

สรุปข่าว
นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เปิดเผยว่า สศช.ปรับลดประมาณการจีดีพีใหม่ โดยคาดการณ์ว่าขยายตัวอยู่ที่ 0.7-1.2% จากเดิมคาดการณ์จีดีพีโต 1.5-2.5% เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ยังคงมีความรุนแรงขึ้นต่อเนื่อง
โดยมองว่าในเดือนก.ย. ผู้ติดเชื้อเริ่มลดลงหลังจากที่เดือน ส.ค.มีผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นสูงสุด และเริ่มมีการผ่อนคลายกิจกรรมทางเศรษฐกิจได้ในไตรมาสสุดท้ายของปี ซึ่งเห็นว่าต้องควบคุมโควิดไม่ให้เกิดการระบาดในพื้นที่ฐานการผลิตและการท่องเที่ยว และในต่างประเทศต้องไม่ระบาดเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะเศรษฐกิจของประเทศหลักจนใช้มาตรการล็อกดาวน์ ไม่เช่นนั้นจะกระทบต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย และที่สำคัญต้องกระจายฉีดวัคซีนให้ได้ 85ล้านโดสในปีนี้ อย่างไรก็ตาม หากไม่สามารถควบคุมได้ตามกรณีฐานอาจเห็นจีดีพีทั้งปีขยายตัวต่ำกว่า 0.7%
สำหรับการบริโภคภาคเอกชนขยายตัว 1.1% การบริโภคภาครัฐขยายตัว 4.3% การลงทุนภาคเอกชนขยายตัว 4.7% การลงทุนภาครัฐลดลงเหลือ 8.7% ขณะที่การส่งออกขยายตัว 16.3 %
สำหรับจีดีพีไตรมาส 2 เติบโต 7.5% เนื่องจากได้รับแรงสนับสนุนจากการขยายตัวของการลงทุนรวม 8.1% ปริมาณการส่งออกสินค้าและบริการขยายตัว 27.5% สาขาอุตสาหกรรมขยายตัว 16.8% สาขาขนส่งขยายตัว 11.6%
ทั้งนี้เศรษฐกิจไทยครึ่งปีแรกขยายตัวได้ 2% โดยส่วนใหญ่เป็นการขยายตัวในภาคการส่งออก การให้การบริการด้านอา หาร ขณะที่การท่องเที่ยวยังไม่ฟื้นตัว คาดว่าจะมีนักท่องเที่ยวประมาณ 1.5 แสนคน จากประมาณการเดิม 5 แสนคน
"เศรษฐกิจไทยยังไม่เข้าสู่ภาวะถดถอย แต่มีโมเมนตั้มของบางส่วนของการผลิตและกิจกรรมาทางเศรษฐกิจที่ลดลง ตั้งแต่การระบาดของโควิดที่รุนแรงขึ้นตั้งเดือน เม.ย.ที่ผ่านมา ส่วนการปรับลดจีดีพี 1% อยู่บนสมมติฐานการควบคุมการระบาดของโควิดไตรมาส 3 คาดว่าการเปิดกิจกรรมทางเศรษฐกิจได้ในไตรมาส 4"
สำหรับการขยายตัวในช่วงที่เหลือของปียังมีข้อจำกัดและปัจจัยเสี่ยงสำคัญๆ ประกอบด้วย 1. การแพร่ระบาดระลอกใหม่ของโรคโควิด-19 ที่มีความรุนแรงและยังมีความไม่แน่นอนอยู่สูง
2. ข้อจำกัดด้านฐานะการเงินของภาคครัวเรือนและธุรกิจท่ามกลางการว่างงานที่ยังอยู่ในเกณฑ์สูงและได้รับผลกระทบเพิ่มเติมจากการระบาดระลอกใหม่
3.ภาคการส่งออกและการผลิตภาคอุตสาหกรรมยังมีความเสี่ยงที่จะได้รับผลกระทบจากการระบาดในพื้นที่การผลิต รวมทั้งปัญหาข้อจำกัดในห่วงโซ่การผลิตและโลจิสติกส์ระหว่างประเทศ และ 4. ความเสี่ยงจากความผันผวนของเศรษฐกิจและการเงินโลก
อย่างไรก็ตาม เศรษฐกิจไทยทั้งปียังมีแนวโน้มกลับมาขยายตัวอย่างช้า ๆ โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจและปริมาณการค้าโลก แรงขับเคลื่อนจากการใช้จ่าย ลงทุน และมาตรการเศรษฐกิจของภาครัฐ
การปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่องของรายได้ภาคเกษตร และ ฐานการขยายตัวในช่วงครึ่งหลังของปี 63 ที่ยังอยู่ในระดับต่ำกว่าเกณฑ์ปกติ ทั้งนี้ คาดว่ามูลค่าการส่งออกสินค้าในรูปดอลลาร์ สรอ. จะขยายตัว 16.3 %การอุปโภคบริโภคและการลงทุนภาคเอกชนขยายตัว 1.1 % และ 4.7 % ตามลำดับ และการลงทุนภาครัฐขยายตัว 8.7 % อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ยคาดว่าจะอยู่ในช่วง 1.0 - 1.5 % และดุลบัญชีเดินสะพัดขาดดุล 2 % ของ GDP
ที่มาข้อมูล : -