สรุปข่าว
ข้อมูลจากบริษัทที่ปรึกษาแบรนด์ระดับไฮเอนด์ RTG Group Asia ว่า ประเทศไทยมีการใช้จ่ายสินค้าแบรนด์เนม ซึ่งเป็นหนึ่งในกลุ่มฟุ่มเฟือยที่สูงขึ้น และมีมูลค่าแซงสิงคโปร์ ที่เป็นศูนย์กลางด้านธุรกิจและการช็อปปิงของภูมิภาคอาเซียนแล้ว
ไทยมีมูลค่าการตลาดสินค้าแบรนด์เนม 4,640 ล้านเหรียญสหรัฐ และคาดว่าในช่วงปี 2567-2571 จะขยายตัวได้ร้อยละ 5.62
ส่วนที่สิงคโปร์ มูลค่าตลาด 4,060 ล้านเหรียญสหรัฐ และคาดว่าจะมีอัตราการเติบโตต่อปีที่ช้าลงที่ประมาณร้อยละ 3.49 ระหว่างปี 2567-2571
RTG Group Asia ให้ข้อสังเกตว่า ตลาดแบรนด์เนมในไทยและสิงคโปร์ได้รับการกระตุ้นต่างกัน โดยไทยมีตลาดแฟชั่นแบรนด์หรูที่ขนาดใหญ่กว่า และสามารถสร้างรายได้สำคัญจากภาคธุรกิจนี้ได้มากกว่า ส่วนที่สิงคโปร์ จะได้รับแรงหนุนในหมวดนาฬิกาและเครื่องประดับ
นอกจากนี้ การค้าปลีกแบรนด์หรูในไทยขับเคลื่อนโดยคนในท้องถิ่น ในขณะที่สิงคโปร์ขับเคลื่อนโดยการบริโภคจากนักท่องเที่ยว
ถ้าดูพบว่าคนไทยรุ่นใหม่นิยมใช้แบรนด์เนมมากขึ้น ส่วนหนึ่งมาจากกระแสของดารา คนดัง หรืออินฟูฯ ที่ใช้ชีวิตอย่างหรูหรา ช้อปปิงแบรนด์เนมเป็นว่าเล่น
นอกจากนี้แบรนด์เนมต่างชาตินิยม ใช้ดารา นักร้องไทยเป็นแบรนด์แอมบาสเดอร์ ตรงนี้มีส่วนช่วยกระตุ้นกำลังซื้อของแฟนคลับ หรือด้อมชาวไทยได้เป็นอย่างมาก
วัยรุ่นไทย ยังได้รับอิทธิพลการช้อปแบรนด์เนม จากกลุ่มผู้บริโภคที่รีวิวสินค้าบนแพลตฟอร์มออนไลน์ เช่น TikTok และพบว่าหลายคนต้องการซื้อแบรนด์เนมเพื่อเป็นรางวัลให้ตัวเอง และบางคนมองว่าการซื้อแบรนด์เนมเป็นการการลงทุนระยะยาว ซึ่งทางแบรนด์เองมีการปรับช่องทางการขายมาสู่ออนไลน์มากขึ้น เพื่อให้เข้าถึงกลุ่มคนรุ่นใหม่มากขึ้น
ข้อมูลขางต้นสอดคล้องกับ ข้อมูลของ The 1 Insight ที่รายงานผลวิเคราะห์พฤติกรรมการใช้จ่ายกลุ่มสินค้าหรู หรือ Luxury ในช่วงครึ่งแรกของปี 2567 พบว่า แม้ในสภาพเศรษฐกิจผันผวน “แต่ภาพรวมกำลังซื้อตลาด Luxury Retail ของไทยสามารถเติบโตสูงถึง 4 เท่า” เมื่อเทียบกับปีก่อนโควิด
“การใช้จ่ายสินค้ากลุ่มบิวตี้หรือกลุ่มความสวยความงาม เติบโตสูงกว่าสินค้าแฟชั่นร้อยละ 10 ซึ่งตรงกับทฤษฎี "Lipstick Effect" ที่ใช้อธิบายปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นทั่วโลกในช่วงที่กำลังซื้อภาพรวมลดลง แต่ยอดการใช้จ่ายสินค้าบิวตี้กลับเติบโตสวนทาง เนื่องจากเป็นสินค้าที่ช่วยด้านจิตใจได้ไม่แพ้สินค้าแฟชั่นแบรนด์หรู แต่ซื้อได้ในในงบประมาณที่เข้าถึงได้
-สินค้าที่ยอดขายเติบโตสูงสุดในหมวดบิวตี้ ได้แก่ ลิปสติก /พาเลตต์แต่งหน้า /น้ำหอม
-สินค้าหมวดแฟชั่น ยอดขายขายเติบโตสูงสุด ได้แก่ กระเป๋าถือ , แอ็กเซสเซอรี่ ,รองเท้า
นอกจากนี้ ยังพบว่าคนแต่ละช่วงวัยมีการใช้จ่ายกับสินค้าแต่ละประเภทในสัดส่วนที่ต่างกันอย่างมีนัยสำคัญ
ยอดซื้อกลุ่มสินค้าสูงสุดของแต่ละเจนเนอเรชั่น เรียงตามลำดับ
1.กลุ่ม Gen Z ใช้จ่ายกับเครื่องสำอางน้ำหอม และสกินแคร์
2.กลุ่ม Gen Y ใช้จ่ายกับสินค้าแฟชั่น สกินแคร์ และน้ำหอม
3.กลุ่ม Gen X ใช้จ่ายกับสกินแคร์และสินค้าแฟชั่น เมกอัพ และน้ำหอม
4.กลุ่ม Baby Boomers ใช้จ่ายกับสกินแคร์ สินค้าแฟชั่น และเมกอัพ
ถ้าไปดูการใช้จ่ายพบว่า เจน Z ยอดขายลักซูรีเติบโตสูงสุด แต่เจน Y ยังเป็นกำลังซื้อหลัก ภักดีต่อแบรนด์มากกว่า
การที่กลุ่ม Gen Z มีการใช้จ่ายในกลุ่มสินค้า Luxury เติบโตสูงสุดจากทุกช่วงวัย เป็นผลให้แบรนด์ระดับโลกที่เล็งเห็นโอกาสเริ่มดำเนินกลยุทธ์ในการดึงดูดกลุ่ม Gen Z มากขึ้นในช่วง 2-3 ปีให้หลังนี้ อาทิ การใช้ดาราและอินฟลูเอนเซอร์ที่กลุ่ม Gen Z ติดตาม รวมถึงการสร้างประสบการณ์ใหม่ ๆ ให้กับผู้ชมผ่านการเล่าเรื่องราว ที่เรียกว่า Storytelling ของแบรนด์ต่างๆ ที่เน้นการแสดงตัวตนที่แท้จริง และสร้างมุมมองต่อความยั่งยืนหรือ sustainability ซึ่งเป็นเรื่องหลักที่กลุ่มช่วงวัยดังกล่าวให้ความสำคัญ
ส่วนผู้ซื้อในกลุ่มอื่น ๆ ยังไม่ทอดทิ้ง เนื่องจากกำลังซื้อส่วนใหญ่ยังอยู่ที่ Gen Y, Gen X และ Baby Boomer โดยทั้ง 3 ช่วงวัยนั้นถือว่าเป็นลูกค้ากลุ่มสำคัญของแบรนด์เนม นอกจากจะมีสัดส่วนการใช้จ่ายสูงแล้ว โดยเฉพาะในกลุ่ม Gen Y พบว่าคนกลุ่มนี้มีความภักดีต่อแบรนด์ (Brand Loyalty) สูงกว่ากลุ่ม Gen Z ที่เปิดกว้างมากกว่าและพร้อมเปลี่ยนแบรนด์ที่ชื่นชอบตลอดเวลา
ในส่วนของช่องทางการใช้จ่าย นอกจากช่องทางออนไลน์ที่เติบโตขึ้นเรื่อยๆ ไม่ว่าจะเป็น E-Commerce หรือ Social Commerce ช่องทางหน้าร้านก็ยังคงมีความสำคัญอย่างมาก โดยเฉพาะในกลุ่ม Gen X และ Baby Boomer ที่นิยมการใช้จ่ายที่หน้าร้านมากกว่า
มีผลสำรวจจาก CRC VoiceShare ในเดือนพฤษภาคม-มิถุนายน 2567 ระบุว่า ร้อยละ 50 ของผู้ตอบแบบสอบถาม ซื้อสินค้าในหมวดแฟชั่นและบิวตี้อย่างน้อย 1 รายการในช่วงเวลา 1 เดือน และนักช็อปสายลักซูรีส่วนใหญ่ยังคงนิยมใช้จ่ายที่หน้าร้าน เนื่องจากสามารถมอบ Customer Experience ที่สะดวกสบายและมอบความรู้สึกพิเศษให้ได้มากกว่า
ที่มาข้อมูล : -