ก็ใช่ว่าชุดวิธีคิดนั้นจะหายไป หรือเปลี่ยนแปลงตาม กลับกัน ยังจะส่งผลให้เกิดความคิดฝังหัวที่ยากจะเปลี่ยนแปลงจากรุ่นสู่รุ่นได้


ฉะนั้น จะเลือกทางเดินแบบใด ต้องคิดให้รอบคอบเสียก่อน ไม่เช่นนั้น มาแก้ลำทีหลัง เป็นเรื่องยากยิ่งกว่าเข็นครกขึ้นภูเขาเสียอีก 


Exclusive by วิศรุต หล่าสกุล


แหล่งอ้างอิง


  • หนังสือ Militarized Modernity and Gendered Citizenship in South Korea

  • หนังสือ State Security and Regime Security: President Syngman Rhee and the Insecurity Dilemma in South Korea 1953-60

  • บทความ South Korean Men and the Military: The Influence of Conscription on the Political Behavior of South Korean Males

  • บทความ Transnational militarism and ethnic nationalism: South Korean involvements in the Vietnam and Iraq wars

  • บทความ Standing against Workplace Bullying (Gapjil)

  • บทความ What Brings Customer Gapjil? The Intertwined Effects of Perceived Economic Mobility, Self-Other Referent Priming, and Temporal Focus

  • บทความ An Empirical Study on ‘Gapjil’ Culture in Korean Society

  • บทความ A Theoretical Analysis on Leaders’ Gapjil: Its Antecedents, Processes, and Consequences

ข่าวแนะนำ