สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือ สภาพัฒน์ แถลงตัวเลขผลิตตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP)เมื่อวานนี้ ( 17 ก.พ.) ซึ่งเป็นข้อมูลจริงของไตรมาสที่สี่ของปี 2567 และทั้งปี 2567 พบว่าเศรษฐกิจไทยในไตรมาสที่สี่ของปี 2567 ขยายตัวร้อยละ 3.2 จากที่ตลาดคาดว่าจะเติบโตร้อยละ 3.7- 4.0 แต่เร่งขึ้นจากการขยายตัวร้อยละ 3.0 ในไตรมาสที่สามของปี 2567
และเมื่อปรับผลของฤดูกาลออกแล้ว เศรษฐกิจไทยในไตรมาสที่สี่ของปี 2567 ขยายตัวจากไตรมาสที่สามของปี 2567 ร้อยละ 0.4 (%QoQ_SA) แผ่วลงจากร้อยละ 1.2 ในไตรมาสที่สามของปี 2567
นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการ สภาพัฒน์ ระบุว่า เครื่องชี้เศรษฐกิจไทยในไตรมาสที่สี่ปี 2567 ทุกตัวปรับดีขึ้นหมด โดยสาขาการผลิตเกษตรกรรมกลับมาขยายตัวครั้งแรกในรอบ 5 ไตรมาส สาขาที่พักและบริการด้านอาหาร สาขาการขายส่งและขายปลีก และสาขาก่อสร้างขยายตัวเร่งขึ้นจากไตรมาสก่อน รวมถึงสาขาการผลิตสินค้าอุตสาหกรรม สาขาการขนส่งและสถานที่เก็บสินค้าขยายตัวต่อเนื่อง
แต่สาเหตุที่เศรษฐกิจไทยไตรมาสสี่ปี 2567 ต่ำกว่าตลาดคาดการณ์หรือไม่สูงอย่างที่หลายฝ่ายคาด เนื่องจากการลงทุนภาคเอกชนหดตัวต่อเนื่อง แม้การลงทุนภาครัฐจะขยายตัวแรงมากก็ตาม โดยการลงทุนภาคเอกชนที่หดตัวมาจากภาคอุตสาหกรรมยานยนต์ และอสังหาริมทรัพย์ ที่ยอดขายยังลดลงต่อเนื่อง จากความเข้มงวดการปล่อยสินเชื่อของสถาบันการเงิน และปัญหาหนี้ครัวเรือนที่อยู่ระดับสูง ทั้งสองปัจจัยนี้ทำให้กำลังซื้อของครัวเรือนลดลง ดังนั้นการเร่งแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือนมีความสำคัญ เพื่อลดภาระหนี้ เพิ่มรายได้ ทำให้ประชาชนมีกำลังซื้อเพิ่มขึ้น
สำหรับภาพรวมเศรษฐกิจไทยทั้งปี 2567 ขยายตัวร้อยละ 2.5 เร่งขึ้นจากการขยายตัวร้อยละ 2.0 ในปี 2566 โดยมีแรงขับเคลื่อนสำคัญจากการเพิ่มขึ้นของการใช้จ่ายและ การลงทุนภาครัฐ การฟื้นตัวอย่างต่อเนื่องของภาคการท่องเที่ยว การขยายตัวในเกณฑ์ดีของการอุปโภคบริโภคภาคเอกชน และการกลับมา ขยายตัวของการส่งออกสินค้า
อย่างไรก็ดี เมื่อเทียบกับประเทศเพื่อนบ้านอย่างสิงคโปร์ อินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ และเวียดนาม พบว่าเศรษฐกิจไทยปี 2567 ยังเติบโตต่ำกว่าประเทศเพื่อนบ้านมาก
โดยสรุปรวมทั้งปี 2567 ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) อยู่ที่ 18.58 ล้านล้านบาท (5.26 แสนล้านดอลลาร์ สรอ.) เพิ่มขึ้นจาก 17.95 ล้านล้านบาท (5.15 แสนล้านดอลลาร์ สรอ.) ในปี 2566 และรายได้ต่อหัวของคนไทยเฉลี่ยอยู่ที่ 264,607.7 บาทต่อคนต่อปี (7,496.0 ดอลลาร์ สรอ. ต่อคนต่อปี) เพิ่มขึ้นจาก 256,345.4 บาทต่อคนต่อปี (7,363.3 ดอลลาร์ สรอ. ต่อคนต่อปี) ในปี 2566 สำหรับเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ อัตราการว่างงานอยู่ที่ร้อยละ 1.0 อัตราเงินเฟ้อเฉลี่ยอยู่ที่ร้อยละ 0.4 และ ดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุลร้อยละ 2.3 ของ GDP
สรุปข่าว
สำหรับแนวโน้มเศรษฐกิจไทยปี 2568 สภาพัฒน์คาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 2.3 – 3.3 โดยมีค่ากลางการประมาณการอยู่ที่ร้อยละ 2.8 โดยมีปัจจัยสนับสนุนจาก (1) การเพิ่มขึ้นของรายจ่ายภาครัฐ โดยเฉพาะรายจ่ายลงทุน (2) การขยายตัวอย่างต่อเนื่องของการบริโภคภาคเอกชนและการปรับตัวดีขึ้นของการลงทุนภาคเอกชน และการขยายตัวต่อเนื่องของการอุปโภคบริโภคภาคเอกชน (3) การฟื้นตัวอย่างต่อเนื่องของภาคการท่องเที่ยวและบริการที่เกี่ยวเนื่อง และ (4) การขยายตัวอย่างต่อเนื่องของการส่งออกสินค้า ตามแรงส่งของการขยายตัวของมูลค่าการส่งออกที่อยู่ในเกณฑ์สูง นับตั้งแต่ในช่วงครึ่งหลังของปี 2567
ขณะที่ยังต้องจับตาปัจจัยเสี่ยงเศรษฐกิจ อาทิ (1) ความผันผวนของระบบเศรษฐกิจและการเงินโลก เช่น ความไม่แน่นอนจากการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ความยืดเยื้อของสถานการณ์ ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ในหลายภูมิภาค การปรับทิศทางการดำเนินนโยบายการเงินของ ธนาคารกลางสำคัญ และความเสี่ยงจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีน
(2) ภาระหนี้สินครัวเรือนและภาคธุรกิจที่อยู่ในระดับสูง ภายใต้มาตรฐานสินเชื่อที่มีความเข้มงวดมากขึ้น สัดส่วนหนี้ครัวเรือนแม้จะลดลงแต่ยังอยู่ในระดับสูง ขณะที่คุณภาพสินเชื่อครัวเรือนและสินเชื่อ ภาคธุรกิจ SMEs ยังอยู่ในระดับต่ำ ส่งผลให้สถาบันการเงินยังเข้มงวดในการให้สินเชื่อ และ(3) ความเสี่ยงความผันผวนในภาคการเกษตรทั้งผลผลิตและราคาสินค้าเกษตรที่สำคัญๆ
"สำหรับประมาณการเศรษฐกิจไทยปี 2568 เติบโตที่ร้อยละ 2.8 ได้รวมผลของมาตรการเงินดิจิทัลที่รัฐบาลจะดำเนินการไว้แล้ว และได้รวมผลกระทบความเสี่ยงจากความไม่แน่นอนทางการค้าที่จะตามมาในอนาคตโดยเฉพาะในช่วงครึ่งหลังของปี 2568 " เลขาธิการสภาพัฒน์กล่าว
สำหรับแนวทางการบริหารนโยบายเศรษฐกิจมหภาคในปี 2568 ให้เติบโตตามที่ประมาณการไว้นั้น สภาพัฒน์เสนอว่าควรให้ความสำคัญใน 5 ประเด็น คือ
1.การเตรียมการรับมือผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงนโยบายการค้าของประเทศคู่ค้า
- เจรจาการค้ากับสหรัฐฯ และเตรียมมาตรการรองรับผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากมาตรการกีดกันทางการค้า
- ปกป้องภาคการผลิตจากการทุ่มตลาดและการใช้นโยบายการค้าที่ไม่เป็นธรรม โดยมุ่งเน้นการปรับปรุงกระบวนการตรวจสอบคุณภาพสินค้านำเข้าให้มีความเข้มงวดรัดกุมมากขึ้น การยกระดับมาตรการกำกับดูแลผู้ประกอบการออนไลน์จากต่างประเทศ และการติดตามเร่งรัดกระบวนการไต่สวนการใช้มาตรการภาษีตอบโต้การทุ่มตลาด การอุดหนุน และมาตรการปกป้องจากการนำเข้า (AD/CVD/AC) รวมทั้งการดำเนินการอย่างเคร่งครัดกับผู้กระทำความผิดลักลอบนำเข้าสินค้าที่ผิดกฎหมาย หรือใช้ช่องว่างทางกฎหมายต่าง ๆ เพื่อเอื้อประโยชน์ให้กับธุรกิจ
– เร่งรัดส่งเสริมการส่งออกสินค้าที่ไทยมีศักยภาพและคาดว่าจะได้รับประโยชน์จากมาตรการกีดกันทางการค้า ควบคู่ไปกับการเร่งรัดการเจรจาความตกลงการค้าเสรีที่กำลังอยู่ในขั้นตอนของการเจรจา และเตรียมศึกษาเพื่อเจรจากับประเทศคู่ค้าสำคัญใหม่ ๆ
– ส่งเสริมให้ภาคธุรกิจบริหารจัดการความเสี่ยงจากความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยน ควบคู่ไปกับการอำนวยความสะดวกและลดต้นทุนที่เกี่ยวข้องกับการส่งออก
2.การเร่งรัดส่งเสริมการลงทุนภาคเอกชนให้กลับมาขยายตัว
– เร่งสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุนต่างชาติ เพื่อดึงดูดเงินลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ โดยมุ่งเน้นการส่งเสริมการลงทุนในรูปแบบของกิจการร่วมค้า (Joint venture) เพื่อสร้างโอกาสในการส่งเสริมการสร้างธุรกิจเกี่ยวเนื่องของไทยในช่วงของการย้ายฐานการลงทุนของผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากมาตรการกีดกันทางการค้า รวมถึงการส่งเสริมให้ผู้ประกอบการที่มีฐานการผลิตขยายการผลิตในประเทศไทย
– เร่งรัดนักลงทุนที่ได้รับการอนุมัติส่งเสริมการลงทุนในช่วงปี 2565-2567 ให้เกิดการลงทุนจริงโดยเร็ว เพื่อช่วยขับเคลื่อนการขยายตัวของภาคการผลิตและภาคบริการที่มีศักยภาพ
– การพัฒนาระบบนิเวศที่เหมาะสมเพื่อดึงดูดอุตสาหกรรมและบริการเป้าหมายให้เข้ามาลงทุนในประเทศไทย โดยเฉพาะการปรับลดอุปสรรคด้านขั้นตอนกระบวนการ และข้อบังคับ/กฎหมายที่เกี่ยวข้อง การแก้ปัญหาการขาดแคลนแรงงานในภาคการผลิต และการพัฒนาผลิตภาพแรงงานเพื่อรองรับอุตสาหกรรมและภาคบริการเป้าหมาย
– การเพิ่มผลิตภาพการผลิตผ่านการใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยีขั้นสูง เพื่อนำไปสู่การผลิตสินค้าไทยที่มีศักยภาพและมีมูลค่าสูงขึ้นที่สามารถหลีกเลี่ยงการแข่งขันด้านราคาและมีมาตรฐานตรงตามความต้องการของตลาดและข้อกำหนดของประเทศผู้นำเข้า ควบคู่ไปกับการพัฒนาอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับการผลิตวัตถุดิบและสินค้าขั้นกลางในประเทศให้มีความพร้อมและสามารถเชื่อมโยงกับห่วงโซ่การผลิตโลกมากขึ้น
3.เร่งรัดการเบิกจ่ายงบประมาณเพื่อให้เม็ดเงินรายจ่ายภาครัฐเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจโดยเร็ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเบิกจ่ายงบประมาณรายจ่ายลงทุนไม่ให้ต่ำกว่า 75% ของกรอบงบลงทุนรวม โดยมุ่งเน้นการลงทุนในโครงการที่สำคัญ ทั้งโครงการลงทุนขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น โครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญ รวมทั้งโครงการลงทุนด้านการจัดการทรัพยากรน้ำเพื่อวางรากฐานปัจจัยการผลิตและเพิ่มขีดความสามารถในการบริหารจัดการน้ำระดับพื้นที่ให้กระจายไปสู่ชุมชน
4.การสร้างการตระหนักรู้ถึงมาตรการให้ความช่วยเหลือของภาครัฐเพื่อแก้ปัญหาหนี้สินภาคครัวเรือนและภาคธุรกิจ เพื่อให้ลูกหนี้โดยเฉพาะลูกหนี้รายย่อยและธุรกิจ SMEs ได้รับความช่วยเหลือในการปรับโครงสร้างหนี้และสามารถชำระหนี้ได้อย่างเหมาะสมตามศักยภาพ
5.การขับเคลื่อนภาคการท่องเที่ยวให้ขยายตัวได้อย่างต่อเนื่อง โดยให้ความสำคัญกับการเร่งรัดแก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศ (PM2.5) อย่างจริงจังเพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของนักท่องเที่ยว ควบคู่ไปกับการรักษามาตรฐานความปลอดภัยทั้งชีวิตและทรัพย์สินของนักท่องเที่ยว รวมถึงการเตรียมความพร้อมของปัจจัยแวดล้อมด้านการท่องเที่ยวที่สำคัญ อาทิ สนามบิน/เที่ยวบิน กระบวนการตรวจคนเข้าเมือง โครงสร้างพื้นฐานและสิ่งอำนวยความสะดวก รวมทั้งการบริหารจัดการพื้นที่และสิ่งแวดล้อม
ทั้งนี้ เศรษฐกิจไทยปี 2568 สภาพัฒน์ประมาณการที่ร้อยละ 2.8 ใกล้เคียงกับสำนักวิจัยเศรษฐกิจที่ประมาณการไว้ก่อนหน้านี้ โดยส่วนใหญ่มองว่าเศรษฐกิจไทยปีนี้จะเติบโตได้ไม่ถึงร้อยละ 3 ยกเว้นกระทรวงการคลังที่ประมาณการไว้ที่ร้อยละ 3
ขณะที่ รัฐบาลตั้งเป้ากระตุ้นเศรษฐกิจปีนี้ให้ขยายตัวได้ถึงร้อยละ 3-3.5 จะเป็นไปได้หรือไม่นั้น เลขาธิการสภาพัฒน์ระบุว่า คงต้องดูองค์ประกอบอื่น ๆ ว่าจะทำให้เติบโตได้ขนาดไหน โดยมาตรการที่รัฐบาลจะออกมาต้องพิจารณาช่วงเวลาที่เหมาะสม และภายใต้งบประมาณที่มีอยู่ ซึ่งรัฐบาลมีงบประมาณที่จะใช้ดำเนินการได้จำนวน 157,000 ล้านบาท
" เป้าหมายของทางรัฐบาลที่จะทำให้เกิดการเติบโตร้อยละ 3- 3.5 ในปีนี้เป็นจุดหมายที่คงต้องใช้มาตรการต่างๆเข้ามาเสริมทั้งในเรื่องการลงทุนภาคเอกชน การกระตุ้นภาคบริโภคต่างๆ ที่สำคัญคือการกระจายเม็ดเงินลงทุนของภาครัฐเข้าสู่ระบบโดยการทำแพ็คเกจการลงทุนเพิ่มเติม ซึ่งส่วนตัวเห็นว่าควรเป็นการลงทุนในเรื่องการบริหารจัดการน้ำ ซึ่งจะส่งผลให้เกิดการสร้างปัจจัยการผลิตในระยะยาวในชุมชนต่างๆ ถ้าเพิ่มเม็ดเงินลงทุนก็อาจจะทำให้เป้าหมายของรัฐบาลประสบความสำเร็จได้ เพียงแต่ว่าเรายังต้องคิดตามปัจจับเสี่ยงในเรื่องการค้าที่เกิดขึ้นอย่างใกล้ชิด" เลขาธิการ สภาพัฒน์กล่าว
ที่มาข้อมูล : สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.)
ที่มารูปภาพ : TNN