เชียงใหม่ล้ำ! มุ่งเป็นศูนย์กลางค้าออนไลน์ข้ามแดน ตอนที่ 1 ค้าออนไลน์ข้ามแดน "โอกาส" หรือ "ความเสี่ยง" ?


สรุปข่าว
เชียงใหม่ล้ำ! มุ่งเป็นศูนย์กลางค้าออนไลน์ข้ามแดน
ตอนที่ 1 ค้าออนไลน์ข้ามแดน "โอกาส" หรือ "ความเสี่ยง" ?
รวบรวมข้อมูล แปล และเรียบเรียง
โดย ธัญวรัตน์ ถาวรโชติวงศ์
การขายสินค้าออนไลน์ข้ามแดน เป็นโอกาสหรือความเสี่ยง
การค้าออนไลน์ข้ามพรมแดน Cross Border E-Commerce หรือ CBEC ก็คือการขายสินค้าแบบส่งออกไปยังต่างประเทศ แต่ไม่มีพิธีการทางศุลกากรที่ซับซ้อนแบบการส่งออกปกติ และส่วนใหญ่เป็นการค้าขาย ของผู้ผลิต หรือร้านค้า กับลูกค้าที่อยู่ในต่างประเทศโดยตรง โดยอาศัย Platform Online เป็นตัวกลางในการซื้อ-ขาย แพล็ตฟอร์มที่เป็นที่รู้จักกันมาก เช่น Amazon และ Alibaba การสั่งซื้อสินค้าไม่จำเป็นต้องซื้อเป็นจำนวนมากเหมือนการส่งออกปกติ สามารถซื้อรายชิ้น และสามารถจัดส่งสินค้าทางไปรษณีย์
การค้าออนไลน์ข้ามพรมแดน จึงนับเป็นโอกาส เพราะทำให้สินค้าของเราเข้าถึงลูกค้าในต่างประเทศได้โดยตรง และมีอัตราภาษีที่ต่ำกว่าการนำเข้า-ส่งออกปกติ และตลาดต่างประเทศที่ซื้อสินค้าและบริการออนไลน์จากผู้ค้าในไทยและอาเซียนอยู่ไม่ไกล
ศูนย์การพาณิชย์นานาชาติ หรือ (ITC) ซึ่งมีสำนักงานใน กรุง เจนีวา จัดทำงานวิจัยร่วมกับ เครือเว็บไซต์ค้าออนไลน์ยักษ์ใหญ่ อย่างอาลีบาบา และ มหาวิทยาลัยเจ้อเจียง งานวิจัยนี้มีชื่อว่า RCEP and Cross-border E-commerce Opportunities for ASEAN Countries ซึ่งเผยแพร่เมื่อเดือน พฤศจิกายน ปี 2022 (2565)
งานวิจัยนี้เผยว่า ตลาดการค้าออนไลน์ข้ามพรมแดนที่ดีที่สุดสำหรับคนอาเซียน คือ ตลาดกลุ่มประเทศ RCEP ซึ่งประกอบด้วย 10 ชาติอาเซียน และ ประเทศคู่เจรจา อย่าง นิวซีแลนด์ ออสเตรเลีย เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น และ รวมถึงจีน
โดยในปี 2565 กลุ่มประเทศ RCEP นี้
- มีประชากรกว่า 2,270 ล้านคน
- มูลค่า GDP อยู่ที่ 26 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือราว 962 ล้านล้านบาท
ที่สำคัญการค้าออนไลน์ข้ามพรมแดนในกลุ่มประเทศ RCEP นี้ มีขนาดคิดเป็นร้อยละ 53.3 ของการค้าออนไลน์โลก และกำลังเติบโตอย่างรวดเร็ว
มูลค่าการค้าออนไลน์ข้ามพรมแดนของตลาด RCEP
- ในปี 2020 (2563) สูงถึง 285,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือราว 10.54 ล้านล้านบาท
- จากเดิมในปี 2016 (2559) มีมูลค่า 86,200 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือราว 3.18 ล้านล้านบาท
- คิดเป็นอัตราเติบโตต่อปีถึงร้อยละ 34.8
ในกลุ่มประเทศ RCEP ทั้งหมด จีนเป็นตลาดการค้าออนไลน์ที่ใหญ่ที่สุด และจีนมีขนาดตลาดการค้าออนไลน์ที่ใหญ่เป็นที่ 1 ของโลก ตั้งแต่ปี 2564
กรมการค้าต่างประเทศ แห่งกระทรวงพาณิชย์สหรัฐฯ เผยแพร่ข้อมูลว่า โดยภาพรวมแล้วการค้าออนไลน์จีนเข้าถึงผู้ซื้อกว่า 710 ล้านคนทั่วโลก และคาดการณ์ว่า ในปี 2567 นี้ จะสูงถึง 3.56 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ หรือราว 131.7 ล้านล้านบาท เฉพาะในส่วนการค้าออนไลน์ข้ามพรมแดน กระทรวงพาณิชย์จีนคาดการณ์ด้วยว่าในปีนี้ มูลค่าการนำเข้า-ส่งออกด้วยวิธีนี้ อาจสูงถึง 2.95 ล้านล้านหยวน ขณะที่ในปี 2566 มีมูลค่าสูงถึง 2.38 ล้านล้านหยวน หรือราว 12.25 ล้านล้านบาท เติบโตเฉลี่ยร้อยละ 15.6
เจาะตลาดค้าออนไลน์ข้ามพรมแดนจีน ไม่ง่าย
อย่างไรก็ตามสัดส่วนการนำเข้าและการส่งออกผ่านการค้าออนไลน์ข้ามพรมแดนของจีนค่อนข้างแตกต่างกันมาก
เราเห็นได้จากตัวเลขในปี 2565 กรมศุลกากรจีนเผยตัวเลขการค้าออนไลน์ข้ามพรมแดน ว่ามีมูลค่ารวม 2.11 ล้านล้านหยวน หรือราว 10.8 ล้านล้านบาท ในจำนวนนี้แบ่งเป็น
- การส่งออก 1.55 ล้านล้านหยวน หรือ 7.936 ล้านล้านบาท
- ขณะที่การนำเข้าอยู่ที่ 560,000 ล้านหยวน หรือ 2.86 ล้านล้านบาท
สัดส่วนที่ต่างกันมากนี้ทำให้เกิดคำถามว่า ประเทศอาเซียนที่รับสินค้าจีนมาจำหน่ายออนไลน์เป็นจำนวนมาก จะสามารถพลิกกลับมาขายสินค้าของตัวเอง และทวนกระแสเข้าไปขายในตลาดจีนได้จริงหรือ
MC Kincy & company ให้ความเห็นไว้ตั้งแต่ปี 2565 ว่าเป็นไปได้ แต่ยากเพราะตั้งแต่ช่วงเริ่มต้น พ่อค้าแม่ค้าในแพล็ตฟอร์มออนไลน์พึ่งพาสินค้าจีนเป็นหลัก การพัฒนาทวนกระแส ให้พึ่งพาสินค้าจีนน้อยลงและขายสินค้าอาเซียนให้มากขึ้นเป็นเรื่องลำบาก
อย่างไรก็ตาม การเคลื่อนย้ายห่วงโซ่อุปทานการผลิตเข้ามายังเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จะผลักดันให้เจ้าของสินค้าแสวงหาวิธีขยายตลาดทวนกระแสขึ้นไปค้าขายเข้าในตลาดที่มีมูลค่าใหญ่ขึ้น ซึ่ง MC Kincy & company อาจจะหมายรวมถึงการค้าออนไลน์ข้ามพรมแดนเข้าไปในจีนด้วย โดยมีปัจจัยเสริมจากการที่ลูกค้าเปิดกว้างกว่าเดิม เปลี่ยนพฤติกรรมมาซื้อสินค้านานาชนิดผ่านช่องทางออนไลน์ และจ่ายเงินด้วยระบบดิจิทัล
อย่างไรก็ตาม การค้าออนไลน์ คือ อนาคตของธุรกิจ
อาลีบาบา และ พันธมิตรผู้จัดทำงานวิจัย RCEP and Cross-border E-commerce Opportunities for ASEAN Countries มองว่าการค้าออนไลน์เป็นโอกาสในการขายสินค้าไปยังตลาดที่กว้างขึ้น และสมควรที่จะส่งเสริมให้ธุรกิจขนาดกลางและขนาดเล็ก (MSMES) และธุรกิจขนาดย่อม (Micro SMES) มีโอกาสทำธุรกิจและเติบโตโดยใช้ช่องทางนี้
ปัจจัยหนึ่งอาจมาจาก สินค้าส่งออกปกติแตกต่างจากสินค้าส่งออกผ่านการค้าออนไลน์ข้ามพรมแดน
ข้อมูลจาก Global Industry Classification Standard (GICS) พบว่าการส่งออกปกติ ส่วนมากเป็นสินค้าในกลุ่มพลังงาน วัตถุดิบ และสินค้าอุตสาหกรรมที่มีการผลิตจำนวนมาก
ขณะที่การค้าออนไลน์ข้ามแดน เป็นสินค้าในชีวิตประจำวัน เช่น สินค้าปัจจัยสี่ (เช่น เครื่องดื่ม อาหาร เสื้อผ้า ของใช้ในบ้าน) สินค้าฟุ่มเฟือย และ สินค้าสุขภาพที่มักจะผลิตโดยธุรกิจขนาดกลาง ไปถึงขนาดย่อม และจากการสำรวจของผู้วิจัยพบว่าสินค้าจากอาเซียน เป็นสินค้าที่มีความต้องการสูงในตลาดค้าออนไลน์ข้ามพรมแดนโดยเฉพาะภายในกลุ่มประเทศ RCEP
และเมื่อมองไปยังจีนในปี 2564 สินค้าที่จีนนำเข้าจำนวนมากผ่านวิธีนี้ เป็นสินค้าที่อาเซียนส่งออก ทั้งในสินค้าหมวด บ้านและสวน เสื้อผ้าเครื่องแต่งกาย เครื่องใช้ไฟฟ้าในบ้าน รถและจักรยานยนต์ ผลิตภัณฑ์ความงาม ผลิตภัณฑ์ดูแลสุขภาพ และรวมไปถึง เฟอร์นิเจอร์
นอกจากนี้ ในปี 2564 ยังพบว่า 10 ประเทศแรกที่จีนนำเข้าสินค้าแบบการค้าออนไลน์ข้ามพรมแดน มี 2 ประเทศ มาจากอาเซียน คือ เวียดนาม ในอันดับ ที่ 2 และ ไทย เป็นอันดับที่ 5
ข้อมูลทั้งหมดทำให้เราเห็นว่า สินค้าไทยเป็นที่ต้องการในตลาดค้าออนไลน์ข้ามพรมแดนของจีน และดังนั้นเมื่อมองย้อนกลับมาที่เชียงใหม่ และพิจารณาเป็นรายหมวดสินค้าที่ชาวจีนต้องการซื้อผ่านช่องทางนี้พบว่า สินค้าหมวด บ้านและสวน เสื้อผ้าเครื่องแต่งกาย ผลิตภัณฑ์ความงามและดูแลสุขภาพ รวมไปถึง เฟอร์นิเจอร์ เป็นสินค้าที่มีการผลิตในเชียงใหม่ ดังนั้น สินค้าในเชียงใหม่จึงมีโอกาศเจาะตลาดค้าออนไลน์ในจีน
#เชียงใหม่ #Ecommerce #ค้าออนไลน์ข้ามพรมแดน #CBEC #crossborderecommerce #จีน
#โอกาส #ความเสี่ยง #RCEP #สินค้าตกแต่งบ้าน #Alibaba #MCKincy&company #อาเซียน #เสื้อผ้าเครื่องแต่งกาย #ผลิตภัณฑ์ความงาม #ผลิตภัณฑ์ดูแลสุขภาพ #เฟอร์นิเจอร์
รวบรวมข้อมูล แปล และเรียบเรียง
โดย ธัญวรัตน์ ถาวรโชติวงศ์
ที่มาข้อมูล : -