มาดูโร สาบานตนรับตำแหน่งประธานาธิบดีเวเนซุเอลาสมัยที่ 3

มาดูโร สาบานตนรับตำแหน่งประธานาธิบดีเวเนซุเอลาสมัยที่ 3

สรุปข่าว

ประธานาธิบดีนิโคลัส มาดูโร ผู้นำเวเนซุเอเลา ซึ่งในช่วงการดำรงตำแหน่งมาเกือบ 12 ปี เกิดวิกฤตเศรษฐกิจและสังคมครั้งใหญ่ในประเทศ ได้เข้าพิธีสาบานตนเข้ารับตำแหน่งสมัยที่ 3 แล้วเมื่อวานนี้ (10 มกราคม) แม้จะมีปัญหาความขัดแย้งในการเลือกตั้งยาวนาน 6 เดือน และเสียงเรียกร้องจากนานาชาติให้เขาถอยห่าง และสหรัฐฯ เสนอเพิ่มเงินรางวัลในการนำจับตัวเขาด้วย 


มาดูโร ซึ่งดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีมาตั้งแต่ปี 2556 ได้รับการประกาศให้เป็นผู้ชนะในการเลือกตั้งเดือนกรกฎาคม ปีที่แล้ว ทั้งจากสำนักงานจัดการเลือกตั้งและศาลสูงของเวเนซุเอลา แม้ว่าจะยังไม่มีการเปิดเผยรายละเอียดที่ยืนยันชัยชนะของเขาก็ตาม


ด้านพรรคฝ่ายค้านเวเนซุเอลา แถลงว่า ผลนับคะแนนจากหีบบัตรเลือกตั้ง แสดงให้เห็นว่า เอ็ดมันโด กอนซาเลซ คู่แข่งของมาดูโร ได้รับชัยชนะอย่างถล่มทลาย และได้รับการยอมรับจากนานาชาติ ซึ่งรวมถึงสหรัฐฯ ให้เป็นประธานาธิบดี ผู้สังเกตการณ์การเลือกตั้งระหว่างประเทศกล่าวว่า การลงคะแนนเสียงครั้งนี้ไม่เป็นประชาธิปไตย


หลายเดือนนับตั้งแต่การเลือกตั้ง กอนซาเลซต้องหลบหนีไปสเปนในเดือนกันยายน ขณะที่ มาเรีย คอรินา มาชาโด พันธมิตรของเขา ต้องหลบซ่อนตัวอยู่ในเวเนซุเอลา และยังมีการควบคุมตัวบุคคลสำคัญฝ่ายค้านและผู้ประท้วงอีกด้วย


ในขั้นตอนการลงโทษล่าสุด รัฐบาลสหรัฐฯ ภายใต้การนำของประธานาธิบดีโจ ไบเดน ที่กำลังจะพ้นจากตำแหน่ง ได้เพิ่มเงินรางวัลสำหรับข้อมูลที่นำไปสู่การจับกุม หรือดำเนินคดีมาดูโร ในข้อหาค้ายาเสพติดเป็น 25 ล้านดอลลาร์ จากเดิม 15 ล้านดอลลาร์


นอกจากนี้ ยังเพิ่มเงินนำจับดิออสดาโด คาเบลโล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย 25 ล้านดอลลาร์ และวลาดิมีร์ ปาดริโน รัฐมนตรีกลาโหมเวเนซุเอลา อีก 15 ล้านดอลลาร์ ขณะเดียวกัน ก็ประกาศมาตรการคว่ำบาตรใหม่ต่อเจ้าหน้าที่อีก 8 ราย รวมถึงหัวหน้าบริษัทน้ำมันของรัฐ PDVSA Hector Obregon ด้วย สหรัฐฯ ฟ้องร้องมาดูโรและคนอื่น ๆ ในข้อหาเกี่ยวกับยาเสพติดและคอร์รัปชั่น และอื่น ๆ เมื่อปี 2563 แต่มาดูโรได้ปฏิเสธข้อกล่าวหาเหล่านี้


การเคลื่อนไหวของสหรัฐฯ เกิดขึ้นพร้อม ๆ กับมาตรการคว่ำบาตรของอังกฤษและสหภาพยุโรป ซึ่งแต่ละมาตรการมีเป้าหมายไปที่เจ้าหน้าที่ 15 คน รวมทั้งสมาชิกสภาเลือกตั้งแห่งชาติและกองกำลังรักษาความมั่นคง ขณะที่มาตรการคว่ำบาตรของแคนาดามีเป้าหมายไปที่เจ้าหน้าที่ปัจจุบันและอดีต 14 คน


อย่างไรก็ตาม รัฐบาลมาดูโรปฏิเสธมาตรการคว่ำบาตรทั้งหมด โดยบอกว่า เป็นมาตรการที่ผิดกฎหมาย และเท่ากับเป็น "สงครามเศรษฐกิจ" ที่ออกแบบมาเพื่อทำลายเวเนซุเอลา

ที่มาข้อมูล : -

ที่มารูปภาพ :

แท็กบทความ

มาดูโร
เวเนซุเอลาประธานาธิบดี
สมัยที่3
นิโคลัส มาดูโร
Thailand Web Stat