TNN “โลกร้อนหยุดไม่อยู่” ข้อมูลชี้โลกเดือดทุบสถิติ ต่อเนื่อง 11 เดือน ปีหน้าร้อนยิ่งกว่า

TNN

TNN Exclusive

“โลกร้อนหยุดไม่อยู่” ข้อมูลชี้โลกเดือดทุบสถิติ ต่อเนื่อง 11 เดือน ปีหน้าร้อนยิ่งกว่า

“โลกร้อนหยุดไม่อยู่” ข้อมูลชี้โลกเดือดทุบสถิติ ต่อเนื่อง 11 เดือน ปีหน้าร้อนยิ่งกว่า

โลกร้อนระอุ อุณหภูมิสูงทุบทำลายสถิติตัวเองติดต่อกันนานถึง 11 เดือน ส่วนท้องทะเลนั้น อุณหภูมิพื้นผิวน้ำร้อนจัดสูงสุดในเดือนเมษายน ทำลายสถิติต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 13 สูงสุดเป็นประวัติการณ์

โลกร้อนขึ้นทุกปี อากาศร้อนจะระอุหนักยิ่งขึ้นไปอีก แล้วมนุษยชาติจะทำอย่างไร เมื่อ “โลกเดือด” มากขึ้น แบบไม่มีลงลดเลย 


—โลกร้อนทุบสถิติ ติดต่อนาน 11 เดือน—


โครงการบริการการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโคเปอร์นิคัสของสหภาพยุโรป เผยผล การศึกษาใหม่เมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา ระบุว่า เดือนเมษายน ปี 2024 ที่ผ่านมา อุณหภูมิค่าเฉลี่ยโลกสูงขึ้นทุบทำลายสถิติเดิมเป็นเดือนที่ 11 ติดต่อกัน 


ผลการศึกษานี้ เป็นหนึ่งในการบันทึกสถิติอุณหภูมิโลกที่ยาวนานหลายสิบปี และแต่ละปีอุณหภูมิก็มีแต่จะร้อนขึ้น จากวิกฤตเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ


รายงานดังกล่าว เผยว่า นับตั้งแต่เดือนมิถุนายนปีที่แล้ว ทุกเดือนอุณหภูมิจะทุบสถิติของเดือนเดียวกันในอดีต 


อย่างเดือนเมษายนที่ผ่านมา อุณหภูมิสูงขึ้นเฉลี่ย 1.58 องศาเซลเซียส เมื่อเทียบกับสถิติเดือนเมษายน ในช่วงยุคก่อนอุตสาหกรรม ปี 1850-1900 


นอกจากนี้ อุณหภูมิค่าเฉลี่ยของโลกในช่วง 12 เดือนที่ผ่านมา สูงขึ้น 1.6 องศาเซลเซียส เกินกว่าเป้าหมายตามข้อตกลงปารีสที่กำหนดไว้ว่า ไม่ควรเพิ่มขึ้นเกิน 1.5 องศาเซลเซียส เมื่อเทียบกับยุคก่อนอุตสาหกรรม


“เดือนเมษายนปีนี้ เป็นเดือนเมษายนที่ร้อนสุดที่เป็นประวัติการณ์ทั่วโลก ดังนั้น เมื่อพิจารณาจากอุณหภูมิอากาศพื้นผิวเฉลี่ยทั่วโลก นี่คือ เดือนที่ 11 ที่อุณหภูมิสูงสุดเป็นประวัติการณ์ เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน ฉะนั้น นี่จึงเป็นหนึ่งในสถิติอุณหภูมิโลกที่ยาวที่สุดเท่าที่เราเคยเห็นมาในช่วงหลายสิบปีนี้” จูเลียน นิโคลัส นักวิทยาศาสตร์ด้านภูมิอากาศแห่งโคเปอร์นิคัส กล่าว


หนึ่งในสาเหตุที่ทำให้อุณหภูมิปีนี้สูงสุดยาวนานต่อเนื่อง ส่วนหนึ่งมาจาก ‘เอลนีโญ’ ปรากฎการณ์ที่ทำให้อุณหภูมิผิวน้ำทะเลในมหาสมุทรแปซิฟิกสูงขึ้น 


ส่งผลให้เกิดภัยพิบัติร้ายแรงและฉับพลันทั่วโลก บางพื้นที่อาจแล้งจัด จนน้ำแห้งเหือด ขณะที่ บางพื้นที่ก็ต้องเผชิญน้ำท่วม ฝนตกหนัก ผู้คนต้องไร้ที่อยู่อาศัย  


โดยแถบเอเชีย ตั้งแต่อินเดียไปจนถึงเวียดนาม รวมถึงไทย ประชาชนและสิ่งมีชีวิตต้องทนทุกข์ทรมานจากคลื่นความร้อนที่ปกคลุมหลายสัปดาห์ โรงเรียนถูกสั่งปิด ประชาชนได้รับผลกระทบทางสุขภาพ กระทบผลผลิตทางการเกษตร หนักสุดหลายคนต้องเสียชีวิตจากโรคลมแดด  


ขณะที่ บราซิลต้องประสบภัยน้ำท่วมอย่างรุนแรงในพื้นที่ทางตอนใต้ จนทำให้มีผู้เสียชีวิตนับร้อยหลายคน สูญหายอีกร้อยคน 


นอกจากนี้ หลายพื้นที่ในอเมริกาเหนือ เอเชียกลาง และอ่าวเปอร์เซีย ที่ต้องเผชิญน้ำท่วม หลังเกิดฝนตกหนัก


ส่วนออสเตรเลียเผชิญกับฝนตกหนักในทางตะวันออก และพื้นที่ส่วนใหญ่ของประเทศต้องเผชิญกับความแห้งแล้งมากกว่าปกติ เช่นเดียวกับทางตอนเหนือของเม็กซิโก และบริเวณรอบ ๆ ทะเลแคสเปียน


สภาพอากาศสุดขั้วที่เราเห็นอยู่นี้ มาทั้งในรูปแบบของน้ำท่วม และภัยแล้ง ซึ่งเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นพร้อมกันทั่วโลกในเดือนเมษายนปีนี้ และปัจจัยก็หนีไม่พ้น วิกฤตสภาพภูมิอากาศเปลี่ยนแปลง


ท้องทะเลเดือดไม่แพ้บนดิน


นอกจากพื้นผิวอากาศที่มีอุณหภูมิสูงขึ้นทำลายสถิติต่อเนื่อง แต่ใต้ท้องทะเล อุณหภูมิค่าเฉลี่ยพื้นผิวทะเลโลกในเดือนเมษายน ก็ยังทำลายสถิติเป็นเดือนที่ 13 ติดต่อกัน 


อุณหภูมิมหาสมุทรที่สูงขึ้น คุกคามสิ่งมีชีวิตใต้ท้องทะเล ส่งผลให้ความชื้นในชั้นบรรยากาศเพิ่มมากขึ้น ซึ่งเป็นผลเสียต่อศักยภาพในการดูดซับก๊าซเรือนกระจก 


บรรดาผู้เชี่ยวชาญชี้ว่า ในช่วงครึ่งปีหลัง โลกจะเห็นการเปลี่ยนผ่านไปสู่ ‘ลานีญา’ ซึ่งเป็นปรากฎการณ์ตรงข้ามกับ เอลนีโญ กล่าวคือ อุณหภูมิในน้ำทะเลจะต่ำลง 


แต่นักวิทยาศาสตร์ก็ตั้งข้อสังเกตว่า แม้เอลนีโญจะสิ้นสุดลงแล้ว แต่อุณหภูมิโลกอาจยังคงสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องก็เป็นได้


“นี่คือสิ่งที่สำคัญที่สุด สิ่งที่น่าสงสัยที่สุดคือ แม้ว่าเอลนีโญจะสิ้นสุด แต่อุณหภูมิผิวน้ำทะเลทั่วโลกก็ยังคงสูงอยู่ ในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมา เมื่อพิจารณาจากบันทึกทั้งหมดนี้ เราได้เห็นการทำลายสถิติในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมา นักวิทยาศาสตร์หลายคนตั้งคำถามว่าระบบภูมิอากาศโลกจะมีการเปลี่ยนแปลงหรือไม่” นิโคลัส กล่าว 


---เป้าหมาย 1.5 องศาฯ ทำได้จริง หรือ สายไปแล้ว ?—


สหประชาชาติ หรือ UN เคยออกมาเตือนเมื่อเดือนมีนาคมว่า มีความเป็นได้สูงที่ปี 2024 จะมีอุณหภูมิสูงที่สุดเป็นประวัติการณ์ 


หลายประเทศเห็นพ้องกับเป้าหมายพยายามจำกัดอุณหภูมิโลกไม่ให้สูงเกิน 1.5 องศาเซลเซียสในปี 2015 


นี่เป็นระดับที่นักวิทยาศาสตร์หลายคน มองว่า ต้องหลีกเลี่ยง เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบร้ายแรงที่สุดจากภาวะโลกร้อน อย่างเช่น คลื่นความร้อนรุนแรง น้ำท่วม และการสูญเสียระบบนิเวศอย่างถาวร 


สภาพอากาศที่แปรปรวน และอุณหภูมิที่เดือดขึ้น เหมือนโลกกำลังถูกต้มเช่นนี้ สร้างความท้าทายให้กับรัฐบาลทั่วโลกว่า จะบรรลุเป้าหมายในการควบคุมอุณหภูมิให้ไม่เกิน 1.5 องศาเซลเซียสได้หรือไม่ 


นักวิทยาศาสตร์บางส่วนมองว่า อุณหภูมิที่สูงขึ้นเช่น มันอาจฟันธงได้แล้วว่า บางทีเราอาจทำไม่สำเร็จ


แปล-เรียบเรียง: พรวษา ภักตร์ดวงจันทร์ 


ข้อมูลอ้างอิง: 

World sweltered as April smashed global heat records - AFP 

Hottest April on record, as climate change drives 11-month streak - Reuters

https://climate.copernicus.eu/copernicus-global-temperature-record-streak-continues-april-2024-was-hottest-record

ข่าวแนะนำ