
แรงขับเคลื่อนเล็ก ๆ แต่ยิ่งใหญ่ที่ช่วยให้ปฏิบัติการกู้ภัยหลังเหตุแผ่นดินไหวเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมามีความคืบหน้าก็คงจะต้องพูดถึงทีม “ฮีโร่ 4 ขา” หรือ “สุนัขกู้ภัย” ที่แม้ว่าตัวจะเล็กกว่ามนุษย์ แต่ความแข็งแกร่งและความสามารถที่พวกเขามีเกินกว่าขนาดตัวไปมาก ไม่ว่าจะเป็นการค้นหาผู้รอดชีวิตที่ติดอยู่ใต้ซากปรักหักพังหรือผู้ที่เสียชีวิต แต่รู้หรือไม่ พวกเขาต้องถูกฝึกอะไรมาบ้างและทำงานอย่างไร กว่าจะถูกนำมาใช้งานในปฏิบัติการค้นหาและกู้ภัยของจริง
สุนัข SAR
หลายคนรู้จักว่าสุนัขที่ลงไปค้นหาและกู้ภัยในซากปรักหักพังนั้นคือ K9 ซึ่งไม่ผิด แต่จริง ๆ แล้ว K9 คือ “สุนัขตำรวจ” ที่ทำงานร่วมกับทีมของเจ้าหน้าที่ตำรวจ หรือ ทหารเพื่อรับมือเหตุร้ายต่าง ๆ ที่รวมไปถึงการไล่ล่าและจับตัวผู้ก่อเหตุ แต่ “สุนัข SAR” คือสุนัขอีกกลุ่มที่ถูกฝึกมาสำหรับการค้นหาและกู้ภัยโดยเฉพาะ ตามชื่อเรียกของพวกเขา SAR ที่ย่อมาจาก Search and Rescue
ย้อนกลับไปในช่วง “ยุคตื่นทอง” ของสหรัฐฯ ประมาณทศวรรษที่ 1850 เริ่มมีการนำสุนัขค้นหาและกู้ภัยมาใช้ประโยชน์หลากหลายด้าน อย่างการค้าหาบุคคลหรือคณะผู้สำรวจที่หายตัวไป จนกระทั่งเวลาผ่านมาถึงช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 มีการนำแนวคิดการใช้สุนัขค้นหาและกู้ภัยกลับมาใช้อีกครั้ง โดยเฉพาะกับภารกิจค้นหาทหารที่ได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิตระหว่างการสู้รบ แต่เหตุการณ์ที่ทำให้สุนัข SAR ได้รับความสนใจจากสาธารณชนอย่างแท้จริงคือเหตุการณ์ 911 หรือ เหตุก่อการร้าย เมื่อวันที่ 11 กันยายน 2001 เมื่อภาพของกลุ่มสุนัขค้นหาและกู้ภัยที่กำลังค้นหาร่างของผู้เสียชีวิตใต้ซากปรักหักพังของอาคารเวิลด์เทรดเซ็นเตอร์ถูกเผยแพร่ออกไปสู่สายตาทั่วโลก
ตั้งแต่นั้นมา สุนัข SAR ได้กลายเป็นส่วนสําคัญของภารกิจบรรเทาภัยพิบัติทั่วโลก พวกเขาถูกนํามาใช้ในปฏิบัติการอื่นทั้ง กู้ภัยจากพายุเฮอริเคนแคทรีนา, แผ่นดินไหวและสึนามิในญี่ปุ่น และอีกนับไม่ถ้วน ซึ่งน่าทึ่งมาก ที่ความสามารถของพวกเขาได้ช่วยชีวิตคนมาแล้วนับไม่ถ้วน และยังคงทําเช่นนั้นทุกวัน รวมไปถึงปฏิบัติการค้นหาหลังแผ่นดินไหวที่ประเทศเมียนมาและไทย

สรุปข่าว
ฝึกสุนัขให้ค้นหาและกู้ภัยอย่างไร
เช่นเดียวกับสุนัขกลุ่มใช้งาน หรือ Working Dog ตัวอื่น ๆ สุนัข SAR ต้องผ่านการฝึกอบรมทักษะต่าง ๆ ก่อนลงสนามจริง ตั้งแต่หลักหลายเดือนไปจนถึง 1 ปี ขึ้นอยู่กับความสามารถของแต่ละตัวและแต่ละสายพันธุ์ ในขั้นตอนแรกของการฝึกสุนัข SAR คือการทําให้พวกเขาคุ้นเคยกับ “กลิ่นของมนุษย์” ที่แตกต่างกัน สุนัขที่มีประสาทสัมผัสด้านการดมกลิ่นที่ดีกว่ามนุษย์ 40 เท่าด้วยเซลล์ประสาทรับกลิ่นมากถึง 220 ล้านเซลล์ จึงไม่ยากที่พวกเขาจะงัดเอาความสามารถส่วนนี้ออกมาใช้ โดยการฝึกแบบนี้ทำได้โดยการพาสุนัขไปรู้จักกลุ่มคนที่หลากหลายช่วงวัยหรือเพศที่ต่างกันทั้ง เด็ก และ ผู้สูงอายุ หรือแม้แต่คนที่มาจากวัฒนธรรมที่ต่างกัน
เมื่อสุนัขรู้สึกสบายใจกับการพบปะผู้คนมากหน้าหลายตาแล้ว ก็จะสามารถเริ่มฝึกในขั้นตอนถัดไปคือการ “ฝึกด้วยกลิ่นเฉพาะบุคคล” พวกเขาสามารถเริ่มฝึกดมกลิ่นเฉพาะได้ด้วยการใช้ “เสื้อผ้า” ของคนที่ต้องการให้พวกเขาไปค้นหาที่อาจต้องใช้เวลาในการฝึกนานหลายเดือน จากนั้นพวกเขาจะถูกส่งไปทดสอบในสถานการณ์ทั้งที่เป็นภัยพิบัติจำลองและเป็นภัยพิบัติที่เกิดขึ้นจริง หากสุนัขสามารถฟังคำสั่งแล้วปฏิบัติภารกิจในการค้นหาผู้รอดชีวิตได้สำเร็จ พวกเขาก็จะถูกนำเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งร่วมกับเจ้าหน้าที่ทีมค้นหาและกู้ภัยต่อไป
สุนัขค้นหาผู้รอดชีวิตได้อย่างไร
เรารู้ว่าแล้วว่าสุนัขได้รับการฝึกฝนให้ใช้ประสาทสัมผัสการดมกลิ่นเพื่อค้นหาผู้รอดชีวิต แต่พวกเขาทํามันได้อย่างไรกันแน่ เมื่อนำสุนัขลงปฏิบัติงานในสถานที่ที่พวกมันมักจะทํางานร่วมกับผู้ดูแลที่จะทำหน้าที่ในการ “ออกคำสั่งเฉพาะ” และแนะนําพวกมันให้ค้นหาตามพื้นที่ต่าง ๆ ที่เป็นเป้าหมาย เมื่อได้รับคำสั่งสุนัขจะเริ่มดมกลิ่นในบริเวณที่เป็นเป้าหมายเพื่อมองหาสัญญาณชีพของมนุษย์ และเมื่อพวกมันได้กลิ่นบางอย่าง ผู้ดูแลจะนำ “กลิ่นตัวอย่าง” ของคนที่ต้องการให้ค้นหาให้สุนัขดมอีกครั้งเพื่อยืนยันกลิ่นให้แม่นยำมากขึ้น ซึ่งในส่วนนี้จะเป็นหน้าที่ของต่อมรับกลิ่นของสุนัขที่จะช่วยพวกมันทำงาน
ต่อมรับกลิ่นจะมีหน้าที่ประมวลกลิ่นในขั้นแรกก่อนจะส่งข้อความถอดรหัสไปที่สมองของสุนัขเพื่อที่จะกำหนดว่านั่นคือกลิ่นของอะไร ซึ่งกระบวนการนี้จะเกิดขึ้นอย่างรวดเร็วในเวลาเพียงเสี้ยววินาที และเพราะความสามารถในการระบุกลิ่นนี้เองทำให้พวกมันประสบความสำเร็จในการค้นหาผู้ประสบภัย ยิ่งสุนัขได้กลิ่นเร็วเท่าไหร่ การพบบุคคลที่ต้องการค้นหาก็จะเร็วมากขึ้นเท่านั้น
คุณสมบัติ “ดมกลิ่นจากอากาศ" จำเป็นสำหรับสุนัขค้นหาและกู้ภัย
สุนัขยอดนิยมที่มักถูกนำมาใช้ในงานค้นหาและกู้ภัยส่วนใหญ่ มักเป็นสายพันธุ์สุนัขที่มีประสาทรับกลิ่นที่ดีเยี่ยมโดยเฉพาะคุณสมบัติ “การดมกลิ่นจากอากาศ” ที่แม่นยำที่จำเป็นอย่างมากสำหรับสุนัขกู้ภัย สุนัขที่มีความสามารถนี้จะใช้กลิ่นที่กระจายในอากาศเพื่อค้นหาผู้คนที่ถูกฝังทั้งเป็นในซากปรักหักพัง โดยพวกมันจะถูกนำตัวไปปล่อยที่จุดที่ต้องการให้ค้นหาและปล่อยให้ดมไปเรื่อย ๆ ประมาณ 2-3 นาที ก่อนจะพาตัวออกไปเพื่อให้สุนัขรีเซ็ตหน่วยความจําการดมกลิ่น หลังจากหยุดพักสั้น ๆ สุนัขจะถูกส่งกลับไปยังจุดค้นหาและได้รับอนุญาตให้ดมกลิ่นอีกครั้ง ซึ่งคราวนี้พวกมันจะมองหากลิ่นเฉพาะของผู้คนที่ต้องการค้นหา หากสุนัขได้กลิ่นเฉพาะตัวแล้ว มันจะเห่าหรือหมอบเพื่อแจ้งผู้ดูแลและก็ขึ้นอยู่กับทีมกู้ภัยต่อไปว่า จะขุดซากปรักหักพังและค้นหาคนที่ถูกฝังตามที่สุนัขได้ทำการค้นหาเบื้องต้นแล้วหรือไม่
สายพันธุ์ยอดฮิตสำหรับการค้นหาและกู้ภัย
สำหรับ 10 อันดับสายพันธุ์ที่มีการนำมาใช้ในการค้นหาและกู้ภัยมากที่สุด ประกอบด้วย สุนัขสายพันธุ์ “บลัดฮาวด์” ที่มีเซ็นเซอร์รับกลิ่นมากที่สุดในบรรดาสายพันธุ์สุนัขทั้งหมด โดยพวกมันมีเซ็นเซอร์รับกลิ่นมากกว่า 300 ล้านเซลล์, และสุนัขพันธุ์ บาสเซต ฮาวนด์ ด้วยความที่มันตัวเล็กทำให้พวกมันสามารถเข้าไปดมค้นหาในบริเวณแคบๆ ได้ง่าย
นอกจากนี้ยังมี สายพันธุ์คูนฮาวด์, บีเกิล ซึ่งมีอัตราการทำภารกิจค้นหาผู้ประสบภัยสำเร็จถึง 90 เปอร์เซ็นต์ รวมไปถึงเซนต์ เบอร์นาร์ด, เยอรมัน เชพเพิร์ด สายพันธุ์ยอดนิยมอันดับต้น ๆ ทั้งด้านการค้นหาและการทำงานร่วมกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ-ทหาร อีกทั้งยังมี ลาบราดอร์ ริทรีฟเวอร์, เบลเยียม มาลินอยส์, บอร์เดอร์ คอลลี และ โกลเดน ริทรีฟเวอร์ อีกหนึ่งสายพันธุ์ยอดนิยมทีมาช่วยค้นหาผู้ประสบภัยเหตุแผ่นดินไหวที่ประเทศไทย

ฑิตยา เที่ยงกมล