เปิดรายงาน “โลกร้อน” ล่าสุดยูเอ็น อุณหภูมิพุ่งแตะ 3 องศาฯ เข้าใกล้จุดหายนะ
สหประชาชาติออกรายงานโลกร้อนฉบับใหม่ อุณหภูมิโลกยังคงพุ่งทะยานไปข้างหน้าเกินเป้าที่กำหนดไว้ในข้อตกลงปารีส เนื่องจากหลายประเทศยังปล่อยก๊าซเรือนกระจกเกินที่ให้คำมั่นสัญญา
แม้จะมีคำมั่นสัญญาในการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของประเทศต่าง ๆ เพื่อจำกัดการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ แต่ดูเหมือนว่าจะไม่เป็นไปตามนั้น ตรงกันข้ามกลับยังคงทำให้โลกเดินหน้าสู่อุณหภูมิที่พุ่งสูงขึ้นเกือบ 3 องศาเซลเซียสในศตวรรษนี้ ตามรายงานการวิเคราะห์ของสหประชาชาติที่เผยแพร่ล่าสุด เมื่อวันจันทร์ที่ 20 พ.ย. ที่ผ่านมา
รายงานช่องว่างการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (Emissions Gap report) ประจำปี 2023 ของโครงการสิ่งแวดล้อมสหประชาชาติ ได้รับการเผยแพร่ก่อนการประชุมสุดยอดสภาพอากาศประจำปี ยูเอ็น หรือ COP28 ที่จะเกิดขึ้นที่ดูไบ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ระหว่าง 30 พ.ย.- 12 ธ.ค. ซึ่งเป็นเวทีที่ผู้นำโลกมาพบกัน มีจุดประสงค์ที่จะรักษาเป้าหมายไม่ให้อุณหภูมิโลกเพิ่มขึ้นเกิน 1.5 องศาเซลเซียส ตามข้อตกลงปารีส ซึ่งที่ประชุมจะนำเสนอให้ทั่วโลกตอบสนองความล้มเหลวในการควบคุมภาวะโลกร้อน เนื่องจากจนถึงขณะนี้ก๊าซเรือนกระจกยังถูกปลดปล่อยจากการทำกิจกรรมต่าง ๆ อย่างไม่หยุดยั้ง ส่งผลอุณหภูมิโลกไม่ได้ลดลงตามเป้า แต่ยังเพิ่มขึ้น
โดยรายงานฉบับใหม่ของยูเอ็นนี้ พบการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ซึ่งเป็นตัวการที่ทำให้เกิดภาวะโลกร้อน ที่ต้องลดลงประมาณร้อยละ 42 ภายในปี พ.ศ.2573 หรือ ค.ศ.2030 เพื่อให้อุณหภูมิโลกเพิ่มขึ้นเพียง 1.5 องศาเซลเซียส ตามเป้าหมายที่กำหนดไว้ แต่พบว่า โลกกลับยังเผชิญกับอุณหภูมิที่ร้อนขึ้นเหนือระดับก่อนยุคอุตสาหกรรมระหว่าง 2.5 ถึง 2.9 องศาเซลเซียส
รายงานประจำปีฉบับนี้ถือเป็นการประเมินคำมั่นสัญญาของประเทศต่าง ๆ เพื่อจัดการกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เทียบกับสิ่งที่จำเป็น หากรัฐบาลแต่ละประเทศไม่ส่งเสริมการแก้ปัญหาสภาพภูมิอากาศอย่างจริงจัง
เกิดอะไรขึ้น หากโลกร้อนถึง 3 องศาฯ ?
หากอุณหภูมิโลกร้อนขึ้นถึง 3 องศาเซลเซียส นักวิทยาศาสตร์คาดการณ์ว่า โลกอาจผ่านจุดหายนะหลายจุดที่ไม่อาจหวนกลับได้ ตั้งแต่การละลายของแผ่นน้ำแข็งขั้วโลก ไปจนถึงป่าฝนแอมะซอนที่อยู่ในสภาพแห้งแล้งอย่างไม่เคยเกิดขึ้น สถานการณ์เอลนีโญรุนแรง อากาศแปรปรวนป่วนไปในทุกภูมิภาคของโลก การเกิดภัยพิบัติแต่ละครั้งไม่ว่าจะเป็นพายุฝนถล่ม พายุหิมะ คลื่นร้อน ไฟป่า รุนแรงหนักหน่วงในหลายประเทศ
รองศาสตราจารย์ ดร. เสรี ศุภราทิตย์ ที่ปรึกษาศูนย์วิจัยอนาคตศึกษา ฟิวเจอร์เทลส์ แล็บ MQDC ระบุว่า รายงานต่าง ๆ ที่ออกมารองรับการประชุม COP 28 ก็เพื่อส่งต่อถึงผู้นำแต่ละประเทศที่เข้าร่วมประชุมให้ได้ช่วยกันตัดสินใจว่าจะเดินต่ออย่างไร จะดำเนินการตามข้อตกลงปารีสต่อได้หรือไม่ ที่ผ่านมาแม้ทั่วโลกให้ความสนใจต่อปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และมีความพยายามในเรื่องนี้มาตั้งแต่ ปี พ.ศ.2558 หรือ ค.ศ.2015 แต่จะเห็นว่าไม่เป็นผล เนื่องจากมีแต่ข้อตกลง แต่ไม่มีบทลงโทษ ยิ่งสถานการณ์ทางเศรษฐกิจที่ทั่วโลกเผชิญ การแข่งขันทางเศรษบกิจก็ยังสูง การใช้พลังงานต้นทุนต่ำยังไม่ลด การลงทุนเพื่อเทคโนโลยีพลังงานสะอาดยังน้อย
รองศาสตราจารย์ ดร. เสรี มองว่า หากปล่อยให้เป็นแบบนี้ โลกเข้าสู่หายนะแน่นอน และเราอาจได้เห็นอุณหภูมิโลกที่เพิ่มขึ้น 3 องศาฯ ในศตวรรษนี้แน่นอน
“หากอุณหภูมิโลกไปถึง 3 องศาฯ จริง นั่นหมายถึงเราจะเห็นโลกที่แห้งแล้งเพิ่มขึ้นอีก 3- 5 เท่า น้ำท่วมหนัก 2-3 เท่า”
ไทยหนาวสั้น ปีหน้าเจอร้อนแล้งหนัก ผลกระทบจากโลกร้อน
รองศาสตราจารย์ ดร. เสรี ชี้ให้เห็นผลกระทบชัด ๆ ที่ฤดูหนาวของไทยปีนี้ อุณหภูมิเฉลี่ยสูงขึ้น 2 องศาฯ อุ่นกว่าทุกปี และเกิดขึ้นในระยะสั้น ๆ คาดว่าจะอยู่แค่ถึงลอยกระทง (27 พ.ย.) เท่านั้น ในขณะเดียวกันคาดการณ์อุณหภูมิปี 2567 หลังเข้าสู่ปีใหม่อุณหภูมิเฉลี่ยตั้งแต่เดือนมกราคม จนถึงเดือนเมษายนจะสูงกว่าปกติทุกเดือนประมาณ 1-2 องศา ดังนั้นช่วงเดือนมีนาคมถึงเมษายนก็จะร้อน และแล้งมากกว่าทุกปีเช่นกัน เนื่องจากปัจจัยของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (โลกร้อน) และสภาพอากาศแปรปรวน (เอลนีโญ) นั่นเอง
จิตฤดี บรรเทาพิษ เรียบเรียง
ข้อมูลและภาพ TNN