
นักเคลื่อนไหวในอินโดนีเซียได้รวมตัวกันเมื่อวานนี้ (3 เม.ย.) เพื่อประณามกฎระเบียบใหม่ที่อนุญาตให้ตำรวจติดตามการทำงานของนักข่าวและนักวิจัยต่างชาติในประเทศ โดยระบุว่ากฎนี้จะจำกัดเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น
กฎใหม่ที่ออกเมื่อวันที่ 10 มีนาคมและเพิ่งเผยแพร่ทางออนไลน์ระบุว่า นักข่าวหรือผู้วิจัยต่างชาติที่ทำงานในบางสถานที่ต้องได้รับจดหมายจากตำรวจ โดยไม่ได้ระบุชัดเจนว่าสถานที่ใดบ้างที่ต้องได้รับอนุญาต

สรุปข่าว
อย่างไรก็ตาม มุสตาฟา ลายอง กรรมการผู้จัดการของสถาบันช่วยเหลือทางกฎหมายเพื่อสื่อมวลชน (Legal Aid Institute for the Press) กล่าวเมื่อวันที่ 3 เมษายนว่า กฎนี้อาจทำให้การทำงานด้านการสื่อสารมวลชนและการวิจัยในอินโดนีเซียยากขึ้น เพราะมีความเสี่ยงที่กิจกรรมทั้งหมดของนักข่าวหรือนักวิจัยต่างชาติอาจถูกมองว่าเป็นกิจกรรมผิดกฎหมายหากไม่มีจดหมายจากตำรวจ
อันเดรียส ฮาร์โซโน จากองค์กรเฝ้าระวังสิทธิมนุษยชน Human Rights Watch ก็ได้วิจารณ์กฎนี้เช่นกัน โดยกล่าวว่า มันจะยิ่งจำกัดเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นและปิดกั้นข้อมูลเกี่ยวกับประเด็นที่อ่อนไหวเกี่ยวกับอินโดนีเซีย เช่น น้ำมันปาล์ม การกดขี่ทางเพศ ศาสนา และชนกลุ่มน้อยทางเพศ ซึ่งจะยิ่งทำให้อินโดนีเซียเป็นประเทศที่มีข้อมูลน้อยลง
ด้านสำนักงานตำรวจแห่งชาติอินโดนีเซียได้ชี้แจงว่า กฎใหม่นี้จำเป็นเพื่อรักษาความอธิปไตยของรัฐเหนืออาณาเขตอินโดนีเซียและให้การคุ้มครองชาวต่างชาติในอาณาเขตอินโดนีเซีย โดยทางโฆษกของสำนักงานตำรวจแห่งชาติยืนยันว่า กฎใหม่นี้มีวัตถุประสงค์เพื่อให้บริการและการคุ้มครองแก่ชาวต่างชาติ รวมถึงผู้ที่ทำงานในพื้นที่ที่เสี่ยงต่อความขัดแย้ง และย้ำว่าจดหมายจากตำรวจไม่ใช่ข้อบังคับ

พิชญาภา สูตะบุตร