TNN ลูกจ้าง "ร้านดารุมะ ซูชิ" ถูกลอยแพทั้ง 27 สาขา แรงงาน สั่งดูแลสิทธิโดยด่วน

TNN

สังคม

ลูกจ้าง "ร้านดารุมะ ซูชิ" ถูกลอยแพทั้ง 27 สาขา แรงงาน สั่งดูแลสิทธิโดยด่วน

ลูกจ้าง ร้านดารุมะ ซูชิ ถูกลอยแพทั้ง 27 สาขา แรงงาน สั่งดูแลสิทธิโดยด่วน

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ห่วงใยลูกจ้าง “ร้านดารุมะ ซูชิ” ที่ถูกลอยแพทั้ง 27 สาขา สั่งกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานและหน่วยงานในสังกัด เร่งตรวจสอบช่วยเหลือคุ้มครองให้ลูกจ้างได้รับสิทธิประโยชน์ตามกฎหมายโดยด่วน





นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดเผยถึงกรณีที่มีกระแสข่าวว่า ร้านซูซิแห่งหนึ่งประกาศปิดร้านอย่างไม่มีกำหนด ทำให้พนักงานในร้านถูกลอยแพไม่ได้รับเงินเดือน ผมจึงได้สั่งการให้กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (กสร.) ส่งพนักงานตรวจแรงงานเข้าตรวจสอบหาข้อเท็จจริงทันที เบื้องต้นได้รับข้อมูลทราบว่า ร้านดังกล่าวชื่อ ร้านดารุมะ ซูชิ ได้จดทะเบียนในนามบริษัท ดารุมะ ซูชิ จำกัด มีสำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ที่เขตบางเขน กรุงเทพมหานคร ประกอบกิจการ ร้านอาหารญี่ปุ่น ได้เปิดให้บริการอยู่ในกรุงเทพมหานคร และจังหวัดใกล้เคียงรวมทั้งสิ้นจำนวน 27 สาขา ซึ่งในปัจจุบันร้านทุกสาขาได้ปิดให้บริการอย่างไม่มีกำหนดแล้ว โดยในวันที่ 20 มิถุนายน 2565 นี้ พนักงานตรวจแรงงาน  สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานท้องที่ที่ร้านสาขาของร้านดารุมะ ซูชิตั้งอยู่ จะเข้าไปตรวจสอบหาข้อเท็จจริงเพิ่มเติม 





ลูกจ้าง ร้านดารุมะ ซูชิ ถูกลอยแพทั้ง 27 สาขา แรงงาน สั่งดูแลสิทธิโดยด่วน


นายสุชาติ กล่าวต่อว่า ผมยังได้สั่งการให้หน่วยงานในสังกัดกระทรวงแรงงาน เข้าช่วยเหลือลูกจ้างร้านซูซิดังกล่าวทุกสาขา โดยจะเข้าไปให้คำปรึกษาข้อกฎหมาย และสิทธิประโยชน์ต่างๆ ที่ลูกจ้างพึงได้รับตามกฎหมายคุ้มครองแรงงาน และกฎหมายประกันสังคม พร้อมทั้งเตรียมตำแหน่งงานว่างรองรับกรณีลูกจ้างมีความประสงค์จะหางานใหม่ หรือหากลูกจ้างต้องการเปลี่ยนสายงานหรือเพิ่มทักษะด้านอาชีพก็สามารถเข้ารับการฝึกอบรมเพื่อพัฒนาทักษะฝีมือแรงงานได้ทันที 


ด้านนายนิยม สองแก้ว อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (กสร.) กล่าวเพิ่มเติมว่า กรณีดังกล่าว การที่นายจ้างไม่ให้ลูกจ้างเข้าทำงานและไม่จ่ายค่าจ้างให้ เหตุเพราะนายจ้างไม่สามารถดำเนินกิจการต่อไปได้ ถือเป็นการเลิกจ้าง โดยลูกจ้างมีสิทธิได้รับค่าจ้างค้างจ่าย ค่าชดเชย สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า และเงินอื่นตามที่ตกลงกับนายจ้าง 


ทั้งนี้ ลูกจ้างที่ได้รับผลกระทบจากกรณีดังกล่าว สามารถเข้ามายื่นคำร้อง คร.7 และยื่นคำขอรับเงินสงเคราะห์จากกองทุนสงเคราะห์ลูกจ้างต่อพนักงานตรวจแรงงานได้ที่สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานในพื้นที่ที่ลูกจ้างปฏิบัติงานอยู่ หรือโทรสายด่วนกระทรวงแรงงาน 1506 กด 3 หรือ 1546 กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน




ภาพ กระทรวงแรงงาน 

ข่าวแนะนำ