ไทยคุมเข้มชายแดนเมียนมา ปราบอาชญากรรม-ฟื้นการค้า

วันนี้ (31 มกราคม 2025) นายมาริษ เสงี่ยมพงษ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการเฉพาะกิจบริหารสถานการณ์อันเนื่องมาจากความไม่สงบในเมียนมา ครั้งที่ 1/2568 ณ สำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ ทำเนียบรัฐบาล กรุงเทพมหานคร


จากนั้นเวลา 12:30 น. นายมาริษ แถลงข่าวต่อสื่อมวลชนด้านหน้าอาคารสำนักงานฯ ว่า ต้องการ เห็นภาพรวมการแก้ไขปัญหาความไม่สงบในเมียนมา โดยเฉพาะการแก้ไขปัญหาตามบริเวณชายแดน ซึ่งนับว่าเป็นกรณีพิเศษ เพราะมีผลกระทบต่อการค้าขายและความมั่นคงชายแดนของประเทศไทย ปัญหาข้ามแดนทั้งหลายที่เกิดขึ้นมีผลกระทบที่เป็นทางลบในประเทศไทย


นายมาริษ เปิดเผยว่า ได้ย้ำให้ทุกหน่วยงานดำเนินการอย่างเต็มที่ ประสานงานบูรณาการในการบรรลุเป้าหมายเดียวกัน 3 ประการ ได้แก่


1) การทำให้เกิดความมั่นคงและมีความสงบเรียบร้อยตามบริเวณชายแดนเมียนมา


2) การป้องกันปราบปรามปัญหาอาชญากรรมข้ามชาติ ยาเสพติด การค้ามนุษย์ และการหลอกลวงออนไลน์


3) การมีเครื่องมือและโครงสร้างพื้นฐานที่จะทำให้การค้าขายตามบริเวณชายแดน กลับคืนสู่ปกติโดยเร็วที่สุด


นายมาริษ ยังกล่าวต่อว่า ประเด็นหลักในวันนี้ที่ได้คุยกันมากคือ การจัดระเบียบพื้นที่ชายแดนไทย-เมียนมา เพื่อป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมและกิจกรรมที่ไม่พึงประสงค์ โดยที่ประชุมเห็นพ้องกับกรอบและแนวทางในการจัดระเบียบพื้นที่ชายแดนไทย-เมียนมา โดยเฉพาะในจังหวัดตากซึ่งได้รับความกรุณาจากกองทัพบก กองทัพไทย และผู้ว่าราชการจังหวัดตาก รวมทั้งพัฒนาสังคมจังหวัดตาก เข้ามาให้ข้อมูลและประชุมร่วมกับเรา


นายมาริษ กล่าวถึงมาตรการต่อว่า จะมีมาตรการ ไม่ใช่แค่ควบคุม แต่ว่าติดตามและพยายามที่จะไม่ให้มีบุคคลที่ต้องสงสัยเข้าไปในพื้นที่ชายแดน เพื่อไปใช้ประโยชน์อาชญากรรม และกิจกรรมที่ไม่เป็นที่พึงประสงค์ จนทำให้เกิดอาชญากรรมข้ามชาติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งคนต่างชาตินั้น จะมีการติดตาม ถ้าใครเป็นบุคคลต้องสงสัย เราก็จะควบคุมเพื่อให้มีมาตรการที่เข้มงวดมากยิ่งขึ้น ในส่วนของสินค้าหรือวัตถุต่าง ๆ รวมทั้งทรัพยากรอื่น ๆ ก็จะเพิ่มความเข้มงวดกวดขัน ในการตรวจสอบข้ามแดนทุกประเภท รวมถึงท่าข้ามตามช่องทางธรรมชาติด้วย ซึ่งที่ประชุมตกลงว่าจะมีการประชาสัมพันธ์เพิ่มมากขึ้น เพื่อสร้างความเข้าใจให้กับพี่น้องประชาชนฝั่งไทยและฝั่งเมียนมา เพื่อเพิ่มความร่วมมือที่ดี และทำให้มาตรการต่าง ๆ ที่ประชุมได้พูดไปแล้วมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น


กลไกการขับเคลื่อนการปฏิบัติส่วนกลาง จะให้มีคณะทำงาน โดยมีเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ ทำหน้าที่บูรณาการในระดับนโยบายและองค์กรต่าง ๆ ที่มีอยู่แล้ว รวมทั้งกลไกของกฎหมายกฎระเบียบต่าง ๆ ที่มีอยู่แล้ว บางครั้งอาจออกมาเป็นลักษณะชั่วคราวเพื่อรักษาประโยชน์ขององค์กรใดองค์กรหนึ่ง จึงขอให้เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติจัดให้มีการประชุมกลุ่มย่อยให้เป็นไปในทิศทางเดียวกันเพื่อผลประโยชน์ประเทศชาติ ที่สำคัญยังเข้มงวดไปถึงเจ้าหน้าที่รัฐทุกระดับไม่ให้มีความเกี่ยวข้องกับอาชญากรรมข้ามชาติ และไม่อาจยอมรับได้ (zero tolerance)


นายมาริษ กล่าวถึงความร่วมมือระหว่างประเทศว่า จะยกระดับความร่วมมือกับประเทศต่าง ๆ ทั้งต้นน้ำคือประเทศจีน กลางน้ำคือประเทศเพื่อนบ้านอาเซียน และปลายน้ำคือประเทศที่มีชายแดนติดกับเราอย่างเมียนมา รวมทั้งความร่วมมือในภูมิภาคต่าง ๆ เพื่อให้เป้าหมายในการแก้ไขปัญหาของเรา ซึ่งกระทบกับความสุขและความสงบสุขของทุกประเทศได้สัมฤทธิ์ผลมากยิ่งขึ้น


นอกจากนี้ ที่ประชุมยังเห็นชอบบทบาทของไทยในการให้ความช่วยเหลือมนุษยธรรม ครอบคลุมปัญหาสาธารณสุขที่มีผลเกี่ยวข้องกับประเทศไทย เพื่อสามารถควบคุมโรคให้อยู่ในขอบเขตได้ และครอบคลุมประเด็นการศึกษา เพื่อให้โอกาสทางการศึกษากับกลุ่มเปราะบางก็คือเยาวชนหรือเด็กของเมียนมาที่ได้รับผลกระทบจากการสู้รบให้ได้มีการศึกษาที่ดีได้มาตรฐาน ซึ่งจะเป็นการแสดงบทบาทนำของประเทศไทยในการให้ความช่วยเหลือทางมนุษยธรรมด้วยเช่นกัน


นายมาริษ ยังตอบสื่อมวลชนในประเด็นการตัดกระแสไฟฟ้าสนับสนุนอาชญากรรมข้ามพรมแดนว่า การตัดสินใจสิ่งใดออกไปต้องให้ถูกหน่วยงานมาบูรณาการกัน เพื่อให้กฎระเบียบหรือจุดมุ่งหมายของแต่ละหน่วยงานไปในทางเดียวกัน จึงมอบหมายเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติไปคุยในเรื่องนี้ในรายละเอียดด้วย เพื่อรับฟังข้อคิดเห็นของทุกฝ่ายให้ชัดเจนก่อนที่จะมีการตัดสินใจใด ๆ โดยเท่าที่คุยกันก็จะให้เร็วที่สุดไม่เกินหนึ่งเดือนที่เป็นกรอบเวลาให้ประชุม แต่อาจเร็วกว่านั้น สภาความมั่นคงแห่งชาติก็ตั้งใจอย่างมากที่จะทำให้เร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้


ส่วนที่การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) ได้มีการส่งทำหนังสือไปยังกรมเอเชียตะวันออกแต่ไม่ได้รับการตอบรับ นายมาริษ ชี้แจงว่า ยังไม่ได้มีการพูดคุยกันในเรื่องนี้ ไม่ว่าจะเรื่องอะไร ขอให้นำสู่ที่ประชุม เพื่อให้เกิดความชัดเจนก่อน เพราะทุกอย่างมีหลายด้านต้องบูรณาการข้อมูลให้ชัดเจนก่อน


สำหรับการเยือนของผู้ช่วยรัฐมนตรีกระทรวงความมั่นคง และสาธารณะ ประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน บริเวณชายแดนไทยนั้น กระทรวงการต่างประเทศไม่ทราบหรืออย่างไรนั้น นายมาริษ กล่าวว่า เป็นเรื่องของกระทรวงยุติธรรมที่ประสานกัน ซึ่งกระทรวงการต่างประเทศก็ต้องฟังทั้งกระทรวงยุติธรรม ตำรวจ ทหาร ที่มีหน้าที่ในการปฏิบัติ ว่าจะบูรณาการช่วยเหลือกันอย่างไร


สำหรับการแก้ไขวิกฤตเมียนมาในวาระครบรอบ 4 ปีเหตุการณ์รัฐประหารเมียนมานั้น นายมาริษ กล่าวถึงการดำเนินการของไทยว่า มีหลายขั้นตอน ในกรอบทวิภาคี และพหุภาคีอย่างอาเซียนก็ให้ความสำคัญ ไทยมีบทบาทสำคัญ โดยกระทรวงการต่างประเทศได้ทำมาโดยตลอด พยายามเปลี่ยนความคิดความขัดแย้ง เป็นกรอบความร่วมมือ อย่างการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนอย่างไม่เป็นทางการ ณ เกาะลังกาวี มาเลเซีย ก็มีการพูดคุยว่า ให้ทบทวน 4 ปีที่ผ่านมาที่ไม่มีอะไรคืบหน้านัก แต่จะพยายามแก้ปัญหาต่อไป สำหรับไทยมีบทบาทนำที่หลายประเทศชื่นชม โดยเฉพาะโลกตะวันตกจากการประชุมสภาเศรษฐกิจโลก ณ เมืองดาวอส สมาพันธรัฐสวิส ก็ชื่นชมไทยที่จัดให้มีการหารืออย่างสร้างสรรค์ เพื่อให้เกิดความร่วมมือที่ดี นำมาสู่ผลประโยชน์ของไทย และเป็นผลประโยชน์ร่วมกันกับเพื่อนบ้าน และแก้ไขปัญหาอาชญากรรมที่เป็นผลประโยชน์ทั่วโลก ตลอดจนประเด็นที่นายกฯรัฐมนตรีให้ความสำคัญ คือการบริหารจัดการน้ำ กับฝุ่นควัน ซึ่งจะคุยกันในกรอบอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขงต่อไป


ส่วนกรณีสหรัฐอเมริการะงับเงินสนับสนุนช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมนั้น นายมาริษ ตอบรับว่ามีการพูดกันเพื่อให้ความช่วยเหลือมนุษยธรรมเห็นผลที่ค่อนข้างชัดเจน โดยอาจมองหาความช่วยเหลือ เช่น องค์กรระหว่างประเทศ เพื่อแบ่งเบาภาระงบประมาณ และแสดงให้ทุกฝ่ายเห็นว่า บทบาทมนุษยธรรมโดยเฉพาะภายใต้กรอบสหประชาชาติ มีคุณค่าและมีพลังกับผู้ที่ต้องการได้รับความช่วยเหลือ


เรื่อง : ณัฐนนท์ เจริญชัย

ไทยคุมเข้มชายแดนเมียนมา ปราบอาชญากรรม-ฟื้นการค้า

สรุปข่าว

ที่มาข้อมูล : กระทรวงต่างประเทศ

ที่มารูปภาพ : -