
นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ ที่ระดับ 34.20 บาท/ดอลลาร์ "อ่อนค่า เล็กน้อย" จากระดับปิดวันที่ผ่านมา ณ ระดับ 34.14 บาท/ดอลลาร์ มองกรอบเงินบาทในช่วง 24 ชั่วโมง คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 34.00-34.40 บาท/ดอลลาร์ (ระวังความผันผวนในช่วงตลาดทยอยรับรู้นโยบายการค้าของสหรัฐฯ)
โดยนับตั้งแต่ช่วงคืนวันที่ผ่านมา เงินบาท (USDTHB) เคลื่อนไหวอ่อนค่าลงบ้าง ในลักษณะ Sideways Up (แกว่งตัวในกรอบ 34.10-34.24 บาทต่อดอลลาร์) ตามจังหวะการแข็งค่าขึ้นของเงินดอลลาร์ หลังผู้เล่นในตลาดต่างยังคงกังวลต่อแนวโน้มการดำเนินนโยบายกีดกันทางการค้าของรัฐบาลสหรัฐฯ “Liberation Day”
นอกจากนี้ เงินดอลลาร์ยังได้แรงหนุนจากการทยอยอ่อนค่าลงของเงินยูโร (EUR) หลังอัตราเงินเฟ้อ CPI ของยูโรโซน ในเดือนมีนาคม ชะลอตัวลงต่อเนื่องสู่ระดับ 2.2% ส่วนอัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน Core CPI ก็ชะลอลงสู่ระดับ 2.4% ทำให้ผู้เล่นในตลาดยังคงมั่นใจว่า ธนาคารกลางยุโรป (ECB) จะสามารถเดินหน้าลดดอกเบี้ยเพิ่มเติมได้อีกราว 2-3 ครั้ง ในปีนี้

สรุปข่าว
อย่างไรก็ดี การแข็งค่าขึ้นของเงินดอลลาร์ ก็ถูกชะลอลง หลังรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ทั้งดัชนี ISM PMI ภาคการผลิตเดือนมีนาคม ที่ปรับตัวลดลงสู่ระดับ 49.0 จุด (ดัชนีต่ำกว่า 50 จุด สะท้อนภาวะหดตัว) และยอดตำแหน่งงานเปิดรับ (Job Openings) เดือนกุมภาพันธ์ ก็ลดลงสู่ระดับราว 7.57 ล้านตำแหน่ง แย่กว่าที่ตลาดคาดไว้ ทำให้ผู้เล่นในตลาดยังคงความกังวลต่อแนวโน้มเศรษฐกิจสหรัฐฯ อยู่
เงินบาทยังถูกกดดันเพิ่มเติมจากการปรับตัวลดลงของราคาทองคำ ซึ่งทำให้ผู้เล่นในตลาดบางส่วนต่างทยอยเข้าซื้อทองคำในจังหวะย่อตัวอยู่ ท่ามกลางความไม่แน่นอนของนโยบายการค้าของสหรัฐฯ
สำหรับในช่วง 24 ชั่วโมงหลังจากนี้ ไฮไลท์สำคัญจะอยู่ที่ การประกาศมาตรการกีดกันทางการค้า อย่าง ภาษีนำเข้าตอบโต้ (Reciprocal Tariff) โดยประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ของสหรัฐฯ ซึ่งจะมีขึ้นในช่วงราว 02.00-03.00 น. ของเช้าวันที่ 3 เมษายน ตามเวลาประเทศไทย ในส่วนของรายงานข้อมูลเศรษฐกิจที่น่าสนใจของสหรัฐฯ นั้น จะอยู่ที่ รายงานยอดการจ้างงานภาคเอกชนโดย ADP เดือนมีนาคม ที่อาจสะท้อนถึงแนวโน้มยอดการจ้างงานนอกภาคเกษตรกรรม (Nonfarm Payrolls) ในวันศุกร์นี้ได้
นอกจากนี้ ผู้เล่นในตลาดจะรอติดตาม รายงานข้อมูลยอดคำสั่งซื้อสินค้าภาคโรงงาน (Factory Orders) และยอดคำสั่งซื้อสินค้าคงทน (Durable Goods Orders) และนอกเหนือจากรายงานข้อมูลดังกล่าว ผู้เล่นในตลาด โดยเฉพาะฝั่งตลาดน้ำมัน จะรอลุ้นรายงานยอดสต็อกน้ำมันคงคลังของสหรัฐฯ โดย EIA ที่อาจส่งผลกระทบต่อทิศทางราคาน้ำมันดิบได้ในระยะสั้น
แนวโน้มของค่าเงินบาท เรายิ่งมั่นใจและเราคงมุมมองเดิมว่า เงินบาทอาจทยอยอ่อนค่าลงได้ หลังเงินบาท (USDTHB) ได้อ่อนค่าทะลุโซนแนวต้าน 34.00 บาทต่อดอลลาร์ ได้อย่างชัดเจน โดยในช่วงนี้ เรามองว่า เงินบาทยังเสี่ยงเผชิญปัจจัยกดดันพอสมควร โดยเฉพาะประเด็นการดำเนินนโยบายกีดกันทางการค้าของสหรัฐฯ ที่ประเทศไทยอาจอยู่ในรายชื่อของประเทศที่จะเผชิญมาตรการภาษีนำเข้าตอบโต้ (Reciprocal Tariff)
นอกจากนี้ บรรดาผู้เล่นในตลาดต่างยิ่งกังวลต่อแนวโน้มเศรษฐกิจไทยมากขึ้น หลังเกิดเหตุการณ์แผ่นดินไหว ดังจะเห็นได้จากการทยอยปรับลดคาดการณ์อัตราการเติบโตเศรษฐกิจของไทยจากบรรดานักวิเคราะห์ หรือการประเมินผลกระทบต่อเศรษฐกิจในระดับ 2-3 หมื่นล้านบาท จากเหตุการณ์ดังกล่าว ซึ่งภาพดังกล่าวยังได้สะท้อนผ่านมุมมองของผู้เล่นในตลาดที่มั่นใจมากขึ้นว่า ธนาคารแห่งประเทศไทยจะสามารถเดินหน้าลดดอกเบี้ยต่อเนื่องได้ในการประชุมเดือนเมษายน หรืออย่างน้อยอาจต้องลดดอกเบี้ยถึง 2 ครั้ง ในปีนี้
ที่มาข้อมูล : IQ
ที่มารูปภาพ : Getty Images

ธัญวรัตน์ น่วมภักดี